นายภาวี โพธิ์ยี่ รักษาการแทนผู้อำนวยการสถาบันส่งเสริมศิลปหัตถกรรมไทย หรือ sacit เผยว่า BCG Model คือการพัฒนาเศรษฐกิจแบบองค์รวมทั้ง 3 มิติ ได้แก่ เศรษฐกิจชีวภาพ (Bio Economy) การใช้วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเข้ามาช่วยเพิ่มมูลค่า, เศรษฐกิจแบบหมุนเวียน (Circular Economy) การใช้ทรัพยากรอย่างคุ้มค่า ลดการสูญเสีย ใส่ใจเรื่องการ Recycle และเศรษฐกิจสีเขียว (Green Economy) หรือการเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม
เพื่อความยั่งยืน ซึ่งเป็นนโยบายในการผลักดันเศรษฐกิจที่สอดคล้องกับปัญหาสิ่งแวดล้อมในปัจจุบัน ซึ่งถือเป็นปัญหาระดับโลกที่ต้องเร่งดำเนินการแก้ไข ไม่ว่าจะเป็นปัญหา ความหลากหลายทางชีวภาพของโลกที่ลดลงจนนำไปสู่ความเสียหายของห่วงโซ่อาหาร ปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ปัญหามลพิษทางอากาศ
และอื่นๆ ซึ่งทำให้หน่วยงาน และองค์กรต่าง ๆ ทั่วโลกต่างร่วมกันจัดตั้งนโยบายเพื่อป้องกัน และเพิ่มมาตราการป้องกันสิ่งแวดล้อมเพื่อให้คนรุ่นต่อไปสามารถอยู่กับสิ่งแวดล้อมที่ดี ด้วยปัจจัยเหล่านี้จึงทำให้พฤติกรรมของผู้บริโภคในยุคปัจจุบันหันมาให้ความสำคัญกับการใส่ใจสุขภาพ
เลือกใช้สินค้าที่ปลอดภัยไร้สารพิษ และคำนึงถึงสิ่งแวดล้อม จนเกิดเป็นเมกะเทรนด์ของโลก ที่ผู้ประกอบการทุกคนต้องปรับตัวให้สามารถตอบรับความต้องการของตลาดโลกจนทำให้สามารถสร้างมูลค่าเพิ่มให้แก่ผลิตภัณฑ์ และเกิดเป็นรายได้อย่างยั่งยืนในอนาคตด้วยปัจจัยดังกล่าว
“แนวคิด BCG Model ที่สอดรับกับวิสัยทัศน์ขององค์กรในการส่งเสริมงานศิลปหัตถกรรมไทยในทุกมิติอย่างยั่งยืน ประกอบด้วย การสร้างความสามารถในการแข่งขัน , การสร้างโอกาสและความเสมอภาคทางสังคม , และการสร้างการเติบโตบนคุณภาพชีวิตที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ผ่านการดำเนินงานของ sacit ภายใต้ยุทธศาสตร์การสืบสานและพัฒนาทักษะมือของช่างหัตถศิลป์ให้คงอยู่ไม่เลือนหายไปตามกาลเวลา”
อย่างไรก็ตามการสร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์ศิลปหัตถกรรมไทยให้มีฟังก์ชันการใช้งานตอบโจทย์ผู้ซื้อมากขึ้น การส่งเสริมและขยายช่องทางการตลาดให้กับงานศิลปหัตถกรรมไทยทั้งในและต่างประเทศ รวมถึงการสื่อสารภูมิปัญญางานศิลปหัตถกรรมไทยไปสู่กลุ่มคนรุ่นใหม่ ให้เกิดภาพจำ เกิดทัศนคติที่ดี รักหวงแหน และภาคภูมิใจในงานศิลปหัตถกรรมไทยที่ทันสมัยและสามารถใช้งานในชีวิตประจำวันในยุคดิจิทัลได้
ทั้งนี้งานศิลปหัตถกรรมไทยนั้นเป็นภูมิปัญญาที่ใช้วัตถุดิบจากธรรมชาติที่หาได้จากท้องถิ่นอยู่แล้ว ซึ่งเป็นสิ่งที่ตอบโจทย์ความต้องการของผู้บริโภคในปัจจุบัน sacit จึงได้ส่งเสริมและผลักดันให้ผู้สร้างสรรค์งานศิลปหัตถกรรมหันมาพัฒนาต่อยอดด้วยการสร้างสรรค์ชิ้นงานผสานเข้ากับเทรนด์การรักษ์โลก เช่น การพัฒนาระบบการบำบัดน้ำเสียให้เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม รวมไปถึงการใช้วัตถุดิบให้เต็มวงจรชีวิตและสามารถใช้ทรัพยากรได้อย่างคุ้มค่า เพื่อนำไปสู่การเพิ่มมูลค่าสินค้า สร้างงานหัตถศิลป์ที่มีคุณภาพ ผลิตอย่างใส่ใจไม่ทำลายสิ่งแวดล้อม มีเอกลักษณ์ ไม่ตามกระแส ใช้งานได้คุ้มค่า ลดปริมาณขยะ เป็นการบริหารจัดการภายในชุมชนให้เกิดรายได้ที่มั่นคงและยั่งยืนต่อไป
ด้านครูอุไร สัจจะไพบูลย์ ครูช่างศิลปหัตถกรรม ปี 2554 ของ sacit เผยถึงการต่อยอดงานผ้าทอย้อมสีธรรมชาติ ที่นำแนวคิด BCG Model มาใช้ในการสร้างสรรค์งานผ้าทอ การใช้เส้นใยธรรมชาติที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม และต่อยอดเรื่องการประยุกต์ใช้วัสดุเศษผ้าที่เหลือทิ้งจากกระบวนการผลิต
จนพัฒนาเกิดมาเป็นสินค้าประเภท Circular Design ซึ่งเป็นการผสานนวัตกรรมการผลิตเข้ากับภูมิปัญญาพื้นบ้านอย่างเป็นรูปธรรมอีกด้วย
ในขณะที่ครูทิวารุ่ง กำหนดแน่ ครูช่างศิลปหัตถกรรม ปี 2555 ของ sacit กล่าวถึง เมื่องานหัตถศิลป์ผนวกเข้ากับ BCG Model จะสามารถสร้างวัฏจักรงานศิลปหัตถกรรมขึ้นมาในรูปแบบที่สามารถสร้างความยั่งยืนได้ครบในทุกมิติ ไม่ว่าจะเป็นการสืบสานงานศิลปหัตถกรรมไทยให้อยู่คู่กับคนไทยไปยังคนรุ่นต่อไป การสร้างความยั่งยืนของทรัพยากรและความหลากหลายทางชีวภาพ พร้อมพัฒนาเศรษฐกิจและยกระดับอุตสาหกรรมให้สามารถแข่งขันได้อย่างทัดเทียมกับตลาดสากล รวมไปถึงสามารถตอบสนองต่อกระแสการเปลี่ยนแปลงของโลกได้อย่างมีประสิทธิภาพและนำไปสู่การสร้างรายได้ที่ยั่งยืนให้แก่ชุมชนและผู้สร้างสรรค์งานศิลปหัตถกรรมไทย