นายดอน ปรมัตถ์วินัย รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ เปิดเผยกรณีการเชิญรัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียนร่วมประชุมอย่างไม่เป็นทางการ เพื่อหารือเกี่ยวกับแผนสันติภาพเมียนมา เมื่อวันที่ 18-19 มิถุนายน ที่ผ่านมา โดยเฉพาะการวิพากษ์วิจารณ์ถึงความเหมาะสมของการจัดประชุมว่าควรรอให้มีรัฐบาลใหม่ก่อนหรือไม่นั้น ว่า ขอถามกลับว่า ผลประโยชน์ประเทศไทยรอได้หรือ
“ผลประโยชน์ประเทศไทย ถ้าเรามีโอกาสช่วยดูแลได้เร็วที่สุด ได้ไวที่สุด ก็ต้องพยายามทำ และอีกประเด็นคือเรื่องนี้ไม่ใช่เรื่องใหม่ เพราะเราเคยประชุมแบบนี้มาแล้ว 2 ครั้ง แต่ยังไม่เรียบร้อยยังอยู่ในกระบวนการจึงต้องทำต่อเนื่อง” นายดอน ระบุ
ส่วนการส่งผ่านไปยังรัฐบาลใหม่นั้น ล่าสุดกกต.เพิ่งจะรับรองผลการเลือกตั้ง ส.ส. แต่การดำเนินการทั้งหมดของกระทรวงการต่างประเทศ ในฐานะที่ทำงานให้กับประเทศชาติ และประชาชน ก็ต้องทำ และที่ผ่านมาก็มีการถามกันว่าทำเรื่องนี้แล้วจะเหนื่อยไปหรือไม่ โดยส่วนตัวยอมรับว่า แม้จะเหนื่อยแต่เราต้องดูแลผลประโยชน์ประเทศ
ทั้งนี้ยืนยันว่า ในการหารือไม่ได้มีการลงนามในเรื่องใด ๆ เพียงแต่พูดคุยให้รับรู้พัฒนาการด้านต่าง ๆ เพื่อจะทำมาสู่การตัดสินใจภายหลังเท่านั้น เพราะตามธรรมชาติของการหารืออย่างไม่เป็นทางการไม่ได้หมายความว่าจะต้องทำตามความตกลง
นายดอน กล่าวว่า ผลของการหารือคงไม่สามารถเปิดเผยได้ เพราะมีข้อตกลงกันในระหว่างการประชุมว่าเปิดเผยสาระสำคัญของการประชุมไม่ได้ แต่ให้รับรู้กันว่า มีเนื้อหาที่เป็นประโยชน์
“เบื้องต้นทุกฝ่ายก็อยากหาทางออกในเรื่องเมียนมา โดยในช่วง 2 ปีก่อน เขาก็ออกประกาศว่าจะจัดการเลือกตั้งเพื่อหาทางออก ซึ่งอาเซียนเองยังไม่ได้เคยคิดถึงเรื่องนี้เลย ซึ่งในการประชุมผู้เข้าร่วมอยากให้ฝ่ายไทยจัดประชุมแบบนี้ขึ้นอีก” นายดอน ระบุ
นายดอน ยอมรับว่า ที่ผ่านมาในการประชุมผู้นำอาเซียน เมื่อปี 2565 ที่ประเทศกัมพูชา เป็นเจ้าภาพ ได้ออกแถลงการณ์ ขอให้ทุกฝ่ายร่วมกันหาทางทำให้การแก้ปัญหาเมียนมาให้ลุล่วงให้ได้ในโอกาสต่าง ๆ และหาวิธีการทำเรื่องนี้ให้สำเร็จ ซึ่งวิธีการหารือไม่เป็นทางการที่ผ่านมาก็เป็นวิธีหนึ่งที่ช่วยทำให้ปัญหาลุล่วง โดยประเทศไทยก็เคยจัดประชุมแบบนี้มาแล้ว 2 ครั้ง และถือว่าได้ประโยชน์
รองนายกฯ ยืนยันว่า การดำเนินการเรื่องต่าง ๆ ขอให้มั่นใจว่า ภาครัฐดูแลผลประโยชน์ของประเทศไทย และผลประโยชน์ของคนไทยสำคัญที่สุด กับการดำเนินการของรัฐบาล ไม่ใช่แค่การเดินตามอาเซียนอย่างเดียว เพราะประเทศไทยมีชายแดนติดกับเมียนมา กว่า 2,000 กิโลเมตร ขณะที่ประเทศอาเซียนอื่น ไม่ได้มีชายแดนที่ติดยาวแบบไทยจึงไม่ได้รับความเดือดร้อน ไม่รู้สึกว่าต้องรีบหาทางออกเรื่องเมียนมาที่เป็นปัญหายืดเยื้อ
แต่เรื่องนี้ส่งผลถึงประเทศไทย และคนไทย รวมไปถึงการค้าชายแดน นักธุรกิจ และปัญหากลุ่มสแกมเมอร์ ที่หลอกลวงคนจากหลายประเทศและคนไทย ข้ามไปทำงานผิดกฎหมาย เช่นเดียวกับปัญหาค้ายาเสพติด ของผิดกฎหมาย จึงอยากให้ทุกคนมองประเด็นเหล่านี้ด้วยว่า ฝ่ายไทยพยายามหาทุกวิถีทางมาดำเนินการโดยยึดผลประโยชน์ของประเทศเป็นหลัก
อย่างไรก็ตามในการหารือเรื่องดังกล่าวจะต้องรวบรวมเสนอให้รัฐบาลใหม่หรือไม่นั้น ยอมรับว่า ได้มอบหมายให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องรับไปดำเนินการต่อในเนื้อหาด้านต่าง ๆ เพราะเรื่องนี้เป็นการทำเพื่อผลประโยชน์ของประเทศ