วันนี้ (26 มิถุนายน 2566) ดร.กิตติ สัจจาวัฒนา ผู้อำนวยการ หน่วยบริหารและจัดการทุนด้านวิจัยระดับพื้นที่ (บพท.) เปิดเผยในงานสัมมนาพหุภาคี “สู้ชนะความจน : บนฐานพลังความรู้ พลังภาคี” โดยกล่าวถึงแนวทางในการแก้ไขปัญหาความยากจนของประเทศไทยว่า ขณะนี้ บพท. ได้ประสานไปยังผู้ว่าราชการจังหวัดที่มีจำนวนคนยากจนสูงจำนวน 7 จังหวัด คือ จังหวัดลำปาง กาฬสินธุ์ มุกดาหาร ร้อยเอ็ด พัทลุง ปัตตานี และยะลา เป็นจังหวัดนำร่องจัดทำแซนด์บ็อกซ์ (Sandbox) เพื่อแก้ไขปัญหาความยากจนให้เสร็จสิ้นภายในปี 2570
สำหรับการแก้ปัญหาความยากจนในจังหวัดนำร่องนั้น บพท. ได้มีการคัดเฉพาะมาจาก 20 จังหวัด ที่มีจำนวนคนจนสูงที่สุด ประกอบไปด้วย แม่ฮ่องสอน ลำปาง พิษณุโลก เลย สกลนคร มุกดาหาร ศรีสะเกษ นครราชสีมา อำนาจเจริญ อุบลราชธานี ร้อยเอ็ด กาฬสินธุ์ ยโสธร บุรีรัมย์ สุรินทร์ ชัยนาท พัทลุง ยะลา ปัตตานี และนราธิวาส
โดยที่ผ่านมา บพท. ได้ร่วมมือกับหน่วยงานต่าง ๆ ในพื้นที่เข้าไปจัดทำแนวทางการแก้ไขความยากจนไว้แล้ว ผ่านกลไกการพัฒนาพื้นที่ ซึ่งมีมหาวิทยาลัยเพื่อการพัฒนาพื้นที่รับบทบาทสำคัญในการขับเคลื่อนการแก้ไขปัญหาเป็นหลัก
ทั้งนี้การดำเนินการดังกล่าว มีเป้าหมายยกระดับครัวเรือนยากจนในระดับ 20% จากระดับล่างสุดของประเทศสามารถเข้าถึงบริการ และได้รับโอกาสต่าง ๆ จากหน่วยงานภาครัฐ โดยทั้งหมดจะได้เข้าถึงบริการอย่างแม่นยำจากนโยบายของรัฐที่ถูกต้อง และครัวเรือนในระดับถัดมาจะต้องเข้าถึงโอกาสในการประกอบอาชีพ ผ่านความร่วมมือกับภาคธุรกิจเข้าไปช่วยเหลือให้มีรายได้และอาชีพที่มั่นคง
“จังหวัดนำร่องทั้ง 7 จังหวัดที่จะทำแซนด์บ็อกซ์นั้น ตั้งใจว่าจะยกให้ได้ทั้งจังหวัดจริง ๆ และพิสูจน์ให้ดูว่าสามารถทำให้เกิดขึ้นจริงได้ ถ้ามั่นใจในพลังของท้องถิ่น ประชาชน และมหาวิทยาลัยที่เข้าไปช่วยเรื่ององค์ความรู้ให้กับประชาชน ซึ่งปัจจุบันใน 7 จังหวัดได้เริ่มต้นตั้งแต่ปี 2566 แล้ว และจะทำให้เห็นว่าเป้นงานวิจัยแบบใหม่ที่ทำทั้งพื้นที่ ไม่ได้สุ่มตัวอย่าง ซึ่งเป็นเรื่องที่ท้าทายในการทำเรื่องนี้ให้ประสบความสำเร็จ”
ดร.กิตติ กล่าวว่า สถานการณ์ความยากจนของไทยในปัจจุบัน บพท.ได้พัฒนาระบบข้อมูลชี้เป้าระดับพื้นที่ โดยมีระบบการสอบทานข้อมูลจากฐานข้อมูลการพัฒนาคนแบบชี้เป้า (TPMAP) ของภาครัฐ คือระบบข้อมูลครัวเรือนยากจน (Practical Poverty Provincial Connext-PPPConnext) ซึ่งข้อมูลล่าสุด ณ วันที่ 13 มิถุนายน 2566 พบว่ามีจำนวนทั้งสิ้น 1,039,584 คน ซึ่งมีจำนวนมากกว่าข้อมูลที่กำหนดไว้ใน TPMAP ที่มีจำนวน 350,601 คน
อย่างไรก็ตาม บพท.ยังมีข้อเสนอเชิงนโยบายถึงการแก้ไขปัญหาความยากจนและความเหลื่อมล้ำของประเทศไทย 5 ข้อ เพื่อนำเสนอให้รัฐบาล และรัฐสภา สำหรับนำไปใช้ประโยชน์ในการกำหนดนโยบาย และแนวทางมาตรการแก้ปัญหาความยากจนให้เกิดประโยชน์สูงสุด ดังนี้
1.คงกลไกศูนย์อำนวยการขจัดความยากจนและพัฒนาคนทุกช่วงวัยอย่างยั่งยืนตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง (ศจพ.) เป็นกลไกบูรณาการความร่วมมือ ที่ควรจะมีนโยบายจัดทำกลไกบูรณาการแบบนี้ต่อเนื่อง และควรเพิ่มหน่วยงานเจ้าภาพเพื่อร่วมขับเคลื่อน ได้แก่ องค์กรชุมชน ภาคประชาชาสังคม และบทบาทของสถาบันอุดมศึกษา/มหาวิทยาลัย
2. การผลักดันให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) เป็นหน่วยงานเจ้าภาพในการขับเคลื่อนการแก้ไขปัญหาความยากจนอย่างเบ็ดเสร็จและแม่นยำ เพราะปัจจุบันยังไม่มีหน่วยงานไหนเป็นหน่วยงานเจ้าภาพที่ชัดเจน และทำกันอย่างกระจัดกระจาย และซ้ำซ้อน
3.การจัดสวัสดิการภาครัฐ รัฐควรจัดสวัสดิการแบบมุ่งเป้า โดยใช้ข้อมูลจากระบบข้อมูลชี้เป้าที่มีความแม่นยำจากกลไกการมีส่วนร่วม โดยยึดคนจนกลุ่มล่างสุดเป็นเป้าหมายสำคัญ ขณะที่บัตรสวัสดิการแห่งรัฐ ยังเป็นนโยบายสำคัญ
อีกทั้งต้องจัดกระบวนการทำงานเชิงรุกให้กลไกในพื้นที่มีส่วนร่วมฝนการช่วยเหลือให้คนจนกลุ่มเป้าหมายเข้าถึงระบบสวัสดิการ รวมทั้งมีการกระจายอำนาจการจัดสวัสดิการ ทั้งการคัดกรองกลุ่มคนจน/รูปแบบสวัสดิการ/งบประมาณ ไปสู่ อปท.
4.การพัฒนาระบบข้อมูลเพื่อชี้เป้าหมายในระดับพื้นที่ โดยควรดำเนินการด้วยกระบวนการมีส่วนร่วมจากภาคประชาชน และมีการบริหารจัดการจากคนในพื้นที่เป็นสำคัญ
5.การเสริมพลัง โดยให้คนยากจนลุกขึ้นมาเป็นเจ้าของปัญหาความยากจนด้วยตนเอง โดยสร้างกระบวนการมีส่วนร่วมเพื่อให้เกิดโครงข่ายความปลอดภัยทางสังคม ด้วยกระบวนการมีส่วนร่วมทำให้ชุมชนช่วยเหลือกันด้วยการะดมทุน กองทุน กองบุญ พร้อมส่งเสริมการสร้างงาน สร้างอาชีพ และสนับสนุนกลุ่มธุรกิจชุมชนในพื้นที่
รวมทั้งยกระดับห่วงโซ่คุณค่าของธุรกิจชุมชนบนฐานทรัพยากรของพื้นที่และดึงต้นทางจนไปถึงการสร้างงานและอาชีพให้กับครัวเรือนยากจนแบบมุ่งเป้า และปรับนโยบายและการลงทุนด้านโครงสร้างพื้นฐานให้เข้าถึงกลุ่มเป้าหมายครัวเรือนยากจนล่างสุด