บพท.ปั้นนักวิจัยตัวจริงในพื้นที่ แก้ปัญหาความยากจน-เหลื่อมล้ำ

22 เม.ย. 2566 | 07:47 น.
อัปเดตล่าสุด :22 เม.ย. 2566 | 07:54 น.

ปัญหาความยากจน และ ความเหลื่อมล้ำของไทย ยังเป็นปัญหาใหญ่ที่ต้องเร่งแก้ ล่าสุด บพท.หาช่องทางสร้างนักวิจัย ลงไปแก้ปัญหาให้ตรงจุด ต่อยอดขยายผลงานวิจัยและนวัตกรรม สร้างการเปลี่ยนแปลงในพื้นที่

ปัญหาความยากจน และความเหลื่อมล้ำ ซึ่งเกิดขึ้นในหลาย ๆ พื้นที่ทั่วประเทศ ถือเป็นปัญหาใหญ่ที่ต้องใช้กลไกหหลายอย่างเข้าไปแก้ไขปัญหาทั้งกลไกภาครัฐ เอกชน และภาควิชาการ แต่ที่สำคัญอีกอย่างที่ขาดไม่ได้นั่นคือการสร้างบุคลากรในด้านงานวิจัยและพัฒนาขึ้นมาเพื่อเข้าไปช่วยแก้ปัญหาได้อย่างครบถ้วน 

ที่ผ่านมา หน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนาระดับพื้นที่ (บพท.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) ได้เริ่มนำงานวิจัยและนวัตกรรมเพื่อแก้ปัญหาความยากจนอย่างเบ็ดเสร็จและแม่นยำ

โดยทำงานร่วมกับมหาวิทยาลัยในพื้นที่ กระจายกำลังค้นหาคนจนจริงที่ไม่อยู่ในระบบให้เข้าสู่ระบบ และแยกคนจนไม่จริงหรือพ้นความยากจนออกจากระบบ สอบทานข้อมูลกับกลไกและแผนพัฒนาจังหวัดเพื่อแก้ปัญหาความยากจน

นำร่องแก้ปัญหาความยากจนพื้นที่

จากการสำรวจอย่างละเอียดในพื้นที่จังหวัดนำร่องยากจน 10 จังหวัด ได้แก่ แม่ฮ่องสอน, อำนาจเจริญ, สุรินทร์,ชัยนาท, ยโสธร, ศรีษะเกษ, สกลนคร, มุกดาหาร, กาฬสินธุ์ และปัตตานี โดยมีคนจนเป้าหมายจำนวน 131,040 คน เมื่อสำรวจพบคนยากจนจริงจำนวน 352,991 คน 

จากนั้นได้ส่งต่อข้อมูลไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในพื้นที่เพื่อประสานขอรับการช่วยเหลือทั้งเรื่องของการดำรงชีพ ที่อยู่อาศัย การศึกษา และสุขภาพ และในปี 2564 ที่ผ่านมาได้ลงสำรวจในพื้นที่เป้าหมายเพิ่มอีก 10 จังหวัด ได้แก่ ลำปาง, เลย, พิษณุโลก, ร้อยเอ็ด, นครราชสีมา, พัทลุง, อุบลราชธานี, บุรีรัมย์, ยะลา และนราธิวาส โดยมีคนจนเป้าหมายจำนวน 205,199 คน

ต่อยอดสร้างนักวิจัยเชิงพื้นที่

ดร.กิตติ สัจจาวัฒนา ผู้อำนวยการ หน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนาระดับพื้นที่ (บพท.) และที่ปรึกษาโครงการการพัฒนาศักยภาพบุคลากร สู่การเป็นนักจัดการงานวิจัยเชิงพื้นที่ เปิดเผยว่า ล่าสุด บพท.และมหาวิทยาลัยพะเยา ยังได้ร่วมมือกันจัดทำโครงการการพัฒนาศักยภาพบุคลากร สู่การเป็นนักจัดการงานวิจัยเชิงพื้นที่ โดยร่วมมือกับคณาจารย์ และผู้ทรงคุณวุฒิที่มีประสบการณ์การจัดการงานวิจัยเชิงพื้นที่ มาจัดทำหลักสูตรการพัฒนาศักยภาพบุคลากรสู่การเป็นนักจัดการงานวิจัยเชิงพื้นที่ หรือ ABC Academy

สำหรับเป้าหมายหลักของหลักสูตรการพัฒนาศักยภาพบุคลากร สู่การเป็นนักจัดการงานวิจัยเชิงพื้นที่ อยู่ที่การเสริมสร้างและพัฒนาให้เกิดทักษะที่มีความสำคัญในการสร้างประสิทธิภาพและประสิทธิผลที่ดีแก่การจัดการงานวิจัยเชิงพื้นที่อย่างน้อย 3 ด้าน คือ

  1. ทักษะการสร้างกลไกกระบวนการความร่วมมือระหว่างภาคีเครือข่ายในพื้นที่ ทั้งภาครัฐ เอกชน ประชาสังคม ชุมชน ท้องถิ่น รวมทั้งภาควิชาการ 
  2. ทักษะการพัฒนาแนวความคิดเพื่อริเริ่มดำเนินโครงการที่ตอบสนองความต้องการและสอดคล้องกับบริบทของพื้นที่ 
  3. ทักษะการวางแผนกลยุทธ์ด้านการสื่อสาร และการขับเคลื่อนนโยบายสาธารณะ ไปสู่การสร้างการเปลี่ยนแปลงในพื้นที่ด้วยการวิจัยและนวัตกรรม

ขยายผลงานวิจัยแก้เหลื่อมล้ำ-ยากจน

บุคลากรที่ผ่านการศึกษาอบรมหลักสูตรการพัฒนาศักยภาพบุคลากร สู่การเป็นนักจัดการงานวิจัยเชิงพื้นที่ จะเป็นกำลังสำคัญที่จะต่อยอดขยายผลงานวิจัยและนวัตกรรม ไปสร้างการเปลี่ยนแปลงที่ดีขึ้นในพื้นที่อย่างเป็นรูปธรรม ครอบคลุมทุกมิติ ทั้งมิติด้านแก้ปัญหาความยากจน ลดช่องว่างความเหลื่อมล้ำ มิติด้านการเสริมสร้างความมั่นคงยั่งยืนแก่เศรษฐกิจฐานรากในชุมชน และมิติด้านคุณภาพชีวิต ตลอดจนคุณภาพสิ่งแวดล้อม

รายละเอียดของหลักสูตร จะครอบคลุมทักษะความรู้ว่าด้วยแนวความคิดการจัดการพื้นที่แบบมีส่วนร่วม ทักษะความรู้ในการพัฒนากลไกกระบวนการการมีส่วนร่วม ทักษะความรู้ในการพัฒนาแผนงานริเริ่มที่สอดคล้องกับบริบทในพื้นที่ รวมทั้งทักษะความรู้ว่าด้วยการวางแผนกลยุทธ์การสื่อสาร และขับเคลื่อนนโยบายสาธารณะ ซึ่งจะใช้เวลาในการศึกษาอบรม และฝึกทักษะภาคปฏิบัติรวมทั้งสิ้น 190 ชั่วโมง

สำหรับผู้ผ่านการศึกษาอบรมหลักสูตรการพัฒนาศักยภาพบุคลากรสู่การเป็นนักจัดการงานวิจัยเชิงพื้นที่ จะมีขีดความสามารถในการออกแบบ และพัฒนาโครงการการวิจัย และพัฒนาเชิงพื้นที่ ที่สร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจให้กับพื้นที่ได้อย่างเป็นรูปธรรม และสามารถใช้เครื่องมือในการประเมินผลกระทบทางเศรษฐกิจ และผลกระทบทางสังคม ได้อย่างถูกต้องและเหมาะสม 

อีกทั้ง สามารถเชื่อมโยงการดำเนินงานกับระดับนโยบายได้อย่างเป็นรูปธรรม ซึ่งเป็นการพัฒนาบุคลากรรองรับการพัฒนางานวิจัยของประเทศตามกรอบนโยบายและยุทธศาสตร์การอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อววน.) ปี 2566 – 2570