นายเกรียงไกร เธียรนุกุล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย(ส.อ.ท.) เปิดเผยว่า ขณะนี้ส.อ.ท.กำลังติดตามสถานการณ์ของภาคการส่งออกไทยที่ปรับตัวลดลงต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 8 ซึ่งส่งผลให้ภาคอุตสาหกรรมได้รับผลกระทบในแง่ของกำลังการผลิตที่จะต้องปรับลดลงตามคำสั่งซื้อ
ทั้งนี้ เบื้องต้นพบว่ามี 25 กลุ่มอุตสาหกรรมที่เห็นสัญญาณของผลกระทบดังกล่าวเช่น อุตสาหกรรมเหล็ก หลังคาและอุปกรณ์ เฟอร์นิเจอร์ เครื่องจักรกลและโลหะการ สิ่งทอ รองเท้า อัญมณีและเครื่องประดับ แก้วและกระจก ฯลฯ โดย ส.อ.ท.อยู่ระหว่างประเมินแนวทางและมาตรการในการช่วยเหลือ ซึ่งคาดว่าจะสรุปได้ในเร็ววันนี้
อย่างไรก็ดี ทางคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) เองได้มีการประเมินทิศทางการส่งออกของไทยปี 2566 ที่จะเติบโตระดับ 0% ถึงติดลบ 1 % เนื่องจากตลาดส่งออกของไทยได้รับผลกระทบจากเศรษฐกิจโลกชะลอตัว ซึ่งส่วนหนึ่งเป็นเพราะผลกระทบจากสงครามรัสเซีย-ยูเครนทำให้กำลังซื้อตกต่ำลงทั่วโลก
โดยเฉพาะประเทศคู่ค้าของไทยทั้งตลาดสหภาพยุโรป ตลาดเอมริกา และตลาดในกลุ่มเอเชีย สะท้อนจากการส่งออกของไทยเดือนพ.ค.ที่ปรับลดลงต่อเนื่อง 8 เดือนทำให้ภาคอุตสาหกรรมได้รับผลกระทบในแง่ของกำลังการผลิตที่จะต้องปรับลดลงตามคำสั่งซื้อเช่นกัน
นายเกรียงไกร กล่าวอีกว่า 25 กลุ่มอุตสาหกรรมดังกล่าวส่วนใหญ่เน้นผลิตเพื่อส่งออกแม้ว่าบางส่วนจะรองรับกับตลาดภายในประเทศบ้างก็ตาม ทำให้ปัจจุบันกลุ่มอุตสาหกรรมเหล่านี้ต้องปรับตัวจากผลิตเพื่อส่งออกเป็นการผลิตเพื่อคงกำลังการผลิตของโรงงานเพื่อไม่ให้โรงงานปิดตัวซึ่งอาจจะกระทบต่อแรงงานได้
และเป็นการผลิตเพื่อรักษาสต็อกสินค้า ทำให้ล่าสุด ทั้ง 25 กลุ่มได้เริ่มทยอยปรับลดกะการทำงาน ปรับลดค่าล่วงเวลาบ้างแล้ว
อย่างไรก็ตาม ในไตรมาสสุดท้ายของปี 2566 คาดว่าภาคอุตสาหกรรมน่าจะได้รับคำสั่งซื้อที่เพิ่มขึ้นมาเนื่องจากเป็นเทศกาลคริสมาสต์และปีใหม่ ที่อาจจะดันกำลังการผลิตขึ้นมาได้ ซึ่งประเทศไทยต้องมองหาตลาดใหม่ทดแทนตลาดที่กำลังซื้อถดถอย โดยเฉพาะตลาดที่มีอนาคตอย่างกลุ่มประเทศความร่วมมืออ่าวอาหรับหรือ GCC กลุ่มเอเชียใต้ และกลุ่มเอเชียกลาง
นอกจากนี้อยากให้รัฐบาลไทยเร่งเดินหน้าทำข้อตกลงเขตการค้าเสรีหรือ FTA ไทยและ GCC ซึ่งจะช่วยผลักดันให้สินค้าอุตสาหกรรมไทยกระจายไปต่างประเทศมากขึ้น