นายภูสิต รัตนกุล เสรีเริงฤทธิ์ อธิบดีกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ (DITP) เปิดเผยว่า แนวโน้มการพัฒนาอุตสาหกรรมอาหารกระป๋องของจีน และโอกาสในการส่งออกอาหารกระป๋องของไทยเข้าสู่ตลาดจีนเพื่อทดแทนในส่วนที่จีนยังไม่สามารถผลิตได้ ข้อมูลเผยจากสมาคมอุตสาหกรรมอาหารกระป๋องของจีน ระบุว่า ในปี 2565 ปริมาณและมูลค่าการส่งออกสินค้าอาหารกระป๋องในจีนแตะระดับสูงสุดในรอบหลายปี
โดยจีนมีปริมาณการส่งออกสินค้าอาหารกระป๋องสูงถึง 3.125 ล้านตัน เพิ่มขึ้น 12% มูลค่า 6,890 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มขึ้น 22% ในจำนวนนี้ สินค้าอาหารกระป๋องประเภทผักและผลไม้มีสัดส่วนการส่งออกสูงสุด และอาหารสำเร็จรูปกระป๋องและเห็ดกระป๋อง ก็มีอัตราการส่งออกเพิ่มขึ้นอย่างเห็นได้ชัด
สำหรับตลาดภายในประเทศของจีน พบว่า ผู้บริโภคบางรายยังคงมีอคติต่ออาหารกระป๋อง จึงเป็นหนึ่งในเหตุผลที่อุตสาหกรรมกระป๋องหลายแห่งนิยมการส่งออกสินค้าไปยังต่างประเทศ แต่ด้วยปัจจุบันความต้องการอาหารสำหรับคนเดียว ประกอบกับวิถีชีวิตที่เร่งรีบของคนยุคใหม่ ส่งผลให้ผู้บริโภคหนุ่มสาวจำนวนมากเริ่มยอมรับในอาหารกระป๋องเพิ่มมากขึ้น
อาหารกระป๋องในปัจจุบันไม่ได้จำกัดอยู่แค่ผัก ผลไม้หรือเนื้อสัตว์เท่านั้น แต่ยังเริ่มมีในรูปแบบอาหารสำเร็จรูปที่เพียงแค่เปิดแล้วอุ่น ก็พร้อมรับประทานเหมือนอาหารที่ทำเสร็จใหม่ ทำให้อุตสาหกรรมมีการพัฒนาอาหารกระป๋องให้มีความสมบูรณ์แบบเพิ่มมากขึ้น และเข้มงวดกับความปลอดภัยมากขึ้น ทั้งการปรับปรุงมาตรฐาน การนำเทคโนโลยีมาช่วยในการผลิต
อย่างไรก็ตาม แม้ว่าจีนจะเป็นประเทศผู้ผลิตและส่งออกสินค้าอาหารกระป๋องขนาดใหญ่ โดยตลาดส่งออกที่สำคัญ ได้แก่ สหรัฐฯ รัสเซีย เยอรมนี และ ญี่ปุ่น เป็นต้น แต่สินค้าอาหารกระป๋องบางชนิด จีนยังต้องพึ่งพาการนำเข้า โดยเฉพาะสินค้าผลไม้กระป๋องที่จีนไม่มีความหลากหลายในการผลิต อาทิ เงาะกระป๋อง ลำไยกระป๋อง และลูกตาลกระป๋อง เป็นต้น จึงเป็นโอกาสสำหรับผลไม้กระป๋องจากไทยที่มีโอกาสในการขยายตลาดเข้าสู่จีนได้เพิ่มขึ้น
ในปี 2565 ที่ผ่านมา จีนนำเข้าผลไม้กระป๋อง มูลค่า 165 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ลดลง 15.39% โดยจีนนำเข้าผลไม้กระป๋องจากไทยมูลค่าสูงสุดอยู่ที่ 42 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มขึ้น 8.45% คิดเป็นสัดส่วน 25.55% ของ
การนำเข้าทั้งหมดของจีน รองลงมา คือ เกาหลีใต้ มีมูลค่า 41 ล้านดอลลาร์สหรัฐ สัดส่วน 24.82% และฟิลิปปินส์ มูลค่า 37 ล้านดอลลาร์สหรัฐ สัดส่วน 22.76%