ปัญหา "ความยากจน" ของประเทศไทย ยังเป็นเรื่องที่ต้องเร่งแก้ไขกันอย่างต่อเนื่อง เพราะปัจจุบันครัวเรือนรายได้น้อยยังคงกระจัดกระจายอยู่ทั่วทั้งประเทศ ซ้ำร้ายคนกลุ่มนี้ยังเป็นกลุ่มคนที่ขาดโอกาสทางสังคมในการเข้าถึงการบริการรัฐ ที่สำคัญไปกว่านั้น หลายคนยังเป็นกลุ่มตกสำรวจ ทำให้นโยบายด้านต่าง ๆ ของภาครัฐยากที่จะเข้าไปถึง
ที่ผ่านมาแม้หน่วยงานภาครัฐจะมีฐานข้อมูลคนจน นั่นคือ ระบบฐานข้อมูลการพัฒนาคนแบบชี้เป้า (TPMAP) ซึ่งรวบรวมข้อมูลจากหน่วยงานต่าง ๆ เพื่อให้รับทราบว่ามีคนจนอยู่ในพื้นที่ใดบ้าง ซึ่งล่าสุดพบการรายงานตัวเลขคนจนเป้าหมายของไทย ในปี 2565 รวมทั้งสิ้น 1,025,782 คน
10 ข้อเท็จจริงปัญหาความเหลื่อมล้ำ ความยากจนของไทย
เปิดตัวเลขคนจนตัวจริงของไทย
อย่างไรก็ตามตัวเลขจาก TPMAP นั้น เมื่อนับเฉพาะจังหวัดที่มีค่าดัชนีความก้าวหน้าของคน (HAI Index) ด้านรายได้ครัวเรือนต่ำที่สุด ซึ่ง บพท. คัดเลือกว่าเป็น 20 จังหวัดยากจน คือ จังหวัดแม่ฮ่องสอน ลำปาง พิษณุโลก เลย สกลนคร มุกดาหาร ศรีสะเกษ นครราชสีมา อำนาจเจริญ อุบลราชธานี ร้อยเอ็ด กาฬสินธุ์ ยโสธร บุรีรัมย์ สุรินทร์ ชัยนาท พัทลุง ยะลา ปัตตานี และนราธิวาส พบว่า
ค่าดัชนีความก้าวหน้าของคนในพื้นที่ 20 จังหวัด ณ วันที่ 13 มิถุนายน 2566 มีจำนวนคนจนในระบบ TPMAP รวมทั้งสิ้น 350,601 คน
แต่ถึงอย่างไรข้อมูลชุดดังกล่าวของ TPMAP ก็ยังพบปัญหาการตกหล่นของคนจนอีกจำนวนไม่น้อยในหลายพื้นที่ เพราะเมื่อตรวจสอบและสอบทานข้อมูลเชิงสถิติของ หน่วยบริหารและจัดการทุนด้านวิจัยระดับพื้นที่ (บพท.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.)
โดยได้ทำการสอบทานข้อมูลคนจนแบบรายพื้นที่จาก TPMAP ลงไปราย รายพื้นที่ผ่าน ระบบข้อมูลครัวเรือนยากจน (Practical Poverty Provincial Connext : PPPConnext) พบว่า ตัวเลขคนจนตัวจริงของไทยมีจำนวนมากกว่าเดิมมาก
นั่นคือ ณ วันที่ 13 มิถุนายน 2566 พบว่า มีจำนวนคนจนตัวจริง ในพื้นที่ 20 จังหวัดที่ยากจนที่สุด รวมกันจำนวน 1,039,584 คน
จังหวัดที่มีคนจนตัวจริงมากที่สุด
เมื่อตรวจสอบข้อมูลลงไปในรายละเอียดของระบบข้อมูลครัวเรือนยากจน หรือ PPPConnext จังหวัดที่มีจำนวนคนยากจนมากที่สุดเมื่อเทียบกับประชากรในจังหวัด มีดังนี้
พร้อมกันนี้ยังมีการวิเคราะห์ความยากจนด้วยฐานทุน 5 ด้าน คือ ทุนมนุษย์ ทุนกายภาพ ทุนการเงิน ทุนธรรมชาติ และทุนทางสังคม เพื่อแยกกลุ่มการให้ความช่วยเหลือได้ถูกจุด สามารถแก้ไขปัญหาได้อย่างแท้จริง
แนะ 5 แนวทางแก้ปัญหายากจน
อย่างไรก็ตามในการแก้ไขปัญหาความยากจน บพท. มีข้อเสนอเชิงนโยบายรวม 5 ข้อ เพื่อนำเสนอให้รัฐบาลใหม่ และรัฐสภา นำไปใช้ประโยชน์ในการกำหนดนโยบายให้เกิดประโยชน์สูงสุด ดังนี้
1.คงกลไกศูนย์อำนวยการขจัดความยากจนและพัฒนาคนทุกช่วงวัยอย่างยั่งยืนตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง (ศจพ.) เป็นกลไกบูรณาการความร่วมมือ ที่ควรจะมีนโยบายจัดทำกลไกบูรณาการแบบนี้ต่อเนื่อง และควรเพิ่มหน่วยงานเจ้าภาพเพื่อร่วมขับเคลื่อน ทั้ง องค์กรชุมชน ภาคประชาชาสังคม และบทบาทของสถาบันอุดมศึกษา และมหาวิทยาลัย
2. ผลักดันให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) เป็นหน่วยงานเจ้าภาพในการขับเคลื่อนการแก้ไขปัญหาความยากจนอย่างเบ็ดเสร็จและแม่นยำ เพราะปัจจุบันยังไม่มีหน่วยงานไหนเป็นหน่วยงานเจ้าภาพที่ชัดเจน และทำกันอย่างกระจัดกระจาย และซ้ำซ้อน
3.การจัดสวัสดิการภาครัฐ รัฐควรจัดสวัสดิการแบบมุ่งเป้า โดยใช้ข้อมูลจากระบบข้อมูลชี้เป้าที่มีความแม่นยำจากกลไกการมีส่วนร่วม โดยยึดคนจนกลุ่มล่างสุดเป็นเป้าหมายสำคัญ ขณะที่บัตรสวัสดิการแห่งรัฐ ยังเป็นนโยบายสำคัญ
4.การพัฒนาระบบข้อมูลเพื่อชี้เป้าหมายในระดับพื้นที่ โดยควรดำเนินการด้วยกระบวนการมีส่วนร่วมจากภาคประชาชน และมีการบริหารจัดการจากคนในพื้นที่เป็นสำคัญ
5.ให้คนยากจนลุกขึ้นมาเป็นเจ้าของปัญหาความยากจนด้วยตนเอง โดยสร้างกระบวนการมีส่วนร่วม เช่น ชุมชนช่วยเหลือกันด้วยการะดมทุน กองทุน กองบุญ พร้อมส่งเสริมการสร้างงาน สร้างอาชีพ และสนับสนุนกลุ่มธุรกิจชุมชนในพื้นที่ควบคู่กันไป