สถานการณ์ความยากจน ของประเทศไทย ยังนับว่าเป็นอีกหนึ่งปัญหาใหญ่ที่ยังไม่สามารถแก้ไขได้หมดสิ้น แม้ว่าตลอดระยะเวลาที่ผ่านมาหลายสิบปี รัฐบาล หน่วยงาน องค์กรทั้งรัฐ เอกชน ประชาสังคม จะพยายามร่วมมือกันแก้ไขปัญหากันอย่างต่อเนื่อง แต่ก็ยังมีข้อจำกัด และพบการตกหล่นอีกจำนวนไม่น้อย
โดยมีข้อมูลที่น่าสนใจของ หน่วยบริหารและจัดการทุนด้านวิจัยระดับพื้นที่ (บพท.) รายงานสถานการณ์ความยากจนของไทยในปัจจุบัน แม้จะมี ระบบฐานข้อมูลการพัฒนาคนแบบชี้เป้า (TPMAP) ซึ่งรวบรวมข้อมูลจากหน่วยงานต่าง ๆ เพื่อให้รับทราบว่ามีคนจนอยู่ในพื้นที่ใดบ้างแล้ว แต่ก็ยังพบปัญหาการตกหล่นของคนจนอีกจำนวนไม่น้อย
ที่ผ่านมา บพท. ได้ทำการสอบทานข้อมูลคนจนแบบรายพื้นที่ เพื่อให้ได้ข้อมูลที่เป้นปัจจุบันและสมบูรณ์ที่สุด ผ่านระบบข้อมูลครัวเรือนยากจน (Practical Poverty Provincial Connext : PPPConnext) จนพบว่า ณ วันที่ 13 มิถุนายน 2566 พบว่า มีจำนวนคนจนในพื้นที่ 20 จังหวัดที่ยากจนที่สุด ประกอบด้วย
จังหวัดแม่ฮ่องสอน ลำปาง พิษณุโลก เลย สกลนคร มุกดาหาร ศรีสะเกษ นครราชสีมา อำนาจเจริญ อุบลราชธานี ร้อยเอ็ด กาฬสินธุ์ ยโสธร บุรีรัมย์ สุรินทร์ ชัยนาท พัทลุง ยะลา ปัตตานี และนราธิวาส รวมกันจำนวน 1,039,584 คน มากกว่าข้อมูลที่กำหนดไว้ใน TPMAP ซึ่งแสดงข้อมูลไว้เพียงแค่ 350,601 คนเท่านั้น
ข้อเท็จจริงปัญหาความยากจนไทย
ไม่นานมานี้ บพท. ได้จัดงานสัมมนาใหญ่ โดยมีการนำเสนอข้อมูลด้าน ความจน ความเหลื่อมล้ำภายใต้แผนยุทธศาสตร์ชาติ ของนายเอ็นนู ซื่อสุวรรณ กรรมการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ระบุว่า ประเทศไทยมีแผนยุทธศาสตร์ชาติและการปฏิรูปประเทศ เพื่อมีเป้าหมายแก้ปัญหาความยากจนและความเหลื่อมล้ำ
แต่ปัจจุบันยังพบว่ามีช่องว่างการดำเนินการแก้ไขปัญหาดังกล่าวหลายเรื่อง โดยเฉพาะนโยบายปัจจุบันเน้นการแก้ปัญหาความยากจนที่ตัวบุคคล ไม่ได้เน้นการแก้ปัญหาเชิงโครงสร้างอำนาจที่ไม่เป็นธรรมในสังคม ควบคู่กับการเสริมพลังกลุ่มยากจนและกลุ่มเปราะบางควบคุมกันไป
สำหรับข้อเท็จจริงของปัญหาความเหลื่อมล้ำ และความยากจนของประเทศไทยนั้น จากข้อมูลของสภาพัฒน์ฯ มีด้วยกัน 10 ข้อ ดังนี้
1. เงินช่วยเหลือผู้มีรายได้น้อยเป็นการแก้ไขปัญหาที่ปลายเหตุ โดยตลอดระยะเวลาที่ผ่านมาหลายรัฐบาลแจกเงินลงไปช่วยเหลือคนกลุ่มนี้จำนวนมาก และหลากหลายนโยบาย
2. การลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา แต่ไม่ลดความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจควบคู่ไปด้วย โดยที่ผ่านมาเกิดปัญหาให้ทุนการศึกษากับเด็กแต่เด็กกลับไปเรียนไม่ได้ เพราะมีค่าใช้จ่ายมาก โดยเฉพาะเด็กในพื้นที่ห่างไกล
3. การจัดสรรงบประมาณให้สถานศึกษาแบบเดิมไม่บรรลุผลความเสมอภาคทางการศึกษา เพราะแบบเดิมใช้แบบหารรายหัว แต่โรงเรียนแต่ละแห่งไม่เหมือนกัน มีสภาพปัญหาไม่เหมือนกัน
4. การให้บริการสาธารณสุข ขาดมาตรฐานกลางระหว่างหลักประกันสุขภาพทั้ง 3 ระบบ
5. การออกแบบระบบจัดการรายได้ยามชราขาดการบูรณาการและความยืดหยุ่น เพราะแต่ละหน่วยงานและกองทุนมีกฎหมายของตัวเองไม่เกิดความยืดหยุ่น
6. การกระจายอำนาจไม่ถ่ายโอนสู่ท้องถิ่นอย่างแท้จริง บางครั้งถ่ายโอนแต่หน้าที่ แต่งบประมาณ และบุคลากรไม่มี ซึ่งจะต้องปรับรูปแบบการดำเนินการให้ทางองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเข้ามามีบทบาทมากขึ้น
7. ระบบภาษีขาดความเป็นธรรม โดยปัจจุบันยังมีความเหลื่อมล้ำคนที่มีฐานะสูง ได้รับการลดหย่อยจำนวนมาก และหลากหลาย ทำให้บางครั้งไม่ต้องเสียภาษีด้วย
8. ขาดยุทธศาสตร์การคุ้มครองทางสังคมในภาพรวมประเทศ
9. ขาดการบูรณาการฐานข้อมูลต่าง ๆ
10. ขาดการประเมินผลกระทบของนโยบาย จึงจัดสรรทรัพยากรไม่มีประสิทธิภาพ ทั้งที่ในแต่ละปีมีการจัดสรรงบประมาณลงไปในด้านนี้จำนวนมหาศาล แต่กลับไม่มีใครกล้าทำการประเมิน
นายเอ็นนู ระบุว่า ที่ผ่านมานโยบายปัจจุบันเน้นการแก้ไขปัญหาที่ตัวบุคคลไม่ได้คิดจะแก้ที่ระบบโครงสร้างอำนาจ เพราะนโยบายตอนนี้คิดเพียงแค่ว่าคนจนน่าสงสารแล้วต้องหาทางเข้าไปสงเคราะห์ ต้องแจกเงิน แทนที่จะหาทางเปิดหน้าต่างแห่งโอกาส แต่กลับปิดโอกาสด้วยกฎหมายหลายข้อว่าทำไม่ได้ ต้องขออนุญาตทำให้คนจนไม่มีโอกาส
ข้อเสนอแนะในการแก้ปัญหา
อย่างไรก็ดี ได้มีข้อเสนอแนะนโยบายเชิงโครงสร้างที่จะช่วยเสริมพลังทางสังคมและเศรษฐกิจเพื่อลดความเหลื่อมล้ำของประเทศไทย รวม 3 ข้อ ดังนี้
1. ด้านการศึกษาและการทำงานของคนจน โดยปฏิรูปการศึกษา ยกระดับแรงงาน ค่าจ้างที่เป็นธรรม เปิดโอกาสให้แรงงานมีการพัฒนาความสามารถและเข้ามามีส่วนร่วม
2. ด้านสวัสดิการ การใช้ชีวิตและความเป็นอยู่อย่างมีสุขภาวะที่เหมาะสม เชื่อมฐานข้อมูลสวัสดิการและพัฒนาช่องทางการเข้าถึงสิทธิ์ มีกองทุนในระบบหลักประกันสุขภาพที่มีมาตรฐานการกลางและเป็นธรรม จัดระบบจัดการรายได้ยามชรา และสนับสนุนนโยบายและมาตรการทางภาษีที่เป็นธรรม
3. ด้านกฎหมายและการกระจายอำนาจ ให้การบริการสาธารณะในพื้นที่เป็นอำนาจของท้องถิ่น