เศรษฐกิจคู่ค้ายังผันผวนทำ“ส่งออกไทย”ครึ่งปีหลังยังอ่อนแรง

04 ก.ค. 2566 | 05:25 น.
อัปเดตล่าสุด :04 ก.ค. 2566 | 05:34 น.

เศรษฐกิจคู่ค้ายังผันผวนทั้งสหรัฐฯ จีน ยุโรป ทำ“ส่งออกไทย”ครึ่งปีหลังยังอ่อนแรงลุ้นครึ่งปีหลังเศรษฐกิจฟื้นตัวแบบก้าวกระโดด สรท.ยังคงเป้าส่งออกที่ลบ0.5-1% เฉลี่ยต้องส่งออกเดือนละ24,500ล้านดอลลาร์ถึงจะได้ตามเป้า

นายชัยชาญ เจริญสุข ประธานสภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย (สรท.)เปิดเผยว่าสรท. คงคาดการณ์เป้าหมายการทำงานด้านการส่งออกรวมทั้งปี 2566 ระหว่าง -0.5% ถึง 1% (ณ เดือนมิถุนายน 2566) โดยมีปัจจัยเสี่ยงที่เป็นอุปสรรคสำคัญในปี 2566 ได้แก่  การฟื้นตัวของเศรษฐกิจคู่ค้าหลักยังคงมีความไม่แน่นอนสูง ไม่ว่าจะเป็น  จีน หลังจากการเปิดประเทศของจีนเศรษฐกิจฟื้นตัวช้ากว่าที่คาดการณ์

นายชัยชาญ เจริญสุข ประธานสภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย (สรท.)

สหรัฐฯ ดัชนีภาคการผลิต (PMI) ลดต่ำลงอยู่ที่ 46.3 และยุโรป ณ ระดับ 43.6

 

อัตราดอกเบี้ยทั่วโลกยังคงทรงตัวอยู่ในระดับสูง ส่งผลต่อการชะลอตัวของเศรษฐกิจ และภาระต้นทุนการกู้เงินของผู้ประกอบการรวมถึงต้นทุนการผลิตยังคงสูง อาทิ ค่าไฟฟ้า วัตถุดิบการผลิต ส่งผลต่อความสามารถทางด้านการแข่งขันของไทย ปัจจัยเสี่ยงที่สำคัญอีกประเด็นคือ ความเสี่ยงจากสภาพอากาศเปลี่ยนแปลง (El Nino) ต่อภาคการเกษตรในประเทศ

เศรษฐกิจคู่ค้ายังผันผวนทำ“ส่งออกไทย”ครึ่งปีหลังยังอ่อนแรง

ทั้งนี้ สรท. มองว่าหากต้องการผลักดันให้การส่งออกไทยใสนครึ่งปีหลังขยายตัวตามเป้าลบ0.5-1% ต้อง เร่งกระบวนการจัดตั้งรัฐบาล เพื่อขับเคลื่อนแผนการส่งออกอย่างต่อเนื่อง และเศรษฐกิจโดยรวมของประเทศ ขอให้ภาครัฐเร่งลดต้นทุนภาคการผลิต ที่ปรับสูงขึ้นและอาจเสียเปรียบคู่ค้าคู่แข่งที่สำคัญ

อาทิ ค่าไฟฟ้า ค่าแรง และอัตราดอกเบี้ยและเร่งเสริมสภาพคล่องทางการเงินให้แก่ผู้ประกอบการในโซ่อุปทาน (Supply Chains Financing) โดยเฉพาะ SMEsรวมถึงเร่งเพิ่มทักษะและสมรรถนะแรงงานให้สอดคล้องกับความต้องการของตลาดแรงงาน

เศรษฐกิจคู่ค้ายังผันผวนทำ“ส่งออกไทย”ครึ่งปีหลังยังอ่อนแรง

สำหรับสถานการณ์ค่าเงินบาทในเดือนนี้เคลื่อนไหวในทิศทางอ่อนค่าลงอย่างเห็นได้ชัดเมื่อเทียบกับเดือนที่ผ่านมา ในกรอบ 34.5 – 35.64 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐจากความไม่แน่นอนทางการเมืองของไทย แม้กกต. จะประกาศผลการเลือกตั้งอย่างเป็นทางการแล้วก็ตาม ทำให้นักลงทุน ตัดสินใจดึงเงินออกจากจากตลาดหลักทรัพย์ของไทยอย่างต่อเนื่องประกอบกับการฟื้นตัวของจีนเป็นไปได้ช้ากว่าที่คาดการณ์ไว้การลงทุนในไทยซึ่งเป็นคู่ค้าหลักของจีนจึงดึงดูดนักลงทุนได้น้อยลง ความต้องการเงินบาทปรับตัวลดลง

เศรษฐกิจคู่ค้ายังผันผวนทำ“ส่งออกไทย”ครึ่งปีหลังยังอ่อนแรง

ประกอบกับอีกหนึ่งปัจจัยหนึ่ง คือ ท่าทีของ FOMC ที่มีการ ประกาศว่าภายในปีนี้อาจปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบายอีก 2 ครั้ง และยังคงยึดมั่นในเป้าหมายที่จะปรับให้เงินเฟ้อกลับมาอยู่ในกรอบที่ 2%นักลงทุนทั่วโลกจึงหันไปสนใจการลงทุนในค่าเงินดอลลาร์อีกครั้ง ดอลลาร์จึงมีการปรับตัวแข็งขึ้นเล็กน้อย เมื่อเทียบกับเดือนที่ผ่านมาที่ Fed ชะลอการปรับขึ้น อัตราดอกเบี้ย ค่าเงินบาทจึงมีการเคลื่อนไหวในทิศทางอ่อนค่า แตะ 35 บาท อีกครั้งในรอบหลายเดือน

เศรษฐกิจคู่ค้ายังผันผวนทำ“ส่งออกไทย”ครึ่งปีหลังยังอ่อนแรง

อย่างไรก็ตามเนื่องจากแนวโน้มการฟื้นตัวของการท่องเที่ยวยังคงเพิ่มขึ้นต่อเนื่องประกอบกับราคาทองคำยังทรงตัวอยู่ในระดับสูง และ ค่าเงินดอลลาร์สหรัฐฯ ค่อนข้างมีความผันผวน จากสภาวะเศรษฐกิจภายในของสหรัฐฯเองอาจทำให้เงินบาทมีการปรับตัวผันผวนตามไปด้วย ผู้ประกอบการส่งออกจึงควรเฝ้าตามสถานการณ์เศรษฐกิจโลกอย่างใกล้ชิดประกอบกับการใช้เครื่องมือป้องกันความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยนต่อไป

เศรษฐกิจคู่ค้ายังผันผวนทำ“ส่งออกไทย”ครึ่งปีหลังยังอ่อนแรง

“ทั้งนี้ในเดือนที่เหลือถ้าไทยส่งออกเฉลี่ยเดือนละ24,200-24,400ล้านดอลลาร์สหรัฐทั้งปีส่งออกไทยจะขยายตัวที่-0.5-1%แต่ถ้าเฉลี่ย24,800-25,200ล้านดอลลาร์สหรัฐต่อเดือนส่งออกไทยจะขยายตัวที่1-2%โดยสรท.มองว่าครึ่งปีแรกการส่งออกไทยยังคงทรงตัวเศรษฐกิจทั่วโลกยังชะลอตัว แต่หวังว่าในครึ่งปีหลังนี้ต้องลุ้นว่าจะมีการฟื้นตัวแบบเร่งด่วนหรือไม่”