นอกจากนี้ส่งออกไทยจะพลิกกลับมาขยายตัวเป็นบวกได้เมื่อไร และทำอย่างไรส่งออกไทยจะโตอย่างยั่งยืน “ฐานเศรษฐกิจ” สัมภาษณ์ นายชัยชาญ เจริญสุข ประธานสภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย (สรท.) หรือสภาผู้ส่งออก ดังรายละเอียด
นายชัยชาญ กล่าวว่า หากนับเฉพาะ 5 เดือนแรกของปีนี้การส่งออกของไทยยังติดลบที่ 5.1% (มีมูลค่าส่งออก 116,344.2 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ) มองว่าในภาพรวมไตรมาสที่ 2 ของปีนี้จะยังติดลบอยู่แต่อาจจะติดลบน้อยลง เนื่องจากเริ่มมีสัญญาณคำสั่งซื้อเข้ามาบ้างแล้วในช่วงปลายไตรมาสที่ 2 โดยคาดว่าในครึ่งปีหลังในไตรมาสที่ 3 และ 4 การส่งออกไทยจะสามารถกลับมาเป็นทิศทางที่เป็นบวกได้
ทั้งนี้ปัจจัยที่มีผลกระทบต่อการส่งออกไทยยังมีอยู่มาก โดยปัจจัยจากภายนอกที่สำคัญได้แก่ เศรษฐกิจโลกในช่วงครึ่งปีแรกและครึ่งปีหลังอาจฟื้นตัวได้น้อยกว่าที่คาดไว้ เป็นผลจากการที่เศรษฐกิจจีนที่มีขนาดใหญ่เป็นอันดับ 2 ของโลก (รองจากสหรัฐฯ)ไม่ได้ฟื้นตัวอย่างแข็งแกร่งหลังการเปิดประเทศอย่างที่ได้มีการคาดการณ์ไว้ โดยการฟื้นตัวในภาคบริการมีสัญญาณของการแผ่วลง ขณะที่ภาคการผลิตยังไม่ฟื้นตัว
นอกจากนี้ยังมีสต๊อกมากเกิน(Over Stock) ของลูกค้า อาทิ ในกลุ่มอาหารแช่แข็ง อาหารสัตว์เลี้ยง ลูกค้ามีสต๊อกสินค้ามากถึง 6-9 เดือนจากปกติมีสต๊อกเพียง 3 เดือนเท่านั้น รวมถึงสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ ก็ยังมีสต๊อกสินค้าคงค้างไปจนถึงครึ่งปีหลัง จากส่วนหนึ่งผลจากคนกลับมาดำเนินชีวิตแบบปกติ ยกเลิกการทำงานที่บ้าน
ขณะที่เศรษฐกิจของประเทศที่เป็นคู่ค้าหลักของไทย อาทิ สหรัฐ ยุโรป ยังเผชิญกับแรงกดดันจากภาวะอัตราดอกเบี้ยและอัตราเงินเฟ้อที่อยู่ในระดับสูง การฟื้นตัวในช่วงไตรมาสที่ 2 ที่ล่าช้ากว่าที่คาดทำให้เศรษฐกิจโลกในช่วงครึ่งปีหลังยังอยู่ในภาวะชะลอตัวจนกว่าประเทศใหญ่อย่างเช่นจีนจะมีนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจออกมา
ส่วนปัจจัยจากภายในประเทศ ได้รับผลกระทบจากการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย ซึ่งเป็นต้นทุนทางการเงินที่สำคัญของผู้ประกอบการ โดยเฉพาะ SME ที่ต้องแบกรับภาระต้นทุนทางการเงินสูงขึ้น และการเปลี่ยนแปลงทางการเมือง จากนโยบายที่จะดำเนินการต่อจากนี้เป็นส่วนสำคัญกับการค้าระหว่างประเทศ
สำหรับทิศทางการส่งออกไทยมีโอกาสจะพลิกกลับเป็นบวกได้ในเดือนใด และคาดทั้งปีนี้การส่งออกของไทยจะขยายตัวได้ที่ 0-1% ตามที่ สรท.คาดการณ์หรือไม่ นายชัยชาญ กล่าวว่า จากรายงานการส่งออกใน 5 เดือนที่ผ่านมา แสดงให้เห็นว่าการส่งออกของไทยในครึ่งปีแรกมีแนวโน้มที่จะหดตัวตามที่ สรท. คาดการณ์ไว้จากหลายปัจจัย อาทิ ฐานการส่งออกในช่วงเวลาเดียวกันในปี 2565 ค่อนข้างสูง ความเสี่ยงของเศรษฐกิจโลกและอัตราดอกเบี้ยขาขึ้น รวมถึงปริมาณสต๊อกสินค้าของคู่ค้ายังคงสูงจากปีที่ผ่านมา
เมื่อพิจารณาจากมูลค่าการส่งออกในปี 2565 พบว่า การส่งออกมีการชะลอตัวลงในครึ่งปีหลัง โดยเฉพาะไตรมาส 4 ที่มีมูลค่าส่งออกเพียง 65,799.2 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือลดตัวลง 8.5% จากแรงกดดันการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายอย่างรวดเร็วของธนาคารกลางสหรัฐฯ จนไปถึงปัญหาการเมืองระหว่างประเทศ และการขาดแคลนชิป ซึ่งเป็นวัตถุดิบสำคัญในการผลิตยานยนต์ ส่งผลให้การส่งออกยานยนต์และชิ้นส่วนยานยนต์หดตัวสูงถึง 13% ในเดือนธันวาคม 2565 ที่ผ่านมา
“แม้ปัจจัยเสี่ยงในปี 2566 ยังคงมีอยู่อย่างต่อเนื่อง แต่เมื่อพิจารณาจากฐานข้อมูลเทียบกับการส่งออกปี 2565 แล้ว สรท. คาดการณ์ว่าการส่งออกของไทยจะสามารถฟื้นตัวแบบเร่งได้ในช่วงครึ่งปีหลัง 2566 หรือกลับมาขยายตัวอีกครั้งตั้งแต่เดือนกรกฎาคมเป็นต้นไป"
ด้วยปัจจัยสนับสนุน อาทิ ปัญหาการขาดแคลนชิปคลี่คลาย ปริมาณสต๊อกสินค้าในอุตสาหกรรมต่าง ๆ เริ่มปรับลดลง ปัญหาภาวะความมั่นคงด้านอาหารที่ได้รับผลกระทบต่อเนื่องจากสงครามรัสเซีย-ยูเครน รวมถึงการกลับมาเปิดประเทศของจีนซึ่งเป็นคู่ค้าสำคัญของไทย ส่งผลให้สินค้าอุตสาหกรรม อาทิ ยานยนต์และชิ้นส่วนยานยนต์ ของไทยมีแนวโน้มเริ่มปรับตัวดีขึ้นได้ในระดับหนึ่ง ขณะที่การส่งออกสินค้าเกษตรและอุตสาหกรรมเกษตร อาทิ ข้าว ผลไม้ อาหาร และนํ้าตาล สามารถขยายตัวได้ในระดับที่ดีมาก
ทั้งนี้ สรท. ยังคงคาดการณ์การส่งออกของไทยที่ 0-1% หากไม่มีปัจจัยอื่น ๆ มากระทบและซํ้าเติมการส่งออกในครึ่งปีหลังที่กำลังจะถึง โดยภาคเอกชนจะประสานการทำงานอย่างใกล้ชิดกับกระทรวงพาณิชย์ในการจัดกิจกรรมเชิงรุกเพื่อขยายตลาดส่งออกทั้งออฟไลน์ และออนไลน์ กำหนดเป้าหมายใน 7 ภูมิภาคได้แก่ อาเซียน จีนและฮ่องกง เอเชียใต้ เอเชียตะวันออกและโอเชียเนีย ตะวันออกกลางและแอฟริกา อเมริกาเหนือและลาตินอเมริกา และยุโรป
นายชัยชาญยังให้ข้อเสนอแนะรัฐบาลในการช่วยเหลือผู้ประกอบการ เพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันที่จะส่งผลให้การส่งออกของไทยขยายตัวอย่างยั่งยืนในอนาคตว่า แบ่งออกเป็น 3 ด้าน ได้แก่ 1.การลดต้นทุน โดยการลดต้นทุนและอากรการนำเข้าวัตถุดิบ กำกับดูแลต้นทุนด้านพลังงาน ค่าไฟฟ้า ค่าแรงขั้นตํ่า สนับสนุนสินเชื่อหมุนเวียนธุรกิจรวมถึงลดและยกเลิกการบังคับใช้กฎหมายที่ล้าสมัย ที่เป็นอุปสรรคต่อการประกอบธุรกิจ
2.ยกระดับประสิทธิภาพ โดยการส่งเสริมการลงทุนเพื่อความยั่งยืน ตามแนวทาง BCG (Bio Circular Green Economy) ส่งเสริมการเพิ่มผลิตภาพในองค์กรด้วยออโตเมชั่น และการพัฒนาด้านไอที ผลักดันโครงข่ายโลจิสติกส์ให้รองรับ Multimodal Transport ยกระดับ Trade Facilitation Platform รวมถึงยกระดับทักษะแรงงาน ให้ได้มาตรฐานสากล และ 3.การสร้างโอกาสทางการค้า โดยเร่งรัดเจรจาการค้าเสรีกับคู่ค้าสำคัญและเพิ่มการเจรจากับคู่ค้าใหม่ ๆ