พาณิชย์ปรับเป้าเงินเฟ้อทั้งปีลง1-2%

05 ก.ค. 2566 | 06:21 น.
อัปเดตล่าสุด :05 ก.ค. 2566 | 06:25 น.

พาณิชย์ปรับเป้าเงินเฟ้อทั้งปีลง1-2% จับตาภัยแล้ง ไม่ต่อลดภาษีดีเซล มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจรัฐ ความขัดแย้งมีผลต่อเงินเฟ้อ มิ.ย.เงินเฟ้อ เพิ่ม 0.23% ชะลอตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 6 ต่ำสุดในรอบ 22 เดือน เฉลี่ย 6 เดือน เพิ่ม 2.49% คาดเงินเฟ้อไตรมาส 3 ยังชะลอตัว

นายวิชานัน นิวาตจินดา รองผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) เปิดเผยว่ากระทรวงพาณิชย์ปรับคาดการณ์เงินเฟ้อทั้งปีใหม่ จากเดิม 1.7-2.7% ค่ากลาง 2.2% เป็น 1-2% ค่ากลาง 1.5% ภายใต้สมมติฐาน จีดีพี เพิ่ม 2.7-3.7% น้ำมันดิบดูไบ 71-81 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรล และอัตราแลกเปลี่ยน 33.5-35.5 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ โดยมิ.ย.เงินเฟ้อ เพิ่ม 0.23% ชะลอตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 6 ต่ำสุดในรอบ 22 เดือน ส่งผลให้เฉลี่ย 6 เดือน เพิ่ม 2.49%

นายวิชานัน นิวาตจินดา รองผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.)

คาดเงินเฟ้อไตรมาส 3 ยังชะลอตัว  เนื่องจากราคาน้ำมันเชื้อเพลิงยังมีแนวโน้มทรงตัวและเคลื่อนไหวในกรอบแคบ ๆ และต่ำกว่าช่วงเดียวกันของปีก่อน ราคาเนื้อสัตว์ คาดว่าจะลดลงตามผลผลิตที่เพิ่มขึ้น และฐานปีก่อนค่อนข้างสูง ทำให้เงินเฟ้อไตรมาส3น่าจะอยู่ที่ 0.77% และไตรมาส 4 คาดว่าอยู่ที่ 0.62%

พาณิชย์ปรับเป้าเงินเฟ้อทั้งปีลง1-2%

อย่างไรก็ตาม เงินเฟ้อในช่วงครึ่งปีหลัง ยังมีความเสี่ยงที่จะเพิ่มขึ้นหรือลดลง โดยสินค้าบางชนิด เช่น ผักและผลไม้ ไข่และผลิตภัณฑ์นม และอาหารสำเร็จรูป มีแนวโน้มสูงขึ้นจากภัยแล้ง การไม่ต่ออายุการลดภาษีสรรพสามิตน้ำมันดีเซล หากขึ้นทันที จะกระทบต่อเงินเฟ้อ 0.26% แต่ถ้ามีมาตรการอื่นมาช่วยชะลอ ก็จะกระทบไม่มาก เศรษฐกิจโลกชะลอตัว

ทั้งสหรัฐฯ และยุโรป เป็นความเสี่ยงต่อเงินเฟ้อในลักษณะที่ลดลง ทำให้ความต้องการสินค้าลดลง มาตรการของรัฐ ถ้าช่วยลดค่าครองชีพ เงินเฟ้อก็จะลดลง แต่ถ้ากระตุ้นเศรษฐกิจ เงินเฟ้อก็จะเพิ่มขึ้น สถานการณ์สงคราม และความขัดแย้งของโลก ที่ยังคาดการณ์ได้ยาก ก็เป็นปัจจัยที่มีผลกระทบต่อเงินเฟ้อ

พาณิชย์ปรับเป้าเงินเฟ้อทั้งปีลง1-2%

สำหรับเงินเฟ้อเดือน มิ.ย.2566 ที่สูงขึ้น 0.23% มาจากการสูงขึ้นของหมวดอาหารและเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ 3.37% ตามการสูงขึ้นของผักและผลไม้สด (มะนาว ผักคะน้า กะหล่ำปลี เงาะ แตงโม ทุเรียน) ไข่ไก่ และไข่เป็ด เนื่องจากสภาพอากาศแปรปรวน ความต้องการเพิ่มขึ้นจากการเปิดภาคเรียน และภาคการท่องเที่ยว อาหารสำเร็จรูป (อาหารเช้า อาหารตามสั่ง) ราคาสูงขึ้นตามต้นทุนการผลิต รวมถึงผลิตภัณฑ์นม (นมข้นหวาน ครีมเทียม นมเปรี้ยว) และข้าวสาร ราคาเปลี่ยนแปลงตามการจัดโปรโมชัน ส่วนสินค้าที่ราคาลดลง เช่น เนื้อสุกร เนื่องจากมีปริมาณออกสู่ตลาดเพิ่มขึ้น ไส้กรอก เครื่องประกอบอาหาร (น้ำมันพืช มะพร้าว (ผลแห้ง/ขูด) มะขามเปียก) ผักสดบางชนิด (ผักบุ้ง พริกสด) และอาหารโทรสั่ง (Delivery)

ส่วนสินค้าหมวดอื่น ๆ ที่ไม่ใช่อาหารและเครื่องดื่ม ลดลง 1.88% ตามการลดลงของราคาน้ำมันเชื้อเพลิง โดยปรับลดลงทั้งน้ำมันในกลุ่มดีเซล แก๊สโซฮอล์ และเบนซิน เครื่องใช้ไฟฟ้า ทั้งเครื่องรับโทรทัศน์ เครื่องปรับอากาศ และเครื่องซักผ้า ราคายังคงลดลงต่อเนื่อง รวมถึงเครื่องรับโทรศัพท์มือถือ ค่าของใช้ส่วนบุคคลและสิ่งที่เกี่ยวกับทำความสะอาด (ผลิตภัณฑ์ป้องกันและบำรุงผิว น้ำยาระงับกลิ่นกาย ผงซักฟอก น้ำยารีดผ้า) หน้ากากอนามัย และค่าสมาชิกเคเบิลทีวี ส่วนสินค้าที่ราคาสูงขึ้น เช่น ค่ากระแสไฟฟ้า เนื่องจากสิ้นสุดมาตรการช่วยเหลือของภาครัฐ รวมถึง ก๊าซหุงต้ม ค่าเช่าบ้าน ค่าโดยสารสาธารณะ (เครื่องบิน จักรยานยนต์รับจ้าง รถเมล์เล็ก/สองแถว) ค่าการศึกษา ค่าแต่งผมชายและสตรี