เศรษฐกิจสหรัฐดิ่งลึก ออฟฟิศบิวดิ้งมูลค่าวูบ 40%

01 ก.ค. 2566 | 08:31 น.
อัพเดตล่าสุด :01 ก.ค. 2566 | 12:21 น.

เศรษฐกิจสหรัฐอเมริกาที่มีขนาดใหญ่เป็นอันดับ 1 ของโลก เวลานี้ยังคงเปราะบาง ในทิศทางชะลอตัว จากผลกระทบต่อเนื่องจากสงครามรัสเซีย-ยูเครน ภาวะเงินเฟ้อสูง ธนาคารกลางสหรัฐฯต้องปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบายมาแล้วนับสิบรอบเพื่อสกัดเงินเฟ้อ ตามด้วยแบงก์ล้ม-แบงก์รัน และอื่น ๆ

นายประมุข เจิดพงศาธร ที่ปรึกษากิตติมศักดิ์ (HTA) ของกระทรวงพาณิชย์ และประธานกรรมการบริหารกลุ่มบริษัท PJ US Group ผู้จัดหาและนำเข้าสินค้าไทยจำหน่ายให้กับห้างค้าปลีก-ค้าส่งรายใหญ่ทั่วสหรัฐฯรวมกันนับหมื่นสาขา รวมถึงป้อนสินค้าส่งให้กับเรือนจำหลายแห่งในสหรัฐฯ ภายใต้แบรนด์สินค้าของทางกลุ่มเอง และแบรนด์ของลูกค้า เผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า

จากที่ได้เข้ามาเมืองไทยครั้งก่อนในช่วงปลายเดือนมกราคม และกลับไปในเดือนมีนาคม 2566 ซึ่งเป็นช่วงรอยต่อจากปีที่ผ่านมาที่เกิดเหตุการณ์มากมาย จากโควิดเมื่อปีที่แล้ว ทำให้การค้าปั่นป่วนไปทั่วโลก และในปี 2565 ยังเกิดสงครามรัสเซีย-ยูเครน เวลานี้สถานการณ์ยังยืดเยื้อ ทำให้การใช้ชีวิตของผู้คนทั่วโลกมีความยุ่งยากลำบาก ค่าครองชีพสูงขึ้น จากภาวะเงินเฟ้อที่เกิดขึ้น และเมื่อเกิดสงครามก็มีการแซงชั่น ทำให้การค้าระหว่างประเทศต้องปรับเปลี่ยนหาวิธีการกันเอง ทั้งการปรับเปลี่ยนสกุลเงินที่ใช้ค้าขายไม่พึ่งดอลลาร์สหรัฐฯ อย่างเดียว การปรับเปลี่ยนเส้นทางการขนส่ง และอื่น ๆ

“ปีที่แล้วทุกอย่างสะสมกันมาเรื่อย ๆ  จนกระทั่งเกิดภาวะเงินเฟ้อ เมื่อเกิดภาวะเงินเฟ้อ อเมริกาก็ขึ้นดอกเบี้ย ก็ขึ้นครั้งแล้วครั้งเล่า(มา 10 รอบแล้ว) การขึ้นดอกเบี้ยก็จะทำให้ทุกคนชะงักงัน ขณะเดียวกันค่าครองชีพก็สูง เนื่องจากต้นทุนในการผลิตหรือทุกอย่างสูงขึ้นตามราคาพลังงานและวัตถุดิบ แต่วิสัยของชาวอเมริกัน ค่าใช้จ่ายเขาต้องมีประจำอยู่แล้ว แต่เมื่อประชาชนและภาคธุรกิจมีรายได้ที่ลดลง ส่งผลให้บริษัทห้างร้านต่าง ๆ ล้มหายตายจากไปเยอะมาก โดยมีบริษัทที่เกี่ยวข้องกับเศรษฐกิจที่ชาวบ้านรัดเข็มขัด เช่นหมวดอาหาร ภัตตาคาร ถูกปิดตัวไปในช่วงนั้นเกือบถึง 50% จากคนจะซื้อไปกินที่บ้าน หรือทำกินเองที่บ้านมากขึ้น”

ขณะเดียวกันภาวะสงครามก็ทำให้เงินสะสมบั้นปลายชีวิต หรือทางฝั่งอเมริกาเรียกว่า 401K ซึ่งเป็นเงินที่มีการสะสมมา เมื่อตลาดหุ้นตก เงินเหล่านี้ที่บริษัทที่ดูแลนำไปลงทุนซื้อหุ้น  เมื่อมูลค่าหุ้นตกก็เท่ากับเงินเขาหายไปถึง 30-40% ทำให้เกิดภาวะที่ไม่เคยมีเหตุการณ์เช่นนี้เกิดขึ้นมาก่อน  ซึ่งชาวอเมริกันบางคนก็ทำงานมาชั่วชีวิต ตัวเองก็ไม่ได้เที่ยว และสงครามที่รบกันก็ไม่รู้ว่าต่อไปอะไรจะเกิดขึ้นบ้าง ก็เลยถือโอกาสเที่ยว

โดยเฉพาะกลุ่มที่เรียกว่าเบบี้บูมเมอร์ (Baby Boomer คือ คนที่เกิดช่วงปี 2489 – 2507) คือกลุ่มที่เกษียณแล้วแล้วอยู่ในสิทธิที่จะได้รับเงินจากรัฐบาลอเมริกัน หรือ เงิน social โดยได้รับสวัสดิการในการเข้ารับการรักษาฟรีจากโรงพยาบาล ประกอบกับเงินค่าครองชีพที่ได้รับจากรัฐบาลเดือนละ  2,000-3,000 ดอลลาร์สหรัฐฯ แค่นี้ก็พอต่อการครองชีพ จึงเลิกทำงาน เมื่อกลุ่มคนเหล่านี้เลิกทำงานก็ทำให้งานบางสาขาในสหรัฐฯขาดแคลน

“จะเห็นว่ามีสองด้านในเวลาเดียวกัน ด้านหนึ่ง อเมริกาขาดแรงงานอย่างหนัก ขณะเดียวกันมีต่างชาติที่เข้าเมืองมาแบบผิดกฎหมายจำนวนมาก เพื่อหวังผลได้รับการเป็นพลเมืองของสหรัฐในอนาคต ทำให้เกิดเหตุการณ์ความวุ่นวายต่าง ๆ ตามมา"

ตัวอย่างที่ซานฟรานซิสโกเวลานี้น่ากลัวมาก ตั้งแต่มีเรื่องเหยียดผิว  ทำให้เกิดเหตุการณ์ความไม่สงบ เกิด mass shooting(การกราดยิง) เฉลี่ยสัปดาห์ละครั้ง โดยส่วนใหญ่เกิดในโรงเรียนตั้งแต่ต้นปีมาจนถึงปัจจุบัน ขณะเดียวกันก็มีการโทษกันไปโทษกันมาว่าโควิดที่เกิดขึ้นมาจากใคร ทำให้โชคไม่ดีเกิดขึ้นกับชนผิวเอเชีย ไม่ว่าจะเป็นไทย จีน เวียดนาม เกาหลี อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์โดนหมด ซึ่งเหตุการณ์เหล่านี้ยังเกิดขึ้นต่อเนื่อง

นอกจากนี้ยังเกิดเหตุการณ์แบงก์ล้ม เริ่มต้นจากซิลิคอนวัลเลย์แบงก์ ที่ปล่อยกู้สตาร์ทอัพ คริปโต บิทคอยน์ ที่มีข่าวปล่อยออกมาว่าผู้ถือหุ้นแบงก์ขายหุ้นตัวเองออกหมด ซึ่งข่าวที่ออกไปก็ทำให้คนแห่เทขายหุ้นแบงก์ ลูกค้าผู้ฝากเงินแห่ถอนเงิน ทำให้แบงก์ล้ม

“มีคนไทยที่ฝากเงินที่อเมริกา ฝากไว้แค่แสนเหรียญ แต่ด้วยความตระหนกก็บินข้ามไปเพื่อจะถอนเงิน ก็จะมีเหตุการณ์เหล่านี้เกิดขึ้น เพราะกระทบด้านจิตวิทยาและความรู้สึก พอแบงก์ถูกคนรุมถอนเงิน แบงก์ก็ขาดสภาพคล่อง ประกอบกับทางธนาคารกลางสหรัฐฯ(เฟด)ก็พยายามที่จะคุมภาวะเงินเฟ้อให้อยู่ก็ขึ้นดอกเบี้ยมาเรื่อย ๆ จนกระทั่งกระดุกกระดิกไม่ออก ตอนนี้ดอกเบี้ยอยู่ที่ 5.00-5.25%  แต่มีโอกาสที่ปรับขึ้นอีก 1-2 ครั้งในเดือนที่เหลือของปีนี้”

 

 

อย่างไรก็ดีหลายภาคส่วนพูดตรงกันว่าเวลานี้เกิดภาวะเศรษฐกิจตกต่ำแล้วทั่วสหรัฐฯ  จะสังเกตเห็นว่าผู้คนบนถนนต่าง ๆ ลดน้อยลง จากคนประหยัดลง ไม่ใช้เงิน เมื่อทุกคนไม่ใช้ หรือลดการใช้เงินก็คือการรัดเข็มขัด เพราะค่าใช้จ่ายเขาคงที่ แต่ในหมวดสินค้าอาหาร โดยเฉพาะข้าว ที่เป็นสินค้าหมวดใหญ่ที่ทางกลุ่ม PJ US Group ทำตลาดอยู่ในสหรัฐฯได้รับการตอบรับที่ดีขึ้น เพราะข้าวอย่างไรคนก็ยังต้องรับประทาน ทำให้ทางกลุ่มกำลังเร่งโปรโมทและขยายตลาดข้าวร่วมกับทางกระทรวงพาณิชย์ในหลายเมือง

“ในช่วงนี้เกิดเหตุการณ์ที่รุนแรงมาก ช่วง 2 ปีที่ผ่านมาผมอยู่แต่ในบ้าน ไปออฟฟิศกลับมาบ้าน จากบ้านไปออฟฟิศ เฉพาะอย่างยิ่งฝั่งซานฟรานซิสโกไม่กล้าไป เพราะว่ามีทั้งอาชญากรรม มีทั้งการเหยียดผิว มีทั้งโฮมเลส (คนไร้บ้าน คนร่อนเร่) มีทั้งคนเสียสติ และหลาย ๆ เหตุการณ์ที่แย่"  

นอกจากนี้มีการคาดการณ์ว่าอาคารสำนักงาน ออฟฟิศต่าง ๆ ที่โดดเด่นในซานฟรานซิสโก ที่เป็นเมืองของนักลงทุนระดับบนย้ายออกหมด อีลอน มัสก์ ถึงขนาดทำนายว่า ออฟฟิศบิวดิ้งมูลค่าจะลงถึง 40% ซึ่งถือเป็นเรื่องใหญ่ เพราะอาคารสำนักงานพาณิชย์เหล่านี้เป็นคอเรสเตอรอลของธนาคาร ทำให้มูลค่าหรือหุ้นของธนาคารลดลงมา ซึ่งก่อนหน้าที่ซิลิคอน วัลเลย์แบงก์ถึงขั้นล้มละลาย คนแห่ถอนเงิน สาเหตุนี้เป็นส่วนหนึ่งที่สร้างความไม่แน่นอนต่อเนื่องมาถึง ณ ปัจจุบัน