“ฟอร์บส์”เปิดอันดับ 50 มหาเศรษฐีไทยปี 2023 "เจียรวนนท์” ครองแชมป์

06 ก.ค. 2566 | 02:57 น.
อัปเดตล่าสุด :07 ก.ค. 2566 | 05:21 น.

ฟอร์บส์ จัดอันดับความมั่งคั่ง 50 มหาเศรษฐีไทยปี 2023 “พี่น้องเจียรวนนท์” ยืนหนึ่งแชมป์อู้ฟู่สุด 1.18 ล้านล้าน! ตามด้วย "อยู่วิทยา-สิริวัฒนภักดี-จิราธิวัฒน์"

 

ในการจัด อันดับ 50 มหาเศรษฐีไทยปีล่าสุด 2023 นิตยสาร "ฟอร์บส์" เผยแพร่วานนี้ (5 มิ.ย.) ระบุ พี่น้องเจียรวนนท์ แห่งกลุ่มเจริญโภคภัณฑ์ยังคงครองอันดับหนึ่ง โดยเมื่อต้นปีที่ผ่านมา การควบรวมบริษัทโทรคมนาคม True ของพวกเขากับคู่แข่งคือ ดีแทค (Total Access Communications: DTAC) สำเร็จลุล่วงด้วยดี ก่อให้เกิดผลประโยชน์มหาศาล โดยความมั่งคั่งของสี่พี่น้อง ธนินท์, สุเมธ, จรัญ และมนตรีผู้ถึงแก่กรรมไปเมื่อเดือนสิงหาคมปี 2022 รวมถึงคนในครอบครัวเจียรวนนท์ รวมกันแล้วเพิ่มขึ้นอีก 7,500 ล้านดอลลาร์ สร้างสถิติใหม่ที่ 34,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือคิดเป็นเงินไทยราว 1.18 ล้านล้านบาท

ปีเดียวกันนี้ ยังเป็นปีที่ยิ่งใหญ่สำหรับเครื่องดื่ม Red Bull ซึ่งขายได้ราว 11,600 ล้านกระป๋องทั่วโลก สร้างรายได้กว่า 10,000 ล้านดอลลาร์ในปี 2022 เป็นแรงพลังที่นำให้ “เฉลิม อยู่วิทยา และครอบครัว” ยังคงรั้งมหาเศรษฐีอันดับสองของไทยด้วยมูลค่าทรัพย์สิน 33,400 ล้านดอลลาร์ (1.16 ล้านล้านบาท) ซึ่งเพิ่มขึ้น 7,000 ล้านดอลลาร์

“ฟอร์บส์” ระบุว่า โดยภาพรวมนั้น เศรษฐกิจประเทศไทยฟื้นตัวจากการกลับมาของนักท่องเที่ยว ซึ่งธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) ประมาณการ การเติบโตปีนี้อยู่ที่ 3.6% แม้การเมืองหลังการเลือกตั้งเมื่อเดือนพ.ค.จะยังมีความไม่แน่นอน แต่ ความมั่งคั่งรวมของ 50 มหาเศรษฐีไทย ก็ได้ขยับเพิ่มขึ้นเกือบ 15% คิดเป็นมูลค่ารวม 1.73 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ นอกจากนี้ ยังมีมหาเศรษฐีไทย 21 คนที่ทรัพย์สินเพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา (2022)

มาดูกันว่า 10 อันดับแรกมีใครกันบ้าง (ทำเนียบมหาเศรษฐีไทย ปี 2023)

สำหรับ 10 อันดับ มหาเศรษฐีไทย ประจำปี 2023 จัดโดยนิตยสารฟอร์บส์ ได้แก่

  • อันดับ 1: พี่น้องเจียรวนนท์ มูลค่าทรัพย์สินสุทธิ: 3.4 หมื่นล้านดอลลาร์ / 1.18 ล้านล้านบาท
  • อันดับ 2: เฉลิม อยู่วิทยา และครอบครัว มูลค่าทรัพย์สินสุทธิ: 3.34 หมื่นล้านดอลลาร์ / 1.16 ล้านล้านบาท
  • อันดับ 3: เจริญ สิริวัฒนภักดี  มูลค่าทรัพย์สินสุทธิ: 1.36 หมื่นล้านดอลลาร์ / 4.74 แสนล้านบาท
  • อันดับ 4: ครอบครัวจิราธิวัฒน์ มูลค่าทรัพย์สินสุทธิ: 1.24 หมื่นล้านดอลลาร์ / 4.32 แสนล้านบาท
  • อันดับ 5: สารัชถ์ รัตนาวะดี มูลค่าทรัพย์สินสุทธิ: 1.13 หมื่นล้านดอลลาร์/ 3.94 แสนล้านบาท
  • อันดับ 6: วานิช ไชยวรรณ มูลค่าทรัพย์สินสุทธิ: 3.9 พันล้านดอลลาร์ / 1.36 แสนล้านบาท
  • อันดับ 7: ปราเสริฐ ปราสาททองโอสถ มูลค่าทรัพย์สินสุทธิ: 3.8 พันล้านดอลลาร์ / 1.32 แสนล้านบาท
  • อันดับ 8: อัยยวัฒน์ ศรีวัฒนประภา และครอบครัว มูลค่าทรัพย์สินสุทธิ: 3.5 พันล้านดอลลาร์ / 1.22 แสนล้านบาท
  • อันดับ 9: สมโภชน์ อาหุนัย และครอบครัว มูลค่าทรัพย์สินสุทธิ: 3 พันล้านดอลลาร์ / 1.04 แสนล้านบาท
  • อันดับ 10: ครอบครัวโอสถานุเคราะห์ ​มูลค่าทรัพย์สินสุทธิ: 2.5 พันล้านดอลลาร์ / 8.72 หมื่นล้านบาท

ดูทั้งหมดของ 50 อันดับมหาเศรษฐีไทยประจำปี 2023 คลิกที่นี่

ทั้งนี้ มีมหาเศรษฐีสองรายที่มีเปอร์เซ็นต์ความร่ำรวยเพิ่มขึ้นอันเป็นอานิสงส์จากการกลับมาของนักช็อปต่างชาติ คือ

  • อัยยวัฒน์ ศรีวัฒนประภา และครอบครัว ซึ่งดำเนินกิจการกลุ่มบริษัทสินค้าปลอดภาษี King Power International ความมั่งคั่งของอัยยวัฒน์และครอบครัวเพิ่มขึ้นกว่าเท่าตัวมาอยู่ที่ 3,500 ล้านดอลลาร์ ทวงคืนตำแหน่งในสิบอันดับแรก (Top10)โดยเข้ามาอยู่ในอันดับที่ 8
  • ศุภลักษณ์ อัมพุช ผู้ปกครองอาณาจักรค้าปลีกของครอบครัวอย่าง The Mall Group ซึ่งเป็นเจ้าของห้างสรรพสินค้าชั้นนำมากมายรวมถึง Siam Paragon และ EmQuartier โดยเธอและครอบครัวมีความมั่งคั่ง 2,000 ล้านดอลลาร์ เพิ่มจากเดิมถึงสองเท่า

การกลับมาของกำลังซื้อของธุรกิจค้าปลีก ยังได้พาสองมหาเศรษฐีหน้าใหม่เข้าสู่ทำเนียบ ซึ่งคนแรกคือ ประดิษฐ์ ภัทรประสิทธิ์ อดีตรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง ที่ครอบครัวของเขาถือหุ้นใน The Mall Group และธุรกิจอื่นๆ ทำให้เขาได้เปิดตัวที่อันดับ 24 ด้วยทรัพย์สิน 1,400 ล้านดอลลาร์ ส่วนอีกรายคือ อนันท์ รักอริยะพงศ์ ผู้ก่อตั้งบริษัทเครื่องดื่ม SAPPE ที่มีการซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์ อยู่ที่อันดับ 50 กับมูลค่าทรัพย์สิน 590 ล้านดอลลาร์ บริษัทของพวกเขามาไกลจากจุดเริ่มต้นในการขายขนมแบบไทยๆ และคุกกี้เมื่อ 50 ปีก่อนโดยตั้งชื่อแบรนด์ว่า ปิยจิต ตามชื่อลูกสาวซึ่ง ณ ตอนนี้ดำรงตำแหน่งซีอีโอของ SAPPE

นอกจากนี้ การนำบริษัทเข้าตลาดหลักทรัพย์ ยังได้สร้างผลประโยชน์ให้สองมหาเศรษฐีบนทำเนียบ 50 มหาเศรษฐีไทย หนึ่งในนั้นคือ วานิช ไชยวรรณ ผู้มากด้วยประสบการณ์ในวงการประกัน บริษัท ไทยประกันชีวิต จำกัด (มหาชน) ของเขาเข้าสู่ตลาดหลักทรัพย์ในปีที่ผ่านมา โดยเป็นการ IPO ครั้งใหญ่ที่สุดของประเทศประจำปี 2022 ทำให้ความมั่งคั่งของเขาเพิ่มขึ้น 30% อยู่ที่ 3,900 ล้านดอลลาร์

ด้าน ชัยวัฒน์ แต้ไพสิฐพงษ์ ที่ถึงแก่กรรมเมื่อ 30 มิถุนายนที่ผ่านมา ชื่อของเขาหวนคืนสู่ทำเนียบหลังห่างหายไปสองปีอานิสงส์จากการที่กลุ่มบริษัทอาหารเบทาโกร (Betagro) ของเขา IPO ไปในเดือนตุลาคมปีที่ผ่านมาเช่นกัน

สถิติเกี่ยวกับความมั่งคั่งที่ "ลดลง"

การจัดอันดับ 50 มหาเศรษฐีไทยประจำปี 2023 ของฟอร์บส์ มีมหาเศรษฐีจำนวน 22 รายที่มีความมั่งคั่งลดลง โดยมี ประจักษ์ ตั้งคารวคุณ นักธุรกิจสีทาอาคาร เป็นผู้ที่มีมูลค่าทรัพย์สินสุทธิตกลงมากที่สุดเกือบ 30% เมื่อเทียบกับผู้ติดอันดับคนอื่นๆในทำเนียบ

และสืบเนื่องมาจากปัญหาที่เกี่ยวข้องกับบริษัทผู้ผลิตสายไฟและสายเคเบิ้ลของ Stark ซึ่งลูกชายของเขา วนรัชต์(ตั้งคารวคุณ)ได้ถือหุ้นอยู่ โดยหุ้น Stark พังยับเยินและถูกสั่งพักการซื้อขายหลังทางบริษัทไม่สามารถส่งงบการเงินให้กับทางตลาดหลักทรัพย์ได้ในเวลาที่กำหนดดังที่ปรากฏ

ฟอร์บส์ระบุว่า แม้เกณฑ์ต่ำสุดของการจัดอันดับครั้งนี้จะตกลงเหลือ 590 ล้านดอลลาร์ จากเดิม 655 ล้านดอลลาร์เมื่อปี 2022 แต่ก็มีมหาเศรษฐีจำนวนถึง 5 รายที่ต้องบอกลาทำเนียบไปในปีนี้

หมายเหตุวิธีการจัดทำอันดับ

ทำเนียบการจัดอันดับเรียบเรียงจากข้อมูลการถือหุ้นและการเงินของทั้งครอบครัวและรายบุคคล การซื้อขายและวิเคราะห์หุ้น ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย และหน่วยงานกำกับดูแลต่างๆ การจัดอันดับนี้แตกต่างจากการจัดอันดับมหาเศรษฐีอื่นๆ โดยจะนับทรัพย์สินของครอบครัวรวมถึงที่มีการแบ่งปันกันในวงศ์ตระกูลจากหลายๆ รุ่นมารวมด้วย ทรัพย์สินที่มีการเปิดเผยคำนวณจากราคาหุ้นและอัตราการแลกเปลี่ยน ณ วันที่ 16 มิถุนายน 2023 การประเมินมูลค่าบริษัทเอกชนอ้างอิงจากเปรียบเทียบกับบริษัทแบบเดียวกันที่มีการซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์

รายชื่อทั้งหมดยังรวมเอาชาวต่างชาติที่ดำเนินธุรกิจ พักอาศัย หรือมีพันธะอื่นๆ ในประเทศไทย รวมถึงพลเมืองที่ไม่ได้อาศัยอยู่ในประเทศไทย แต่มีธุรกิจหรือพันธะสำคัญกับประเทศไทย เอาไว้ด้วย

ข้อมูลอ้างอิง