นางอรมน ทรัพย์ทวีธรรม อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ เปิดเผยว่า ได้หารือกับผู้บริหารโครงการท่าบก (Dry Port) ท่านาแล้ง นครหลวงเวียงจันทร์ สปป.ถึงแนวทางการเชื่อมโยงและใช้ประโยชน์จากเส้นทางรถไฟสปป.ลาว-จีน พร้อมทั้งลงพื้นที่สำรวจท่าบกท่านาแล้ง และสถานีรถไฟเวียงจันทน์ใต้ ซึ่งเป็นจุดเปลี่ยนถ่ายสินค้าที่ส่งออกจากไทยผ่านด่านหนองคายไปยังสปป.ลาว เพื่อขึ้นรถไฟไปจีน
โดยนับตั้งแต่เส้นทางรถไฟจีน-ลาวเปิดให้บริการ เมื่อธันวาคม 2564 พบว่า ผู้ประกอบการไทยสามารถส่งออกผลไม้ไปจีนได้เพิ่มขึ้นมาก จากที่มูลค่าส่งออกจากไทยทางด่านหนองคายผ่านแดน สปป.ลาวไปจีน อยู่ที่ 90.41 ล้านบาท
ในปี 2564 แต่เมื่อเส้นทางรถไฟจีน-ลาว เริ่มเปิดใช้บริการ เมื่อธันวาคม 2564 มี มูลค่าส่งออกจากไทยทางด่านหนองคายผ่านแดนลาวไปจีน เพิ่มเป็น 1,964.89 ล้านบาท ในปี 2565 และเป็น 2,848.41 ล้านบาท ในช่วง 5 เดือนแรก (ม.ค.-พ.ค.) ของปี 2566 ซึ่ง 72% ของมูลค่าส่งออกดังกล่าว หรือ 2,073.18 ล้านบาท
เป็นการส่งออกทุเรียนสดจากไทยไปจีน ขยายตัว364.69% จากช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า สำหรับสินค้าอื่นที่ส่งออกจากไทยทางด่านหนองคาย เพื่อขึ้นรถไฟจีน-ลาว ไปจีน เช่น บะหมี่กึ่งสำเร็จรูป ปลายข้าวเหนียว ยางพารา แร่เฮมาไทต์และหัวแร่ เม็ดพลาสติก และสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ เป็นต้น
“ท่าบกท่านาแล้ง ตั้งอยู่ภายในเวียงจันทน์โลจิสติกพาร์ค เป็นหนึ่งในโครงการที่ลาวพัฒนาขึ้น เพื่อสนับสนุนยุทธศาสตร์การเปลี่ยนจากประเทศที่ไม่มีทางออกทะเล (landlocked) สู่ประเทศที่เชื่อมต่อทางพรมแดน (land-linked) ได้ โดยเป็นจุดอำนวยความสะดวกอย่างครบวงจรในการเปลี่ยนถ่ายสินค้าที่ขนส่งจากไทย ผ่านจุดผ่านแดนถาวรสะพานมิตรภาพไทย-สปป.ลาว แห่งที่ 1 (หนองคาย-นครหลวงเวียงจันทน์) เข้าสู่สปป.ลาว”
โดยสินค้าที่ผ่านเส้นทางนี้ ส่วนหนึ่งเพื่อเข้าสู่ตลาดสปป.ลาว และอีกส่วนหนึ่งเพื่อขึ้นรถไฟจีน-ลาว สู่ตลาดจีน โดยรถไฟจีน-ลาว ได้ช่วยลดระยะเวลาการขนส่งลงอย่างมาก จากที่เคยใช้เวลาผ่านถนนเส้นทาง R3A ประมาณ 2 วัน เพื่อไปจีน เป็นใช้เวลาบนรถไฟไม่เกิน 15 ชั่วโมง ซึ่งปัจจุบันรถไฟจีน-ลาว มีขบวนขนส่งสินค้าเข้า-ออก 14 ขบวนต่อวัน ขาเข้าและขาออกอย่างละ 7 ขบวน ซึ่งนับตั้งแต่จีนสร้างจุดตรวจเช็คด้านสุขอนามัยและสุขอนามัยพืช ที่ด่านรถไฟโม่ฮานแล้วเสร็จ และเปิดให้นำเข้าผลไม้จากไทย เมื่อวันที่ 30 พฤศจิกายน 2565 ส่งผลให้ไทยสามารถส่งออกผลไม้สด โดยเฉพาะทุเรียนไปจีน โดยใช้เส้นทางรถไฟจีน-ลาวได้มากขึ้น
ในช่วง 5 เดือนแรกของปี 2566 (ม.ค.-พ.ค.) นอกจากทุเรียน ซึ่งเป็นผลไม้ส่งออกอันดับ 1 ของไทยไปจีน (2,091.58 ล้านบาท) ขยายตัว28.23% แล้ว ปัจจุบันยังมีผลไม้สดของไทยชนิดอื่นที่มีแนวโน้มทำตลาดได้ดีในจีน เช่น การส่งออกมะม่วงของไทยไปจีน มีมูลค่า 1.4 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ขยายตัว218.35% สับปะรด มูลค่า 6.24 ล้านดอลลาร์สหรัฐขยายตัว 84.04% ลำไย 108.2 ล้านดอลลาร์สหรัฐขยายตัว8.82% และมังคุด 219.5 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ขยายตัว 4.18% เป็นต้น แสดงให้เห็นว่าผลไม้ไทยได้รับความนิยมในผู้บริโภคชาวจีนเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง
ดังนั้น เกษตรกรและผู้ประกอบการส่งออกผลไม้ไทย อาจใช้โอกาสทำตลาดเพิ่มการส่งออกผลไม้ประเภทอื่นๆ ไปจีน รวมทั้งใช้ประโยชน์จาก FTA ทั้งกรอบอาเซียน-จีน (ACFTA) และความตกลง RCEP ซึ่งจีนไม่เก็บภาษีนำเข้ากับสินค้าผลไม้ที่ส่งออกจากไทยแล้ว ทั้งนี้ ในช่วง 4 เดือนแรก (ม.ค.-เม.ย.) ของปี 2566 ผู้ประกอบการไทยได้ใช้สิทธิ์ความตกลงอาเซียน-จีน (ACFTA) ส่งออกทุเรียนสดไปจีน มูลค่า 2,022 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และใช้สิทธิ์ความตกลง RCEP ส่งออก มูลค่า 7.5 ล้านดอลลาร์สหรัฐ
ทั้งนี้ สปป.ลาว เป็นคู่ค้าอันดับ 8 ของไทยในอาเซียน และเป็นอันดับที่ 20 ของโลก โดยในปี 2565 การค้าระหว่างไทย-สปป.ลาว มูลค่า 7,879.15 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ขยายตัว8.52% จากปี 2564 โดยเป็นการส่งออก มูลค่า 4,540 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ขยายตัว 13.47% สินค้าส่งออกสำคัญ ได้แก่ น้ำมันสำเร็จรูป อัญมณีและเครื่องประดับ น้ำตาลทราย และเคมีภัณฑ์ และเป็นการนำเข้า มูลค่า 3,339.15 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ขยายตัว2.43%
สินค้านำเข้าสำคัญ ได้แก่ เชื้อเพลิงอื่นๆ เครื่องเพชรพลอย อัญมณี และเงินแท่งและทองคำ และสำหรับในช่วง 5 เดือนแรกของปี 2566 มูลค่าระหว่างไทยกับสปป.ลาว อยู่ที่ 3,286.56 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เป็นการส่งออกจากไทย 1,994.83 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และนำเข้าจากลาว 1,291.73 ล้านดอลลาร์สหรัฐ