ธนาคารโลก เปิดเผยรายงานตามติด เศรษฐกิจไทย หัวข้อ "สร้างอนาคตที่คล่องตัว: รับมือ ภัยแล้ง และ อุทกภัย (Coping with Floods and Droughts in Thailand)" ประจำเดือนมิ.ย.2566 โดยระบุว่า ประเทศไทยมีความเสี่ยงสูงต่อการเผชิญเหตุอุทกภัย (น้ำท่วม) และภัยแล้ง เช่นเดียวกับหลายประเทศในกลุ่มอาเซียน โดยตลอดช่วงหลายทศวรรษที่ผ่านมา ไทยเผชิญเหตุน้ำท่วมและภัยแล้งบ่อยครั้ง และ ปัจจุบันติดอันดับ 9 ของโลกบนดัชนี INFORM ซึ่งเป็นดัชนีความเสี่ยงด้านน้ำท่วม ตามหลังเวียดนาม เมียนมา และกัมพูชา
รายงานของธนาคารโลกระบุ ย้อนไปในปี 2554 เหตุน้ำท่วมใหญ่ในไทยทำให้มีผู้เสียชีวิต 680 ราย ประชาชนเกือบ 13 ล้านคนได้รับความเดือดร้อน รวมถึงสร้างความเสียหายและความสูญเสียต่อเศรษฐกิจคิดเป็นมูลค่า 1.43 ล้านล้านบาท (4.65 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ) หรือเทียบเท่า 12.6% ของ GDP ไทย
ทั้งนี้ กรุงเทพและแหล่งอุตสาหกรรมส่งออกในบริเวณใกล้เคียงยังคงเผชิญความเสี่ยงต่อเหตุน้ำท่วมเป็นพิเศษ แม้มีการออกมาตรการควบคุมน้ำท่วม แต่ในขณะเดียวกันไทยก็ยังคงเผชิญภาวะภัยแล้งบ่อยครั้งจากปัจจัยหลายประการ เช่น ฝนแล้งและการจัดการดินที่ย่ำแย่
แนวโน้มอนาคตยิ่งเลวร้ายมากขึ้น
รายงานระบุว่า การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศจะทำให้เกิดอุทุกภัยบ่อยครั้งและรุนแรงยิ่งขึ้นในช่วงหลายทศวรรษข้างหน้า โดยการเปลี่ยนแปลงไปของรูปแบบสภาพอากาศที่เป็นผลจากการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศโลกจะทำให้เหตุน้ำท่วมสร้างผลกระทบมากขึ้น
โดยรายงานคาดการณ์ปัจจุบันชี้ว่า ไทยจะเผชิญอัตราฝนรายปีเพิ่มมากขึ้น ยิ่งไปกว่านั้น ฝนมีแนวโน้มจะตกเพิ่มขึ้นในช่วงฤดูฝน ซึ่งบ่งชี้ว่าความเสี่ยงที่จะเกิดน้ำท่วมก็เพิ่มสูงขึ้นตามไปด้วย
นอกจากนี้ ค่าเฉลี่ยจากการคาดการณ์สภาพอากาศในอนาคตบ่งชี้ว่า อุณหภูมิเฉลี่ยรายวันในไทยอาจเพิ่มขึ้น 1.8 องศาเซลเซียสภายในปีพ.ศ. 2593
ธนาคารโลกระบุว่า ความเสียหายด้านเศรษฐกิจมหภาคที่เกิดจากเหตุการณ์น้ำท่วมจะเพิ่มสูงขึ้น โดยเหตุน้ำท่วมครั้งใหญ่ระดับ 1 ในรอบ 50 ปี (เช่นเหตุน้ำท่วมปี 2554) หากเกิดข้นอีกในปี 2573 นั้น ก็อาจจะทำให้เกิดความสูญเสียทางเศรษฐกิจกว่า 10% ของ GDP จากผลพวงของการสูญเสียด้านการผลิต
รายงานฉบับนี้ จึงเป็นการส่งสัญญาณเตือนให้เห็นถึงความเสี่ยงและความเป็นไปได้เกี่ยวกับความเสียหายที่อาจเกิดขึ้นทั้งจากภัยน้ำท่วมและภัยแล้งของไทย ถึงแม้ว่าภาครัฐจะมีความคืบหน้าในการรับมือกับภัยธรรมชาติทั้งสองรูปแบบนี้บ้างแล้ว แต่ก็ยังมีความท้าทายอีกมาก ยกตัวอย่างเช่น พระราชบัญญัติทรัพยากรน้ำที่ยังไม่เสร็จสมบูรณ์ รวมไปถึงความท้าทายด้านเงินทุนและทรัพยากรบุคคล
ข้อมูลอ้างอิง