จากกรณี กระทรวงการคลัง เปิดเผยรายงาน เรื่อง การประเมินรายได้และรายจ่ายภาครัฐของประเทศไทย : การส่งเสริมอนาคตที่ทั่วถึงและยั่งยืน จัดทำโดยธนาคารโลก ซึ่งประเมินไทยออกมาตรการฟื้นฟูเศรษฐกิจหลังสถานการณ์โควิด-19 ได้เหมาะสมนั้น ล่าสุด พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม รับทราบรายงานและข้อเสนอจากธนาคารโลก แล้ว
นายกฯ ประยุทธ์ ยินดีรายงานธนาคารโลก
นายอนุชา บูรพชัยศรี รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง ปฏิบัติหน้าที่โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า พล.อ.ประยุทธ์ รับทราบรายงานและข้อเสนอจากธนาคารโลก (World Bank) พร้อมยินดีที่ธนาคารโลกมองว่า นโยบายการคลังในช่วงก่อนการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ของไทย มีความสมเหตุสมผล และดำเนินนโยบายที่ส่งเสริมให้เศรษฐกิจขยายตัว
“นายกรัฐมนตรี ยินดีที่ธนาคารโลกประเมินการดำเนินนโยบายของไทยในการกระตุ้นเศรษฐกิจภายหลังการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 มีความเหมาะสม โดยการดำเนินนโยบายและมาตรการต่าง ๆ มุ่งนำไปใช้กระตุ้นเศรษฐกิจ บรรเทาภาระของประชาชน และเตรียมการรับมือกับภัยทางด้านสาธารณสุข รัฐบาลรับฟังข้อเสนอของธนาคารโลก และติดตามสถานการณ์เศรษฐกิจอย่างใกล้ชิด รวมทั้งประเมินและพร้อมปรับปรุงนโยบายและมาตรการเพื่อการพัฒนาประเทศต่อไป”
สาระสำคัญรายงานธนาคารโลก
สำหรับรายงานของธนาคารโลกฉบับนี้ ระบุว่า ประเทศไทยเผชิญกับความท้าทายจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ซึ่งมีการใช้มาตรการจำกัดการเดินทาง ทำให้ส่งผลต่อภาคการท่องเที่ยวและเศรษฐกิจเกิดการหดตัว แต่ในช่วงไตรมาสที่ 3 ของปี 2565 ประเทศไทยสามารถกลับมาฟื้นฟูเศรษฐกิจให้เทียบเท่ากับช่วงก่อนเกิดการแพร่ระบาดของโควิด-19
อีกทั้ง ยังระบุว่า มาตรการทางการเงินและการคลังของไทย มีส่วนทำให้เศรษฐกิจฟื้นตัวได้ดีกว่า เมื่อเทียบกับประเทศส่วนใหญ่ในภูมิภาค โดยไทยดำเนินมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจจำนวน 1.56 ล้านล้านบาท เพื่อนำมาใช้ในส่วนที่สำคัญหลัก ๆ 3 เรื่อง ได้แก่ การใช้จ่ายทางด้านสาธารณสุข การบรรเทาภาระทางการเงินให้แก่ประชาชน และการฟื้นฟูเศรษฐกิจ
พร้อมกันนี้ ธนาคารโลก มองว่า การดำเนินนโยบายและมาตรการของรัฐบาลในการช่วยเหลือภาคเอกชน กลุ่มธุรกิจ SME กลุ่มเปราะบาง แรงงานนอกระบบ และเกษตรกร รวมถึงการนำงบประมาณมาใช้จ่ายในมาตรการทางด้านสาธารณสุข เป็นส่วนสำคัญที่ทำให้เศรษฐกิจไทยฟื้นตัวได้
เสนอรับมือภาระทางการคลังระยะยาว
ธนาคารโลก มีข้อเสนอว่า รัฐบาลควรเตรียมรับมือภาระทางการคลังที่เกิดจากการใช้จ่ายที่จำเป็น และในระยะยาว ควรนำงบประมาณไปใช้จ่ายในการช่วยเหลือทางสังคมแก่กลุ่มเปราะบางมากขึ้น พัฒนาคุณภาพการศึกษา เตรียมการรับมือกับการเพิ่มสูงขึ้นของผู้สูงวัย และสภาพภูมิอากาศที่เปลี่ยนแปลง การลงทุนในด้านเหล่านี้ จะที่ทำให้เกิดการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ การลดความเหลื่อมล้ำ และเกิดการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ
นอกจากนี้ รัฐบาลจะต้องดำเนินนโยบายบริหารหนี้สาธารณะอย่างยั่งยืน รวมถึงการปรับปรุงการจัดเก็บรายได้ภาครัฐ ผ่านการปฏิรูประบบภาษี ปรับปรุงอัตราภาษีมูลค่าเพิ่ม ขยายฐานภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา และการจัดเก็บภาษีทรัพย์สิน