เวิลด์แบงก์เตือนไทยเร่งเพิ่มการจัดเก็บรายได้ สนองการใช้จ่ายที่พุ่งขึ้น

29 พ.ค. 2566 | 23:59 น.
อัปเดตล่าสุด :30 พ.ค. 2566 | 00:29 น.

ธนาคารโลกเปิดตัวรายงาน “การประเมินรายได้และรายจ่ายภาครัฐของประเทศไทย: การส่งเสริมอนาคตที่ทั่วถึงและยั่งยืน” ซึ่งประเมินทางเลือกเชิงนโยบายเพื่อส่งเสริมความยั่งยืนทางการคลังของไทย ท่ามกลางความต้องการใช้จ่ายที่สูงขึ้น

 

ธนาคารโลก (เวิลด์แบงก์) เปิดตัว รายงานการประเมินรายได้และรายจ่ายภาครัฐของประเทศไทย เมื่อวันจันทร์ (29 พ.ค.) โดยระบุว่า หลังจากที่มีการใช้นโยบายการคลังขนานใหญ่ในการรับมือผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ขณะนี้ประเทศไทยจำเป็นต้องเตรียมรับมือกับ การใช้จ่ายภาครัฐ ที่เพิ่มสูงขึ้น อีกทั้งยังต้องควบคุมระดับ หนี้สาธารณะ ไม่ให้สูงเกินไป

ทั้งนี้ หลังจากดำเนินมาตรการทางการคลังจำนวนมากเพื่อรับมือกับสถานการณ์ของโควิด-19 รัฐบาลไทยกำลังเผชิญกับ “ความท้าทายระยะปานกลาง” ในการลดระดับการขาดดุลการคลังและหนี้สาธารณะที่เพิ่มสูงขึ้น รวมถึงความท้าทายเชิงโครงสร้างเพื่อตอบสนองความต้องการใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้น ซึ่งรวมถึงค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวกับผู้สูงอายุ ในขณะที่ยังคงต้องรักษาความยั่งยืนทางการคลังเอาไว้ด้วย

ภายใต้กรอบดังกล่าว รายงานฉบับนี้ได้นำเสนอข้อแนะนำหลายประการ เพื่อปรับปรุงประสิทธิภาพการใช้จ่ายของไทย ทั้งในด้านสาธารณสุข การศึกษา และความคุ้มครองทางสังคม อีกทั้งยังประเมินนโยบายการคลังที่สามารถนำไปสู่การบรรลุเป้าหมายการบรรเทาปัญหาและการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศอย่างละเอียดด้วย

รายงานการประเมินรายได้และรายจ่ายภาครัฐของประเทศไทย – การส่งเสริมอนาคตที่ทั่วถึงและยั่งยืน ระบุถึงแนวทางปฏิรูปที่จำเป็นเพื่อรับมือกับปัจจัยสำคัญที่ส่งผลกระทบต่อการใช้จ่ายภาครัฐ โดยปัจจัยท้าทายเหล่านี้ รวมถึงการเข้าสู่สังคมสูงวัย ซึ่งจะเพิ่มค่าใช้จ่ายในด้านบำนาญ สวัสดิการผู้สูงอายุ และสวัสดิการการรักษาพยาบาลซึ่งเป็นข้อจำกัดของการเติบโตทางเศรษฐกิจ

บางด้านก็จำเป็นต้องเพิ่มการใช้จ่าย

รายงานฉบันนี้ให้ความสำคัญกับการเพิ่มการใช้จ่ายภาครัฐในด้านความช่วยเหลือทางสังคม การศึกษา และการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ

โดยระบุว่า นโยบายเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ รวมถึงนโยบายช่วยเหลือทางการเงินต่างๆ ยังเป็นการให้ความช่วยเหลือที่อยู่ในระดับต่ำเมื่อเทียบกับมาตรฐานสากล นอกจากนี้ การจัดสรรงบประมาณด้านการศึกษาต่อจำนวนนักเรียนในระดับอนุบาลและระดับมัธยมศึกษายังอยู่ในระดับต่ำกว่าเกณฑ์มาตรฐานสากลเช่นกัน ดังนั้น การเพิ่มการใช้จ่ายภาครัฐในด้านเหล่านี้ สามารถส่งเสริมความเท่าเทียมและการพัฒนาทุนมนุษย์ นอกจากนี้ การลงทุนอย่างมีนัยสำคัญในด้านการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ก็มีความจำเป็นอย่างยิ่งสำหรับประเทศไทย เพื่อการลดผลกระทบที่จะเกิดจากอุทกภัย วาตภัย และการกัดเซาะชายฝั่ง ซึ่งมีความถี่และความรุนแรงมากขึ้นในอนาคต

รายงานของเวิลด์แบงก์ ยังระบุด้วยว่า ถึงแม้หนี้สาธารณะของไทยจะมีการปรับตัวสูงขึ้นจากการรับมือผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ก็ตาม แต่ความเสี่ยงทางด้านการคลังของประเทศไทย ยังคงอยู่ในระดับที่สามารถบริหารจัดการได้ โดยรายงานฉบับนี้มีข้อเสนอแนะว่า ในระยะสั้น รัฐบาลสามารถเพิ่มการใช้จ่ายเพื่อพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและด้านที่รัฐบาลมุ่งเน้นให้ความสำคัญ โดยสามารถบริหารจัดการการใช้จ่ายในด้านอื่นๆ ให้เหมาะสม

เปรียบเทียบหนี้สาธารณะของไทยกับประเทศอื่นๆในอาเซียน

โควิดกับหนี้สาธารณะและผลกระทบเศรษฐกิจไทย

รายงานระบุว่า โรคโควิด-19 เข้ามาระบาดในช่วงที่การขยายตัวทางเศรษฐกิจไทยเกิดการชะลอตัวแล้ว จากที่ขยายตัวในอัตราเฉลี่ยร้อยละ 7.7 ต่อปี ในช่วงปี พ.ศ. 2523-2539 โดยในช่วงทศวรรษที่ผ่านมาจนถึงปี พ.ศ. 2562 การขยายตัวของ GDP ชะลอตัวลงเหลือเพียงเฉลี่ยร้อยละ 3.3 ต่อปี แต่การที่ไทยมีวินัยในการใช้จ่ายจากนโยบายการคลังแบบอนุรักษ์นิยม โดยมีการขาดดุลงบประมาณในช่วงปี พ.ศ. 2554 ถึง 2562 อยู่ในช่วงร้อยละ +1 ถึง -1 ของ GDP ทำให้รัฐบาลมีพื้นที่ทางการคลังในการแก้ไขปัญหาการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 โดยไทยเป็นหนึ่งในประเทศที่มีมาตรการทางการคลังขนาดใหญ่ที่สุดในภูมิภาค

การประกาศมาตรการทางการคลังเพิ่มเติมมูลค่า 1.52 แสนล้านบาท (เกือบร้อยละ 1 ของ GDP)ในปีงบประมาณ พ.ศ. 2565 เพื่อบรรเทาค่าครองชีพที่สูงขึ้นอันเนื่องมาจากสงครามในยูเครน ส่งผลให้แผนการลดรายจ่ายภาครัฐต้องล่าช้าออกไป

มาตรการทางการคลังดังกล่าวทำให้หนี้สาธารณะเพิ่มขึ้นราวร้อยละ 20 ของ GDP ในช่วงก่อนการระบาด นโยบายการคลังแบบอนุรักษ์นิยมของไทยทำให้หนี้สาธารณะลดลงตั้งแต่ต้นทศวรรษที่ 2000 (พ.ศ. 2543) ในปี พ.ศ. 2562 ระดับหนี้สาธารณะที่ร้อยละ 41 ของ GDP นับว่าอยู่ในระดับปานกลางเมื่อเปรียบเทียบกับเกณฑ์มาตรฐานในระดับภูมิภาคและระดับโลก แต่การระบาดของโรคโควิด-19 ทำให้หนี้สาธารณะพุ่งขึ้นมาอยู่ในระดับที่สูงกว่าร้อยละ 60 ของ GDP เป็นครั้งแรกในรอบ 20 ปี

ในการนี้ เพื่อเป็นการรองรับนโยบายที่มีความจำเป็นเร่งด่วน จึงต้องมีการเปลี่ยนแปลงหลักเกณฑ์ทางการคลังเป็นการชั่วคราวรวมถึงการเพิ่มเพดานหนี้สาธารณะจากร้อยละ 60 เป็นร้อยละ 70 ของ GDP เพื่อช่วยให้รัฐบาลสามารถใช้เงินกู้จำนวน 1.5 ล้านล้านบาทที่ได้รับอนุมัติไว้สำหรับแก้ไขปัญหาการระบาดของโรคโควิด-19 ในช่วงปีงบประมาณ พ.ศ. 2563-2565 ได้อย่างเต็มที่ แม้ว่าหนี้สาธารณะจะเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วตั้งแต่ปี พ.ศ. 2562 แต่ก็ยังอยู่ในระดับที่ค่อนข้างจำกัดเมื่อเปรียบเทียบกับประเทศอื่นๆในภูมิภาค

ขอให้เพิ่มประสิทธิภาพทางการคลัง

แม้ว่าหนี้สาธารณะจะเพิ่มสูงขึ้นเป็นประวัติการณ์ แต่ก็มีหลายปัจจัยที่ช่วยลดความเสี่ยงทางการคลังนี้ได้ หนี้สาธารณะของประเทศไทยเกือบทั้งหมดอยู่ในสกุลเงินบาท และความต้องการถือครองพันธบัตรรัฐบาลในสกุลเงินบาทของคนในประเทศยังสามารถรองรับการออกพันธบัตรของรัฐบาลได้ ด้วยหนี้สาธารณะส่วนใหญ่ถือครองโดยคนไทย ซึ่งจำกัดความเสี่ยงจากปัจจัยภายนอกที่จะทำให้เกิดเงินทุนไหลออกและการอ่อนค่าของอัตราแลกเปลี่ยน และแม้หนี้สาธารณะจะเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วตั้งแต่ปี พ.ศ. 2562 แต่ยังคงอยู่ในระดับที่จำกัดเมื่อเปรียบเทียบกับประเทศในภูมิภาค อีกทั้งอัตราดอกเบี้ยก็ไม่ได้เพิ่มขึ้นมากนัก (ณ สิ้นปี พ.ศ. 2565)

อย่างไรก็ตาม ตามที่รัฐบาลได้ตระหนักแล้วว่าจำเป็นต้องมีการเพิ่มประสิทธิภาพทางการคลัง (หรือการรัดเข็มขัดทางการคลัง) ในระยะปานกลาง ทั้งนี้ ในกรณีไม่มีการรัดเข็มขัดทางการคลัง ซึ่งดุลการคลังเบื้องต้นยังคงอยู่ที่ระดับเฉลี่ยในช่วงระหว่างปีงบประมาณ พ.ศ. 2563 ถึงปีงบประมาณ พ.ศ. 2565 ที่ประมาณร้อยละ 4.4ของ GDP และเมื่อพิจารณาจากสมมติฐานการขยายตัวทางเศรษฐกิจและอัตราดอกเบี้ยในปัจจุบันแล้ว หนี้สาธารณะจะเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วไปสู่ระดับที่ไม่มีความยั่งยืน ดังนั้น ในระยะปานกลางจึงจำเป็นต้องลดระดับการขาดดุลลงจากปัจจุบัน นอกจากนี้ ต้นทุนทางการคลังและความเสี่ยงจากการที่หนี้สาธารณะอยู่ในระดับประมาณร้อยละ 60 ของ GDP สูงกว่าที่ประเทศไทยเคยเผชิญในช่วงก่อนการระบาด

ในสถานการณ์ที่เศรษฐกิจต้องการการสนับสนุนทางการคลังเพิ่มเติม รัฐบาลสามารถชะลอการรัดเข็มขัดทางการคลังในระยะ 2 – 3 ปีข้างหน้าได้โดยไม่กระทบกับความยั่งยืนของหนี้สาธารณะ

ผลการวิเคราะห์ด้วยแบบจำลองเศรษฐกิจมหภาคเชิงโครงสร้างแบบกำหนดเอง (customized macro-structural model) แสดงให้เห็นว่า การเพิ่มรายจ่ายลงทุนภาครัฐในระยะปานกลางจากระดับปัจจุบัน จะช่วยให้การรัดเข็มขัดทางการคลังเกิดผลดีต่อการขยายตัวทางเศรษฐกิจเพิ่มขึ้น ในบริบทที่การฟื้นตัวทางเศรษฐกิจยังคงอ่อนไหว เนื่องจากผลกระทบครั้งล่าสุดนี้ การเพิ่มรายจ่ายลงทุนภาครัฐจากร้อยละ 2.6 ของ GDP (ค่าเฉลี่ยรายปี ปี พ.ศ. 2560-2565)เป็นร้อยละ 3.3 ต่อปี ในช่วงปี พ.ศ. 2566-2571 จะช่วยสนับสนุนอุปสงค์ภายในประเทศในระยะสั้น ซึ่งจะส่งผลกระทบแบบทวีคูณเนื่องจากมีการใช้จ่ายหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจ

 

การเข้าสู่สังคมสูงวัยจะทำให้ความต้องการใช้จ่ายภาครัฐเพิ่มขึ้นผ่านเงินบำนาญและค่ารักษาพยาบาลที่เพิ่มขึ้น

เตรียมพร้อมเข้าสู่สังคมสูงวัย

เมื่อมองไปข้างหน้าจนถึงช่วงหลังการระบาดของโรคโควิด-19 ความต้องการใช้จ่ายของภาครัฐจะเพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับระดับก่อนเกิดการแพร่ระบาดของโควิด-19 เนื่องจากจำนวนประชากรสูงวัยที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว ประชากรสูงวัยที่มากขึ้นจะจำกัดศักยภาพของการขยายตัวทางเศรษฐกิจ ซึ่งหากไม่มีมาตรการรองรับจะทำให้รักษาความยั่งยืนทางการคลังได้ยากขึ้น การคาดการณ์ในระยะยาวแสดงให้เห็นว่า การขยายตัวทางเศรษฐกิจของไทยจะลดลงระหว่างปี พ.ศ. 2563 ถึง พ.ศ. 2593

การเข้าสู่สังคมสูงวัยจะทำให้ความต้องการใช้จ่ายภาครัฐเพิ่มขึ้นผ่านเงินบำนาญและค่ารักษาพยาบาลที่เพิ่มขึ้น จำนวนผู้ที่มีอายุ 60 ปีขึ้นไป กำลังเพิ่มขึ้นและแนวโน้มนี้จะดำเนินต่อเนื่องไปจนถึงปี พ.ศ. 2593 ภายใต้การประมาณการในกรณีฐานต้นทุนทางการคลังของเบี้ยผู้สูงอายุ และเงินบำนาญข้าราชการคาดว่าจะเพิ่มขึ้นจากร้อยละ 1.8 ของ GDP ในปี พ.ศ. 2562 เป็น ร้อยละ 3.5 ในปี พ.ศ. 2593 โดยมีสมมติฐานว่าขนาดของผลประโยชน์ต่อหัวเพิ่มขึ้นตาม GDP ต่อหัว ต้นทุนรวมทางการคลังของค่ารักษาพยาบาลคาดว่าจะเพิ่มขึ้นจากร้อยละ 2.8 ของ GDP เป็นร้อยละ 3.5 ในช่วงเวลาเดียวกัน เนื่องจากอุบัติการณ์ของโรคไม่ติดต่อยังคงเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวข้องกับเทคโนโลยีและขั้นตอนทางการแพทย์ใหม่ ๆ เพิ่มขึ้น และจำนวนผู้สูงอายุที่เพิ่มขึ้น ทำให้เกิดความต้องการใช้จ่ายในการรักษาพยาบาลเพิ่มเติม

รายงานของเวิลด์แบงก์ฉบับนี้เสนอแนะว่า ภาครัฐมีความจำเป็นต้องเพิ่มการจัดเก็บรายได้ขึ้นอย่างมาก เพื่อตอบสนองความต้องการใช้จ่ายดังที่กล่าวไว้ข้างต้น ขณะเดียวกันก็ยังคงต้องรักษาความยั่งยืนทางการคลัง หากไม่มีการปฏิรูปด้านรายได้จะทำให้การใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้นทั้งในด้านความช่วยเหลือทางสังคม การศึกษา และการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศตามที่ระบุไว้ข้างต้น แม้จะมีการปรับปรุงประสิทธิภาพการใช้จ่ายเท่าที่เป็นไปได้แล้วก็ตาม อาจจะยังทำให้เกิดการขาดดุลการคลังเกินร้อยละ 8 ของ GDP และในระยะยาว หนี้สาธารณะจะเพิ่มขึ้นไปสู่ระดับที่ไม่ยั่งยืน

รายงานระบุว่า ในขณะที่มีความจำเป็นต้องเพิ่มการจัดเก็บรายได้ ประเทศไทยยังพอมีพื้นที่ทางการคลังสำหรับเพิ่มการใช้จ่ายในด้านที่สำคัญได้ในทันที โดยสามารถดำเนินการปฏิรูปด้านรายได้อย่างค่อยเป็นค่อยไป

อย่างไรก็ตาม ผลลัพธ์ทางการคลังในระยะยาวจะขึ้นอยู่กับการขยายตัวทางเศรษฐกิจ หากการขยายตัวของ GDP แท้จริงเฉลี่ยอยู่ที่ร้อยละ 2 ต่อปี แทนที่จะเป็นร้อยละ 2.5 ตามที่คาดการณ์ไว้ในกรณีฐานเนื่องจากการลงทุนภาครัฐหรือภาคเอกชนลดลงต่ำกว่าที่คาดไว้ ผลกระทบของการเข้าสู่สังคมผู้สูงวัยที่มากขึ้นต่อกำลังแรงงาน หรือการขยายตัวของผลิตภาพการผลิตรวมที่ไม่เพิ่มขึ้น หนี้สาธารณะอาจเพิ่มขึ้นเกือบร้อยละ 70 ของ GDP ภายในปี พ.ศ. 2593 หลังจากพิจารณาผลกระทบของการปฏิรูปด้านรายได้และการใช้จ่ายทั้งหมด ในทางกลับกัน การขยายตัวเฉลี่ยที่เร็วขึ้นเป็นร้อยละ 3 ต่อปีจะช่วยสร้างความมั่นใจว่าจะสามารถรักษาความยั่งยืนทางการคลังในระยะยาวได้ แม้ว่าจะไม่ได้ขจัดความจำเป็นในการปฏิรูปด้านรายได้ออกไป

การรักษาความยั่งยืนทางการคลัง

ในระยะยาวนั้น การรับมือกับภาระทางการคลังที่จะเกิดจากการใช้จ่ายที่จำเป็น พร้อมกับบริหารหนี้สาธารณะให้อยู่ในระดับที่มีความยั่งยืนนั้น จะต้องอาศัยการจัดเก็บรายได้ภาครัฐที่เพิ่มขึ้น

นายฟาบริซิโอ ซาร์โคเน ผู้จัดการธนาคารโลกประจำประเทศไทย ระบุว่า “ประเทศไทยสามารถปฏิรูปเศรษฐกิจให้มีความเท่าเทียมและความยืดหยุ่นมากขึ้นได้โดยการเพิ่มประสิทธิภาพการใช้จ่ายภาครัฐ การเพิ่มการจัดเก็บรายได้ภาครัฐ และการใช้นโยบายช่วยเหลือกลุ่มเปราะบางและนโยบายที่เกี่ยวกับการรับมือการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ โดยธนาคารโลกพร้อมให้การสนับสนุนการปฏิรูปทางการคลังของประเทศไทยเพื่อให้สามารถบรรลุเป้าหมายเหล่านี้”

รายงานของเวิลด์แบงก์ยังได้ นำเสนอการปฏิรูปภาษีแบบก้าวหน้า ซึ่งเมื่อนำแต่ละวิธีมารวมกันจะสามารถเพิ่มรายได้ได้ราวร้อยละ 3.5 ของผลิตภัณฑ์รวมในประเทศ ประกอบด้วย

  1. การขึ้นอัตราภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) และยกเลิกการยกเว้นต่างๆ
  2. การขยายฐานภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาและลดเงื่อนไขการลดหย่อนภาษีและการหักค่าใช้จ่าย และ
  3. การขยายการจัดเก็บภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง

โดยหากมีการดำเนินการอย่างค่อยเป็นค่อยไปในช่วงที่เหลือของทศวรรษนี้ การปฏิรูปเหล่านี้จะส่งเสริมความให้เกิดความเท่าเทียมและเพิ่มศักยภาพการจัดเก็บรายได้ภาครัฐเพื่อรองรับการใช้จ่ายภาครัฐที่เพิ่มขึ้น โดยผลกระทบของการปฏิรูปด้านภาษีต่อผู้มีรายได้น้อยและคนยากจนสามารถได้รับการทดแทนโดยนโยบายและมาตรการช่วยเหลือทางสังคมต่างๆ ซึ่งยังส่งผลให้สถานะทางการคลังของรัฐบาลดีขึ้น

รายงานยังระบุว่า การปรับขึ้นอัตราภาษีมูลค่าเพิ่มและการยกเว้น สามารถเพิ่มรายได้ภาษีได้เป็นจำนวนมาก และยังสามารถมีความก้าวหน้าได้ด้วย ภาษีมูลค่าเพิ่มของประเทศไทยเป็นภาษีที่ค่อนข้างมีประสิทธิผล โดยรัฐบาลสามารถจัดเก็บได้ประมาณร้อยละ 85 ของการจัดเก็บที่เป็นไปได้เมื่อพิจารณาจากอัตราและฐานภาษีมูลค่าเพิ่ม แต่ประเทศไทยพลาดโอกาสในการจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มในอัตราที่สูงขึ้นโดยอัตราร้อยละ 7 จัดเป็นอัตราต่ำที่สุดในกลุ่มประเทศที่มีรายได้ปานกลางระดับสูง และเนื่องจากฐานภาษีค่อนข้างแคบ การปรับเพิ่มอัตราภาษีมูลค่าเพิ่มจากร้อยละ 7 เป็นร้อยละ 10 คาดว่าจะทำให้รายได้เพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 1.6 ของ GDP โดยผลกระทบส่วนใหญ่จะเกิดขึ้นกับกลุ่มผู้มีรายได้สูง

ทั้งนี้ ประเทศไทยมีศักยภาพในการเพิ่มรายได้ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาร้อยละ 0.7 ของ GDP ในขณะเดียวกันก็สามารถทำให้ระบบภาษีเป็นธรรมขึ้นได้ รายได้จากภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาของประเทศไทยที่ประมาณร้อยละ 1.8 ของ GDP อยู่ใน 20 เปอร์เซ็นต์ไทล์ล่างสุดของกลุ่มประเทศที่มีรายได้ปานกลางระดับสูง โดยมีสาเหตุมาจาก

  • ฐานภาษีที่แคบ โดยมีสัดส่วนของผู้เสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาอยู่ในระดับต่ำ และพนักงานที่ไม่ได้รับเงินเดือนประจำมีอัตราการยื่นภาษีต่ำ
  • อัตราความไม่เป็นทางการ (นอกระบบ) ที่ค่อนข้างสูง และ
  • แม้จะมีอัตราภาษีส่วนเพิ่มสูงสุดถึงร้อยละ 35 แต่อัตราภาษีที่แท้จริงยังต่ำเนื่องจากมีแรงจูงใจและค่าลดหย่อนภาษีจำนวนมาก มีเพียง 4 ล้านคน (หรือร้อยละ 10 ของกำลังแรงงาน) ที่จ่ายภาษีในปี พ.ศ. 2562 ซึ่งส่วนใหญ่เป็นพนักงานที่ได้รับเงินเดือนประจำ

ด้านการจัดเก็บภาษีจากความมั่งคั่งจะช่วยเพิ่มรายได้และเพิ่มความเป็นธรรมให้กับระบบภาษี ขณะเดียวกันก็สามารถลดผลกระทบจากการบิดเบือนได้ ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างเป็นเครื่องมือทางภาษีที่ส่งเสริมความเป็นธรรมและเป็นมิตรกับการขยายตัวของเศรษฐกิจ การจัดเก็บภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างของประเทศไทยอยู่ในระดับที่ค่อนข้างต่ำที่ร้อยละ 0.2 ของ GDP ซึ่งต่ำกว่าค่าเฉลี่ยของกลุ่มประเทศที่มีรายได้ปานกลางระดับสูงที่ร้อยละ 0.5 การปิดช่องว่างนี้อาจช่วยเพิ่มรายได้ให้กับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น

คิม อลัน เอ็ดเวิร์ด นักเศรษฐศาสตร์อาวุโสและหัวหน้าโครงการของธนาคารโลก กล่าวว่า “การเพิ่มการจัดเก็บรายได้ภาครัฐเป็นเรื่องที่จำเป็น นอกจากนี้ ประเทศไทยสามารถเพิ่มประสิทธิภาพการใช้จ่ายภาครัฐผ่านมาตรการให้ความช่วยเหลือทางสังคม การศึกษา และสาธารณสุข เช่น การใช้มาตรการช่วยเหลือทางสังคมที่มีกลุ่มเป้าหมายชัดเจนจะช่วยลดภาระทางการคลังแต่ยังสามารถลดระดับความยากจนได้”

รายงานฉบับนี้มีข้อเสนอแนะว่า ด้านการศึกษา การจัดสรรทรัพยากรในระดับประถมศึกษาให้มีประสิทธิภาพมากขึ้นจะส่งเสริมผลลัพธ์การเรียนรู้ให้ดีขึ้นได้ ด้านสาธารณสุข การคัดกรองผู้ป่วยกลุ่มโรคไม่ติดต่อเรื้อรังที่มีประสิทธิภาพและการให้ความสำคัญกับมาตรการป้องกันรักษาสุขภาพจะช่วยลดภาระและความจำเป็นของการรักษาที่มีค่าใช้จ่ายสูงในอนาคตได้ ทั้งนี้ การพัฒนาหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าจะสามารถช่วยลดค่าใช้จ่ายได้อีกด้วย