นางอรมน ทรัพย์ทวีธรรม อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ เปิดเผยว่าลาว เป็นตลาดที่มีศักยภาพสำหรับการลงทุนร้านคาเฟ่ แม้จะเป็นประเทศขนาดเล็กที่มีประชากรเพียง 7.5 ล้านคน แต่เป็นแหล่งปลูกกาแฟที่มีชื่อเสียงของโลก อีกทั้งพฤติกรรมของผู้บริโภคในสปป.ลาวเริ่มเปลี่ยนไป
คนรุ่นใหม่หันมาบริโภคเครื่องดื่มที่มีแบรนด์และใส่ใจเรื่องอาหารและเครื่องดื่มเพื่อสุขภาพมากขึ้น ประกอบกับการเติบโตของธุรกิจท่องเที่ยวของสปป.ลาว ทำให้ร้านคาเฟ่มีโอกาสเติบโตสูง
โดยจากการหารือกับผู้บริหารบริษัท ปตท. และ Café Amazon สาขาเมืองหลวงพระบาง เพื่อหารือเรื่องโอกาสการขยายการค้า พบว่า กาแฟถือเป็นสินค้าเศรษฐกิจสำคัญของลาว ส่วนใหญ่จะปลูกกาแฟพันธุ์อะราบิก้าในที่ราบสูงโบลาเวนทางตอนใต้ แถบแขวงจำปาสัก เซกอง และสาละวัน ซึ่งกาแฟที่ปลูกจะมีจุดเด่นคือเป็นกาแฟออร์แกนิก มีกลิ่นหอม รสชาตินุ่มแต่มีความเข้ม ส่งผลให้ลาว เป็นผู้ผลิตกาแฟใหญ่เป็นอันดับ 3 ในอาเซียน รองจากเวียดนามและอินโดนีเซีย
โดยมีตลาดส่งออกหลัก ได้แก่ เวียดนาม ไทย ญี่ปุ่น เยอรมนี และเบลเยี่ยม ซึ่งการส่งออกกาแฟและเมล็ดกาแฟดิบของลาว ในปี 2565 เป็นมูลค่า 139.5 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ขยายตัว10% จากปีก่อนหน้า โดยส่งไปเวียดนาม อับดับ 1 มูลค่า 53.5 ล้านดอลลาร์สหรัฐ
และส่งมาไทยเป็นอันดับ 2 มูลค่า 25.8 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งในช่วงที่ผ่านมา ไทยยังมีความจำเป็นต้องนำเข้าเมล็ดกาแฟจากเพื่อนบ้าน เนื่องจากผลผลิตในประเทศไม่เพียงพอกับความต้องการบริโภคในประเทศที่เพิ่มขึ้น ประกอบกับสปป.ลาว มีแผนที่จะพัฒนาการผลิตกาแฟให้ได้คุณภาพตามมาตรฐานสากล รวมถึงขยายการส่งออกมากขึ้น
ดังนั้น ไทยและลาว น่าจะสามารถร่วมมือเพื่อสร้างเครือข่ายห่วงโซ่อุตสาหกรรมกาแฟกันได้ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการวิจัยเชิงวิชาการ การร่วมทุน และการใช้ประโยชน์จากสิทธิประโยชน์ทางภาษีในกรอบอาเซียนเพื่อการค้ากาแฟระหว่างกัน
นอกจากนี้ลาวยังมีฟาร์มควายนมของหลวงพระบาง (Lao Buffalo Dairy) ซึ่งเป็นกิจการฟาร์มนมควายแห่งแรกในลาว ลงทุนโดยชาวออสเตรเลีย มีควายนมกว่า 200 ตัว รีดน้ำนมและทำผลิตภัณฑ์ เช่น ชีส และไอศกรีม จำหน่ายหน้าฟาร์ม โรงแรม ร้านอาหาร และร้านคาเฟ่ ในเมืองหลวงพระบาง สร้างรายได้มูลค่า 45,000 ดอลลาร์สหรัฐต่อปี ถือเป็นกิจการที่น่าสนใจและเป็นทางเลือกใหม่ให้กับทั้งเกษตรกรและผู้บริโภคของลาว โดยเฉพาะผู้แพ้นมวัวแต่ยังต้องการโภชนาการสูงจากนม อย่างไรก็ดี เนื่องจากปริมาณที่ผลิตได้ยังมีน้อย เพียงพอแค่สำหรับบริโภคในท้องถิ่น จึงยังต้องอาศัยการลงทุนและพัฒนาอีกมากหากจะผลิตในระดับประเทศ
ขณะที่ในประเทศไทยเองก็ยังมีผู้ประกอบการฟาร์มควายนมไม่มากนัก เช่น มูร่าห์ฟาร์ม ในจังหวัดฉะเชิงเทรา สอนศิริฟาร์มควายไทยที่ปราจีนบุรี ฟาร์มควายนมของโครงการหลวงแม่ทาเหนือ มูร่าห์เฮาส์ ในจังหวัดเชียงใหม่และฟาร์มโคนมบ้านกุดรังจังหวัดนครนายก เป็นต้น โดยฟาร์มเหล่านี้มีการจำหน่ายนมควายและผลิตภัณฑ์จากนมควายเช่นกัน อาทิ โยเกิร์ต ชีส และไอศกรีม โดยพบว่าผลิตภัณฑ์จากนมควายถือเป็นทางเลือกให้กับผู้แพ้นมวัว แต่ยังต้องการโภชนาการสูงจากนม โดยนมควายจะมีสารอาหาร เช่น แคลเซียม และโปรตีนสูง มีคลอเรสเตอรอลต่ำ และไม่มีกลิ่นคาว ซึ่งน่าจะเป็นโอกาสของเกษตรกรและผู้ประกอบการไทยในการขยายตลาดสินค้านมควายและผลิตภัณฑ์ได้เนื่องจากราคาดีและยังมีผลผลิตในปริมาณน้อย ในปัจจุบันประเทศที่มีการเลี้ยงควายนมมาก เช่น อินเดีย ปากีสถาน และจีน เป็นต้น
“ตลาดนมโคและผลิตภัณฑ์ในลาวสินค้าแบรนด์ไทยวางจำหน่าย ทั้งนมสดพาสเจอร์ไรด์ และนมยูเอชที ซึ่งลาวถือเป็นตลาดส่งออกนมอันดับ 2 ของไทย รองจากกัมพูชา ในปี 2565 ไทยส่งออกสินค้านมและผลิตภัณฑ์สู่ตลาดโลก มูลค่า 593.11 ล้านดอลลาห์สหรัฐ ขยายตัว1.7% จากปี 2564 เป็นการส่งออกไปสปป.ลาว มูลค่า 76.89 ล้านดอลลาร์สหรัฐ”
สำหรับช่วง 5 เดือนแรก (ม.ค.-พ.ค. 2566) ไทยส่งออกนมและผลิตภัณฑ์นมไปตลาดโลก มูลค่า 262.77 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ขยายตัว3.5% จากช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า โดยส่งออกไปกัมพูชาอับดับ 1 อยู่ที่ 78.10 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และส่งออกไปลาว อับดับ 2 มูลค่า 36.89 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ขยายตัว13.3% จากปีก่อนหน้า คิดเป็นสัดส่วนการส่งออก17.2% ของการส่งออกทั้งหมดของไทย โดยสินค้านมและผลิตภัณฑ์ที่ส่งออกไปสปป.ลาว ได้แก่ นมยูเอชที นมและครีม และเนย เป็นต้น