นายกฤษฎา จีนะวิจารณะ ปลัดกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า กระทรวงการคลังคาดว่าการจัดทำพ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปี 67 จะมีผลบังคับใช้ล่าช้าที่สุดนาน 6 เดือน โดยคาดว่าจะกระทบงบรายจ่ายลงทุนซึ่งมีผลต่อการขยายตัวของเศรษฐกิจ 0.05%ต่อจีดีพี
อย่างไรก็ตาม เพื่อเป็นการรองรับสถานการณ์ดังกล่าว และเพื่อให้เม็ดเงินหมุนเวียนลงสู่ระบบเศรษฐกิจ กระทรวงการคลังได้เตรียมแผนรองรับเพื่อให้มีเม็ดเงินหมุนเวียนลงสู่ระบบเศรษฐกิจในช่วงที่งบประมาณยังไม่มีผลบังคับใช้ประมาณ 1 แสนล้านบาท
"คาดว่าพ.ร.บ.งบประมาณปีงบ 67 จะล่าช้าออกไป 6 เดือน สิ่งที่จะหายไป คือ งบลงทุน ซึ่งมีกรอบวงเงินทั้งหมดประมาณ 6 แสนล้านบาท อย่างไรก็ดี ส่วนใหญ่วงเงินดังกล่าว จะมีการเบิกจ่ายช่วง 2 ไตรมาสสุดท้ายของปีงบประมาณ จะต้องดูว่าวงเงิน 6 แสนล้านบาทจะมีการเบิกจ่ายเท่าใดในช่วงไตรมาส 1 และ 2 ของปีงบ 67 หากไม่เกิน 30% หรือวงเงิน 1 แสนล้านบาท ส่วนนี้เราก็มีการวางแผนรองรับไว้แล้ว"
นายพรชัย ฐีระเวช ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) กล่าวว่า สำหรับพ.ร.บ.งบประมาณปี 67 ที่ยังไม่มีผลบังคับใช้สามารถใช้งบพลางก่อนได้ โดยขณะนี้สำนักงบประมาณอยู่ระหว่างออกเกณฑ์ โดยจะมีการเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบต่อไป ซึ่งงบที่เป็นรายจ่ายประจำ และงบโครงการลงทุนที่เป็นโครงการต่อเนื่องสามารถเบิกจ่ายได้ ส่วนโครงการใหม่ๆ จะต้องรองบปี 67 มีผลบังคับใช้
ส่วนกระทรวงการคลังก็เตรียมแผนรองรับเพื่อไม่ให้ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจในปีนี้และปีหน้า ผ่านการเร่งรัดการใช้จ่ายงบประมาณของหน่วยงานรัฐ และรัฐวิสาหกิจ แทนที่จะใช้ในช่วงปลายปีงบประมาณ แต่เร่งให้มาใช้ในต้นปีงบประมาณ (Front load) เช่น งบลงทุนของรัฐวิสาหกิจบางรายการ ซึ่งประเมินว่ามีวงเงินที่สามารถทำได้ประมาณ 5 หมื่นล้านบาท จากงบลงทุนรวมของรัฐวิสาหกิจที่มีรวม 5 แสนล้านบาท
นอกจากนี้ ได้มีการหารือกับสถาบันการเงินของรัฐ (SFIs) ว่า โครงการสินเชื่อผ่อนปรนที่ให้กับประชาชนและผู้ประกอบซึ่งเป็นโครงการที่รัฐบาลให้การอุดหนุน ซึ่งยังมีวงเงินสินเชื่อเหลืออยู่ 7 หมื่นล้านบาท ได้ขอให้สถาบันการเงินของรัฐ เร่งนำมาใช้ในปลายปีนี้เพื่อช่วยผลักดันเศรษฐกิจในปีนี้และต้นปีหน้า