การโหวตเลือกนายกรัฐมนตรี รอบสองวันที่19 กรกฎาคม 2566 เข้มข้นแน่และเชื่อว่าในที่สุดแล้ว จะพลิกขั้วแกนนำจัดตั้งรัฐบาล แต่ที่ต้องเดินหน้า ต่อคือ "เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก" หรือ อีอีซี โครงการต่อยอดจาก “อีสเทิร์นซีบอร์ด” มีเป้าหมายรองรับอุตสาหกรรมใหม่ที่ใช้เทคโนโลยีระดับสูง ด้วยงบลงทุนกว่า 1.5 ล้านล้านบาท ครอบคลุมพื้นที่จังหวัดชลบุรี ระยอง และฉะเชิงเทรา ในการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน กระตุ้นการลงทุนตามนโยบายขับเคลื่อนเศรษฐกิจประเทศ ของรัฐบาล พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา
โดยมีคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก หรือ สกพอ. เป็นหัวเรือใหญ่ ปัจจุบันกำลังถูกเปลี่ยนผ่านไปสู่รัฐบาลใหม่ ทำหน้าที่สานต่อ ภายใต้พระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก พ.ศ. 2561 โจทย์ใหญ่ที่ท้าทาย เนื่องจากโครงการอภิมหาโปรเจ็กต์ หัวใจสำคัญดึงดูดเม็ดลงทุนจากต่างชาติทั่วโลก ยังไม่เดินหน้า
เริ่มจากรถไฟความเร็วสูงเชื่อมสามสนามบิน (ดอนเมือง สุวรรณภูมิ อู่ตะเภา) หรือไฮสปีดเทรน ระยะทาง 220 กิโลเมตร วงเงิน 224,544 ล้านบาท ของการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) ที่มี บริษัท เอเชีย เอรา วัน จำกัด เครือซีพี เป็นคู่สัญญา ยังติดปมปัญหา การแก้ไขสัญญาชำระสิทธิ์ค่าแอร์พอร์ตลิงก์ จากเงื่อนไขจ่ายก้อนเดียวงวดเดียว เป็นจ่าย 7 งวด วงเงิน 1.17 หมื่นล้านบาท รวมดอกเบี้ย
โดยมีเหตุผลว่าได้รับลกระทบจากภัยพิบัติไม่คาดคิด จากภาวะเศรษฐกิจและสถานการณ์โควิด-19 และมีผลต่อการขอกู้สินเชื่อเพื่อลงทุนจากสถาบันการเงิน ซึ่งมีเหตุอันควรต้องได้รับการเยียวยา แม้วันที่27 มิถุนายนที่ผ่านมา คณะรัฐมนตรี (ครม.) รัฐบาลประยุทธ์ มีมติรับทราบแต่ รัฐบาลใหม่ต้องพิจารณาเห็นชอบ
เช่นเดียวกับปัญหาพื้นที่ทับซ้อน ช่วง “บางซื่อ-ดอนเมือง” โครงสร้างทางร่วม ไฮสปีดไทย-จีนและไฮสปีดเชื่อมสามสนามบิน เรื่องใหญ่ที่ยังเป็นข้อถกเถียงว่าจะให้บริษัทเอเชีย เอ ราวัน ผู้รับสัมปทานเป็นผู้ลงทุนหรือรัฐลงทุนเอง ยังหาคำตอบที่ชัดเจนไม่ได้ เพราะหากให้รัฐเป็นผู้ก่อสร้าง ต้องรอรัฐบาลใหม่เป็นผู้จัดสรรงบประมาณลงมา แต่อาจล่าช้าดึงไฮสปีดไทย-จีนล่าช้าไปด้วย แต่ถ้าให้เอกชนลงมือ การขอแก้สัญญาไฮสปีด “สร้างไปจ่ายไป” ย่อมต้องเกิดขึ้น กล่าวคือ สัญญาเดิม ก่อสร้างเสร็จและเปิดให้บริการเดินรถรัฐถึงจ่ายเงินสนับสนุนมีระยะเวลา 10 ปี หรือ 10 งวด
วิธีนี้ที่ประชุมคณะอนุกรรมการบริหารการพัฒนาเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (กบอ.) มองว่าหากไม่รอบคอบอาจมีปัญหาการก่อสร้างไม่แล้วเสร็จ และเกิดการทิ้งงานกลายเป็นอนุสรณ์สถาน และเกิดการพังพาบทางเศรษฐกิจ ดังนั้นต้องมองในภาพใหญ่ ขณะเอกชนต้องการลดภาระหนี้และเกิดความคล่องตัวที่ เงื่อนไขสัญญาตึงเกินไป ซึ่งรัฐบาลชุดใหม่ต้องเข้ามาแก้ปัญหา ทั้งนี้ตามสัญญา ต้องเข้าพื้นที่ก่อสร้าง นับตั้งแต่วันที่ 24 ตุลาคม 2564 และใช้เวลา 6 ปีในการก่อสร้าง
อีกโครงการสนามบินอู่ตะเภาและมหานครการบินภาคตะวันออก ของกองทัพเรือที่สกพอ.ต้องทำงานร่วมกับบริษัทอู่ตะเภาอินเตอร์เนชั่นแนล เอวิเอชั่น จํากัด (UTA) โดยเอกชนขอปรับลดเงื่อนไขให้คล่องตัวขึ้น และครม.รัฐบาลประยุทธ์ ได้รับทราบผลการดำเนินงาน แก้สัญญาโครงการฯจากผลกระทบโควิดใช้สิทธิ์ผ่อนผันตามข้อ 13 ของสัญญาร่วมลงทุน โดยขอปรับแผนพัฒนาจาก 4 ระยะเป็น 6 ระยะเป้าหมายรองรับนักท่องเที่ยวเข้าไทย 60 ล้านคน ขยับการก่อสร้างออกไปเป็นปี 2567 ผลักดันให้เอกชนลงทุนเพิ่มเติมในส่วนของการพัฒนาเมืองการบินภาคตะวันออก เพื่อเป็นจุดหมายปลายทางที่มีคุณภาพ
รวมถึงมาตรการสนับสนุนด้านภาษีและไม่ใช่ภาษี ในการประกอบกิจการ การทำงาน และการอุปโภคบริโภค และในด้านการบินและโลจิสติกส์ ให้มีผลใช้บังคับและสามารถเริ่มใช้ประโยชน์ในมาตรการสนับสนุนทั้งหมดดังกล่าวได้ภายในระยะเวลา 5 ปี นับจากวันที่เริ่มนับระยะเวลาโครงการฯ และจะมีการทบทวนพัฒนามาตรการ สนับสนุนดังกล่าวในทุก 10 ปีสนับสนุนเอกชนคู่สัญญาแก้ไขปัญหา ทางการเงิน จัดหาแหล่งเงินกู้ของเอกชน เพื่อบรรเทาผลกระทบโครงการพัฒนาสนามบินอู่ตะเภา เป็นต้น ซึ่งรัฐบาลใหม่ต้องพิจารณาเห็นชอบสานต่อโครงการต่อไป ภายใต้กฎหมายอีอีซี
ส่วนโครงการขนาดใหญ่เพิ่มขีดความสามารถทางการแข่งขัน ของการท่าเรือแห่งประเทศไทย โครงการพัฒนาท่าเรือมาบตาพุด ระยะที่ 3 โครงการพัฒนาท่าเรือแหลมฉบัง ระยะ 3 ไม่น่ามีปัญหาเพราะปัจจุบันอยู่ระหว่างก่อสร้าง
ที่น่าจับตาจะเป็น แผนขับเคลื่อนโครงการศูนย์ธุรกิจอีอีซีและเมืองน่าอยู่อัจฉริยะระดับโลก มูลค่า 1.34 ล้านล้านบาท ของสกพอ. แม้ปัจจุบันจะได้ที่ดิน สปก. ของสำนักงานปฏิรูปที่ดินเพื่อการเกษตร (ส.ป.ก.)ปักหมุดที่ตำบลห้วยใหญ่อำเภอบางละมุงจังหวัดชลบุรี 14,619 ไร่ เมืองอยู่อาศัย ศูนยกลางธุรกิจสำนักงานทันสมัย นอก จากจะตั้งอยู่ติดกับเมืองพัทยา ที่สร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจเป็นอันดับสองรองจากกรุงเทพมหานครแล้ว ยังอยู่ไม่ห่างจากมหานครการบินอู่ตะเภาสนามบินนานาชาติหลักแห่งที่ 3 ที่ประเมินว่าจะเป็นอีกเมืองที่น่าจับตา และเป็นหนึ่งเครื่องจักรสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจประเทศ
การพัฒนาสร้างเมืองสามารถดำเนินไปได้ แต่ต้องยอมรับว่ามีปัญหาเรื่องงบประมาณ เพราะต้องใช้ในเหตุจำเป็นเร่งด่วนกว่าอย่างการเยียวยาจากสถานการณ์โควิด ทำให้ได้การจ่าย ชดเชยจากการซื้อที่ดินต่อจากชาวบ้าน ซึ่งเป็นสารตั้งต้น ทำได้เพียง 2,000 ไร่ วงเงิน 1,500 ล้านบาทเท่านั้น ส่วนที่ดินที่เหลือชาวบ้านรอการจ่ายชดเชย ซึ่งต้องรอรัฐบาลใหม่สถานเดียว
การยกระดับการพัฒนาประเทศไปสู่ยุคไทยแลนด์ 4.0 ส่งเสริมอุตสาหกรรมเป้าหมายเพื่อยกระดับอุตสาหกรรม เป็นศูนย์กลางการคมนาคมขนส่งโลจิสติกส์ เน้นการลงทุนด้านโครงสร้างพื้นฐานที่ทันสมัย ส่งเสริมการลงทุนและการท่องเที่ยว เพื่อเพิ่มความสามารถในการแข่งขัน ทำให้เศรษฐกิจของไทยเติบโตได้ในระยะยาว เป็นเขตเศรษฐกิจชั้นนำของอาเซียนเชื่อมโยงการพัฒนาภายในประเทศ และประเทศเพื่อนบ้าน ที่ “รัฐบาลประยุทธ์” วางรากฐานไว้ให้แน่นหนา ภายใต้กฎหมายอีอีซี
นี่คือโจทย์ท้าทายรัฐบาลใหม่ ทั้งงบประมาณรวมถึงการแก้ปมปัญหา หวังว่า จะไม่ปล่อยให้แห้งเฉาและตายลง หากต้องการให้อีอีซีขับเคลื่อน เศรษฐกิจประเทศต่อไป !!!