นักวิชาการมอง“โหวตนายกฯ”อาจมี3รอบ-สลับขั้วเสนอชื่อ

16 ก.ค. 2566 | 07:37 น.
อัปเดตล่าสุด :16 ก.ค. 2566 | 07:44 น.

นักวิชาการมอง“โหวตนายกฯ” รอบ 2 อาจเห็น“พิธา-เศรษฐา-แพทองธาร” ถูกเสนอโหวตนายกรัฐมนตรี และอาจมีการสลับขั้วเสนอชื่อชี้การเมืองยังไม่กระทบภาพรวมเศรษฐกิจ

นายธนวรรธน์ พลวิชัย อธิการบดีมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย และประธานที่ปรึกษาศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ กล่าวถึงการโหวตเลือกนายกรัฐมนตรีคนที่ 30 รอบที่ 2 ที่จะมีขึ้นในวันที่ 19 กรกฎาคม 2566 ว่า มีความเป็นไปได้ 3 แนวทางคือ นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ แคนดิเดตนายกรัฐมนตรีจากพรรคก้าวไกล จะถูกเสนอรายชื่อเป็นนายกรัฐมนตรีอีกครั้ง ซึ่งเรื่องดังกล่าวอาจส่งผลให้เกิดการเปิดโหวตในรอบต่อไปได้อีก เนื่องจากการระดมเสียงเพิ่มอีก 50 กว่าเสียงภายใน 1 สัปดาห์ มีความเป็นไปได้ยาก

นายธนวรรธน์ พลวิชัย อธิการบดีมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย และประธานที่ปรึกษาศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ

ส่วนแนวทางที่ 2 หากพิจารณาตามกรอบ 8 พรรคการเมืองที่ตกลงไว้ ก็มีความเป็นไปได้ที่พรรคเพื่อไทยจะเสนอชื่อนายเศรษฐา ทวีสิน หรือนางสาวแพทองธาร ชินวัตร ขึ้นเป็นแคนดิเดตนายกรัฐมนตรี ซึ่งในกรณีนี้ อาจจะช่วยให้กระบวนการสรรหานายกรัฐมนตรีจะใช้เวลาสั้นลง และยังอยู่ในครรลองหลักประชาธิปไตย และจัดตั้งรัฐบาลใหม่ได้เร็วขึ้นภายในเดือนสิงหาคม 2566

และแนวทางที่ 3 คือ ยังมีความเป็นไปได้ที่จะมีการเสนอพลเอกประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี เป็นแคนดิเดตนายกรัฐมนตรี หรือไม่ก็อาจจะมีการหักขั้วเสนอรายชื่อชิงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีท่านอื่นแทนก็เป็นได้ แต่แนวทางที่ดีที่สุดสำหรับเศรษฐกิจไทย คือการมีรัฐบาลที่มีเสถียรภาพและจัดตั้งขึ้นได้อย่างรวดเร็วที่สุด โดยเชื่อว่าการตั้งรัฐบาลเสียงข้างน้อยมีโอกาสเกิดขึ้นได้น้อยมาก

 

 

 

 

ส่วนความความกังวลผลกระทบด้านเศรษฐกิจจากการชุมนุมในหลายพื้นที่ทั่วประเทศ เชื่อว่า ยังเป็นไปด้วยความสงบตามกรอบรัฐธรรมนูญ ไม่มีแนวโน้มความรุนแรงที่ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจแต่ยังต้องติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิดในสัปดาห์หน้า

ทั้งนี้หากมีการจัดตั้งรัฐบาลใหม่ได้ภายในเดือนสิงหาคม-กันยายน 2566 จะเป็นผลดีต่อการจัดทำงบประมาณประจำปี 2567 ทำให้ภาคธุรกิจทั้งในประเทศและต่างประเทศ รู้ทิศทางนโยบายในการพัฒนาประเทศ และมั่นใจตัดสินใจลงทุน สิ่งสำคัญคือบรรยากาศการเมืองที่ทีเสถียรภาพ หากได้รัฐบาลเสียงข้างมากที่มีเสถียรภาพ หรือได้รัฐบาลที่สามารถจัดตั้งได้เร็วภายในกรอบ ทางศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย จึงมองการเติบโตเศรษฐกิจไทยทั้งปีนี้ยังขยายตัวได้ประมาณ 3.5%โดยเฉพาะในไตรมาส 4 เศรษฐไทยจะโดดเด่น การส่งออกจะคลี่คลายขึ้น รวมถึงนักท่องเที่ยวจะอยู่ที่ 25-30 ล้านคน ส่งผลให้ภาวะการจับจ่ายใช้สอยในประเทศจะดีขึ้น