กรณี โหวตเลือกนายกรัฐมนตรี หลังจากพรรคก้าวไกล ต้องการเสนอชื่อนายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ และหัวหน้าพรรคก้าวไกล ฐานะแคนดิเดตนายกฯ ให้รัฐสภาพิจารณาว่าจะเห็นชอบเป็นนายกฯ ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 272 อีกครั้ง ในวันที่ 19 กรกฎาคม 2566 นั้น
ล่าสุด นายเสรี สุวรรณภานนท์ สมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) เปิดเผยว่า จากที่ได้ศึกษาข้อกฎหมายพบว่า นอกจากกรณีการเสนอชื่อนายกฯ ให้รัฐสภาพิจารณาจะเข้าข่ายเป็นญัตติและตามข้อบังคับการประชุมรัฐสภา ข้อ 41 กำหนดไว้ชัดเจนว่า ญัตติใดที่ตกไปแล้วหรือรัฐสภาไม่เห็นชอบ ห้ามนำกลับมาเสนอใหม่
ขณะเดียวกันตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 272 วรรคสอง ยังระบุว่า กรณีที่ไม่อาจแต่งตั้งนายกฯจากบัญชีรายชื่อพรรคการเมืองแจ้งไว้ ตามมาตรา 88 กรณีดังกล่าวมองว่าแคนดิเดตนายกฯของพรรคนั้น ๆ ทำได้แค่ครั้งเดียวเท่านั้น หากไม่ได้รับความเห็นชอบจากรัฐสภาถือว่าหมดสิทธิเสนออีก และต้องพิจารณาแคนดิเดตนายกฯในบัญชีรายชื่อของพรรคการเมืองอื่นที่มีสิทธิต่อไป
นายเสรี กล่าวว่า ในส่วนของความมุ่งหมายของรัฐธรรมนูญ มาตรา 272 วรรคสอง ใช้กรณีเพื่อไม่ให้การเมืองเกิดทางตันกรณีแคนดิเดตนายกฯของพรรคการเมืองไม่ถูกยอมรับ จึงต้องหาคนนอกบัญชีนั้น ต้องดูให้ดี เพราะคำว่าไม่อาจแต่งตั้ง หมายถึงว่าการเสนอมาแล้วรอบแรก แต่รัฐสภาไม่เห็นชอบ เท่ากับว่าไม่อาจแต่งตั้งได้
กรณีดังกล่าวสอดรับกับข้อบังคับการประชุมรัฐสภา ข้อ 41 ที่เสนอญัตติซ้ำไม่ได้ ดังนั้นไม่ใช่โหวตแพ้แล้วจะเสนอให้มาโหวตอีก แบบนี้เลือกนายกฯ ก็ไม่ผ่าน ก็ไม่จบ ดังนั้นหากฝืนจะให้โหวตซ้ำ ระวังจะมีผู้ยื่นศาลรัฐธรรมนูญว่าทำผิดรัฐธรรมนูญ ไม่ว่ารอบสองจะชนะหรือแพ้ แต่ส่วนตัวมองว่า ไม่ถึงขั้นที่ ส.ว. จะพิจารณาไปถึงระดับนั้น
ส่วนข้อบังคับข้อ 41 กำหนดให้นำญัตติ กลับมาโหวตซ้ำได้หากเหตุการณ์เปลี่ยนแปลงไป หากมีกรณีที่เสนอชื่อแข่งนายพิธา เรียกว่าเหตุเปลี่ยนแปลงหรือไม่นั้น ยอมรับว่า กรณีนี้คงไม่ได้แล้ว เพราะบัญชีแคนดิเดตนายกฯ ของพรรคก้าวไกล ถูกวินิจฉัยไปแล้ว
ดังนั้นจากนี้พรรคเพื่อไทยคือพรรคที่ได้รับโอกาส แต่หากพรรคเพื่อไทยยังรวมกับก้าวไกล หรือให้พรรคก้าวไกลอยู่ร่วม 8 พรรค คาดว่าที่ประชุมรัฐสภาจะไม่เห็นด้วย หากแคนดิเดตนายกฯของพรรคเพื่อไทย ไม่ได้รับเสียงเห็นชอบ ชื่อนั้นจะเสียไป แต่พรรคเพื่อไทยยังมีโอกาสอยู่ เพราะมีแคนดิเดตนายกฯ 3 คน
“การโหวตนายกฯ รอบสอง อาจมีประเด็นให้เกิดกรณีอภิปรายเรื่องหลักการและข้อบังคับการประชุมได้ แต่สุดท้ายจะสรุปอย่างไร ต้องขึ้นอยู่กับมติที่ประชุม ซึ่งอาจจะมีคนเสนอให้โหวตหรือไม่ก็ได้ อยู่ที่มติของสภาฯ”