กรณี “กรมทางหลวง” ได้กำหนดมีที่พักริมทางจำนวน 7 แห่ง บนมอเตอร์เวย์สาย 7 ขณะนี้ได้เปิดให้บริการแล้ว 3 แห่ง ได้แก่ ลาดกระบัง,บางปะกง และหนองรี ล่าสุดเตรียมจะเปิดประมูลให้เอกชนเข้ามาลงทุนอีก 2 แห่ง ประกอบด้วย ศรีราชาและบางละมุง
ล่าสุด นายปิยพงษ์ จิวัฒนกุลไพศาล รองอธิบดีกรมทางหลวง (ทล.) เปิดเผยความคืบหน้าการว่า การเปิดให้เอกชนร่วมลงทุนในการพัฒนาและบริหารจัดการโครงการศูนย์บริการทางหลวงศรีราชาและโครงการสถานที่บริการทางหลวงบางละมุง บนทางหลวงพิเศษระหว่างเมืองหมายเลข 7 (M7) สายกรุงเทพมหานคร-บ้านฉาง หรือ Rest Area ที่ผ่านมา
ตามแผนหลังจากกรมฯเปิดการรับฟังความคิดเห็นจากภาคเอกชน (Market Sounding) แล้วเสร็จ โดยได้มีการประกาศเชิญชวน และขายเอกสารการคัดเลือกเอกชนร่วมลงทุน (TOR) ภายในเดือนพฤษภาคม 2566 ซึ่งปัจจุบันมีการขยับไทมไลน์การเปิดขายเอกสารฯ ออกไป เนื่องจากสำนักงานอัยการสูงสุดเพิ่งส่งร่างสัญญาฯกลับมายังกรมฯ หลังจากตรวจสอบแล้วเสร็จเมื่อสิ้นเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา จากเดิมที่เคยคาดว่าสำนักงานอัยการสูงสุดจะส่งร่างสัญญากลับมาภายในเดือนเมษายน 2566
ด้วยเหตุนี้ กรมฯ จะออกประกาศเชิญชวนคัดเลือกเอกชนร่วมลงทุนในรูปแบบ PPP Net Cost โดยรัฐจัดหาที่ดิน ส่วนเอกชนเป็นผู้ลงทุนออกแบบก่อสร้างและบริหารจัดการ ระยะเวลา 32 ปี (ออกแบบและก่อสร้าง 2 ปี ดำเนินงานและบำรุงรักษา 30 ปี) ภายในกลางเดือนสิงหาคม 2566 นี้ หลังจากนั้นจะเปิดขายเอกสารการคัดเลือกเอกชนร่วมลงทุน (TOR) ทั้ง 2 โครงการฯภายในปลายเดือนสิงหาคม 2566
โดยจะเปิดให้เอกชนยื่นข้อเสนอภายในปลายปี 2566 ซึ่งจะได้เอกชนผู้ชนะการประมูลภายในช่วงต้นปี 2567 และลงนามสัญญาพร้อมดำเนินการก่อสร้างภายในกลางปี 2567 หรือภายในเดือนมิถุนายน 2567 ระยะเวลาก่อสร้าง 2 ปี
ทั้งนี้กรมฯจะกำหนดพื้นที่บางส่วนให้สามารถดำเนินการเปิดให้บริการแก่ประชาชนได้ก่อน เช่น ห้องน้ำ,พื้นที่จอดรถ ภายในปี 2568 คาดว่าจะดำเนินการก่อสร้างแล้วเสร็จพร้อมเปิดให้บริการเต็มรูปแบบภายในปี 2569
สำหรับโครงการศูนย์บริการทางหลวงศรีราชา (ช่วงชลบุรี-พัทยา) พื้นที่ 121 ไร่ แบ่งเป็นพื้นที่ฝั่งไปพัทยา 62 ไร่ ฝั่งไปชลบุรี 59 วงเงิน 3,757 ล้านบาท เป็นที่พักริมทางขนาดใหญ่ บริเวณ กม.93+750 บนทางหลวงพิเศษระหว่างเมืองหมายเลข 7 ตั้งอยู่ระหว่างทางแยกต่างระดับบางพระ (คีรี) และทางแยกต่างระดับหนองขาม ซึ่งเป็นจุดหลักในการแวะพักสำหรับผู้ใช้ทาง
ทั้งนี้กรมฯจะได้ผลตอบแทนขั้นต่ำรายปีที่ 10 ล้านบาท และปรับเพิ่มทุกๆ 3 ปี พบว่าปริมาณจราจรในปี 2565 เฉลี่ย 90,500 คันต่อวัน คาดการณ์ปริมาณจราจรปีที่เปิดให้บริการอยู่ที่ 150,000-200,000 คันต่อวัน
ขณะที่โครงการสถานที่บริการทางหลวงบางละมุง (ช่วงพัทยา-มาบตาพุด) พื้นที่ 77 ไร่ ขนาดพื้นที่ฝั่งละประมาณ 39 ไร่ วงเงิน 2,476 ล้านบาท เป็นที่พักริมทางขนาดกลาง บริเวณ กม.137+800 บนทางหลวงพิเศษระหว่างเมืองหมายเลข 7 ตั้งอยู่ระหว่างทางแยกต่างระดับห้วยใหญ่และทางแยกต่างระดับเขาชีโอน จัดให้มีขึ้นเพื่อเป็นจุดแวะพักหลักเพิ่มเติมสำหรับผู้ใช้ทาง
ทั้งนี้กรมฯจะได้ผลตอบแทนขั้นต่ำรายปีที่ 5 ล้านบาท และปรับเพิ่มทุกๆ 3 ปี ปริมาณจราจรในปี 2565 เฉลี่ย 13,100 คันต่อวัน คาดการณ์ปริมาณจราจรปีที่เปิดให้บริการอยู่ที่ 15,000-16,000 คันต่อวัน
นอกจากนี้ทั้ง 2 โครงการได้มีการกำหนดไว้ว่าจะต้องก่อสร้างสิ่งปลูกสร้าง 2 ส่วน ประกอบด้วย
1. สิ่งอำนวยความสะดวกที่เกี่ยวกับรถยนต์และบริการที่ต้องการความรวดเร็วบนพื้นราบ
2. อาคารยกระดับคร่อมเหนือช่องจราจร ที่ต้องรองรับผู้ใช้บริการ Rest Area ที่ตั้งอยู่ทั้ง 2 ฝั่งขาเข้า-ขาออก
ทั้งนี้สิ่งปลูกสร้างบนพื้นราบ ประกอบด้วย พื้นที่สีเขียวไม่น้อยกว่า 5 % ของพื้นที่ทั้งหมด, ร้านค้าไม่เกิน 15% ของพื้นที่ทั้งหมด ประกอบด้วย ร้านอาหารและเครื่องดื่ม ร้านสะดวกซื้อ สถานบริการซ่อมบำรุงรถยนต์เบื้องต้น โดยไม่รวมปั๊มน้ำมัน และต้องจัดให้มีร้านค้า OTOP ขนาดพื้นที่ไม่น้อยกว่า 200-300 ตร.ม.ด้วย, ห้องน้ำ, ที่นั่งเล่น, ที่ชาร์จรถยนต์ EV, ลานจอดรถไม่น้อยกว่า 30% ของพื้นที่ทั้งหมดและปั๊มน้ำมัน รวมทั้งต้องมีอินเตอร์เน็ตความเร็วสูง โทรศัพท์สาธารณะและตู้ ATM
อย่างไรก็ตามสิ่งปลูกสร้างบนอาคารคร่อมเหนือช่องจราจรจะต้องมีความกว้างไม่น้อยกว่า 10 เมตร อาคารต้องสูงไม่ต่ำกว่า 6 เมตร ภายในอาคารเป็นระบบปรับอากาศทั้งหมด มีลิฟต์หรือบันไดเลื่อน และห้ามติดตั้งกระจกสะท้อนแสงเป็นผนังของอาคารเด็ดขาด เพราะจะกระทบกับผู้ใช้ทางด้านล่าง
ส่วนสิ่งอำนวยความสะดวกอื่นที่อนุญาตให้มี คือ ร้านค้าและห้องน้ำส่วนกิจกรรมที่ไม่อนุญาตให้มีในพื้นที่คือ สินค้าและบริการผิดกฎหมาย, เครื่องดื่มแอลกอฮอล์และของมึนเมาทุกชนิด, การพนันและยาเสพติด, กิจกรรมที่ขัดต่อศีลธรรมอันดี, กิจกรรมแข่งรถในทาง และกิจกรรมที่อันตรายต่อผู้ใช้ทาง