ปัจจุบัน “ท่าเรือแหลมฉบัง” ตั้งอยู่ในพื้นที่จังหวัดชลบุรี ถือเป็นท่าเรือชั้นนำของไทย ที่มีการเติบโตอย่างมากในช่วงหลายปีที่ผ่านมา จนกลายเป็นสัญลักษณ์ของอุตสาหกรรมและการเติบโตทั่วภูมิภาค โดยกทท.ยังมีแผนพัฒนาท่าเรือดังกล่าวอย่างต่อเนื่อง
รายงานข่าวจากการท่าเรือแห่งประเทศไทย (กทท.) เปิดเผยว่า สำหรับความคืบหน้าโครงการพัฒนาพื้นที่เชิงพาณิชย์และจุดจอดรถบรรทุก ท่าเรือแหลมฉบัง ที่ผ่านมากทท.ได้เร่งพัฒนาพื้นที่บริเวณท่าเรือแหลมฉบัง 90 ไร่ ซึ่งเป็นจุดพักรถบรรทุก (Truck Parking) เพื่อลดปัญหาการจราจรทั้งภายในและภายนอกท่าเรือ
โดยจะมีสิ่งอำนวยความสะดวกที่จำเป็น เช่น บริการโรงแรมที่พัก ร้านอาหาร ปั๊มน้ำมัน ฯลฯ โดยปีนี้พบว่ามีเรือขนาดใหญ่เข้าท่าเรือแหลมฉบังเพิ่มขึ้น และมีปริมาณการขนส่งรถยนต์เพิ่มขึ้น 30% จาก 800,000 คันเป็น 1,000,000 คัน นอกจากนี้รถบรรทุกที่เข้ามารอเวลารับ-ส่งสินค้าจากสายเรือ มีมูลค่าประมาณ 1,000 ล้านบาท
ทั้งนี้กทท.อยู่ระหว่างตั้งคณะทำงานศึกษาดำเนินโครงการฯ เบื้องต้นจะต้องมีการออกแบบสัดส่วนระหว่างพื้นที่ธุรกิจและพื้นที่จอดรถบรรทุกให้มีความสมดุลกัน คาดว่าภายในสิ้นปีนี้จะได้ข้อสรุปแนวคิดของโครงการฯ ทั้งนี้จะต้องพิจารณาด้วยว่าผลการศึกษาจะจูงใจต่อผู้ประกอบการที่จะเข้ามาลงทุนหรือไม่ โดยรูปแบบการลงทุนในโครงการฯจะให้เอกชนเช่าพื้นที่ในโครงการฯ สัญญาสัมปทานประมาณ 10 ปีขึ้นไป โดยให้สิทธิ์เอกชนรายเดียวเป็นผู้ชนะการประมูล หากเอกชนรายใดสามารถให้ผลประโยชน์แก่กทท.ได้มากที่สุดจะเป็นผู้ชนะการประมูล
รายงานข่าวจากกทท.กล่าวต่อว่า ส่วนไทม์ไลน์ของโครงการพัฒนาพื้นที่เชิงพาณิชย์และจุดจอดรถบรรทุก ท่าเรือแหลมฉบังพื้นที่ 90 ไร่ จะเริ่มเปิดประมูลได้ภายในปี 2567 โดยให้เอกชนเป็นผู้ลงทุนเองทั้งหมด และได้ตัวผู้ชนะการประมูลประมาณกลางปี 2567 หลังจากนั้นจะเริ่มดำเนินการก่อสร้างภายในปี 2568-2569 ใช้ระยะเวลาก่อสร้างประมาณ 1 ปีครึ่ง คาดว่าจะเปิดให้บริการก่อนปี 2570
“หลังจากทางท่าเรือแหลมฉบังมีแนวคิดโครงการฯนี้ พบว่ามีเอกชนสนใจลงทุนหลายราย เช่น บริษัท ปตท. นํ้ามัน และการค้าปลีก จำกัด (มหาชน) หรือ PTTOR ที่ให้ความสนใจโครงการฯนี้เพราะบริษัทมีความสามารถและประสบการณ์ในการทำจุดพักรถ ซึ่งเขาก็มั่นใจว่าสามารถเข้ามาบริหารได้ เนื่องจากที่ผ่านมาปตท.เคยมีการหารือกับกทท.ในการใช้พลังงานจากแสงอาทิตย์ (Solar Rooftop) แต่สิ่งที่สำคัญในการประมูลโครงการฯนี้ คือ ขีดความสามารถในการออกแบบให้มีการไหลเวียนของรถบรรทุกเพียงพอที่สามารถสร้างธุรกิจได้”
สำหรับโครงการพัฒนาจุดพักรถบรรทุกนั้น กทท.จะมีการกำหนดรูปแบบโครงการที่ต้องการให้เอกชนพัฒนาในรูปแบบผสมผสาน (มิกซ์ยูส) เช่น สถานีน้ำมัน,พื้นที่พักคอยของรถบรรทุก ,โรงแรมแคปซูล,ร้านอาหาร ,การให้บริการตู้แช่เย็น,การให้บริการซ่อมบำรุงรถที่เข้าไปใช้บริการ และสิ่งอำนวยความสะดวกอื่นๆ รวมทั้งจะต้องตอบโจทย์แผนความปลอดภัยของท่าเรือผ่านการควบคุมการเข้า-ออกของผู้ใช้บริการด้วย ส่วนรายละเอียดของร้านค้าหรือลักษณะในการออกแบบโครงการทางเอกชนจะต้องเป็นผู้นำเสนอ พร้อมยื่นข้อเสนอส่วนแบ่งรายให้กับ กทท.
ขณะเดียวกันตามแผนพัฒนาพื้นที่เชิงพาณิชย์ดังกล่าวเป็นแผนพัฒนาที่มีต้นแบบมาจากประเทศเนเธอร์แลนด์ จีน ฮ่องกง และสิงคโปร์ โดยเป็นการสร้างจุดพักรถบรรทุก เพื่อลดความแออัดในพื้นที่ท่าเรือแหลมฉบัง ซึ่งจะช่วยให้ผู้ขับรถสามารถใช้เวลาพักผ่อนในช่วงระหว่างรอคิวรับ-ส่งสินค้า เนื่องจากระยะเวลาในการรอคิวตรวจสินค้านานประมาณ 5-10 ชั่วโมง
รายงานข่าวจากกทท.กล่าวต่อว่า ที่ผ่านมาสำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (สกพอ.) ได้รับการร้องเรียนจากภาคประชาชนพบว่า ปัจจุบันมีลานพัฒนาย่านเปลี่ยนถ่ายสินค้า (CY) กระจายตัวในพื้นที่จังหวัดชลบุรีค่อนข้างมาก ในกรณีที่รถบรรทุกยังไม่ได้รับคิวและยังไม่ถึงวันที่กำหนดรับ-ส่งตู้สินค้า จะใช้พื้นที่ดังกล่าวรองรับรถบรรทุกที่เข้ามาใช้บริการเพื่อเป็นจุดพักรถชั่วคราวบริเวณลานพัฒนาย่านเปลี่ยนถ่ายสินค้า (CY) ก่อน แต่สิ่งที่เกิดขึ้น คือ ปัญหารถขนาดใหญ่ที่รุกล้ำเข้าไปในซอยของชาวบ้านที่อยู่อาศัย ซึ่งได้รับความเดือดร้อนเป็นอย่างมากนั้น ทำให้กทท.จะต้องพิจารณาเรื่องการจัดหาพื้นที่โดยจูงใจให้เอกชนมาใช้บริการ เพื่อรองรับรถบรรทุกที่มาใช้บริการในอนาคตด้วย
“การจัดหาพื้นที่ลานพัฒนาย่านเปลี่ยนถ่ายสินค้า (CY) จะเริ่มดำเนินการได้เมื่อไรนั้น ขึ้นอยู่กับการพิจารณาของพื้นที่ ซึ่งกทท.จะต้องหารือร่วมกับสกพอ. เพื่อสรุปแนวททางการแก้ไขปัญหาให้ออกมาเป็นรูปธรรม หากมีการกำหนดเชิงนโยบายโดยผ่านความเห็นชอบจากกระทรวงคมนาคม จะทำให้กทท.สามารถดำเนินการได้ แต่ถ้าในกรณีที่จัดทำโครงการฯโดยที่ไม่ได้มุ่งหวังกำไรเชื่อว่าจะไม่ผ่านในการขออนุมัติจากสำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (สคร.)”
ทั้งนี้การจัดหาพื้นที่ลานพัฒนาย่านเปลี่ยนถ่ายสินค้า (CY) นั้น เบื้องต้นกทท.จะมีการกำหนดพื้นที่ให้บริการบางแห่ง โดยเปิดให้ผู้ประกอบการเข้ามาเช่าพื้นที่เพื่อหารายได้ โดยกทท.อาจจะต้องมีการสนับสนุนงบประมาณในเรื่องนี้ ซึ่งเป็นสิ่งที่กทท.จะต้องเจรจาภายใต้นโยบายของภาครัฐให้ชัดเจน คาดว่าจะเริ่มเห็นการจัดหาพื้นที่และการกำหนดเป้าหมายขนาดลานพัฒนาย่านเปลี่ยนถ่ายสินค้า (CY) ภายในปี 2567