สมาคมผู้ประกอบการรถโดยสารฯ บุกปตท. ยื่นหนังสือตรึงราคา NGV 14 บาท

07 ส.ค. 2566 | 06:23 น.
อัพเดตล่าสุด :07 ส.ค. 2566 | 06:30 น.

สมาคมรถโดยสารสาธารณะ บุกปตท.ยื่นหนังสือตรึงราคาค่าก๊าซเอ็นจีวี 14.62 บาท อุ้มกลุ่มรถโดยสารสาธารณะ บรรเทาความเดือดร้อน หลังผู้โดยสารลดลง-ต้นทุนเพิ่มขึ้น เหตุโควิดพ่นพิษ

นายปัญญา เลิศหงิม นายกสมาคมรถตู้โดยสารสาธารณะ กรุงเทพฯ ปริมณฑล เปิดเผยว่า วันนี้ (7 ส.ค.66) สมาคมฯ ได้ยื่นหนังสือถึงคณะกรรมการผู้บริหาร บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) เรื่องผลกระทบการขอให้ปรับลดค่าก๊าซเอ็นจีวี เนื่องจากผู้ประกอบกิจการรถโดยสารประจำทางไทย รวมถึงสมาพันธ์ฯ รถโดยสารสาธารณะ กลุ่มสมาคมฯ รถโดยสารสาธารณะประจำทางทั้งในกรุงเทพฯ และปริมณฑล รวมไปถึงผู้ประกอบการรถโดยสารในต่างจังหวัดทุกเส้นทางทั่วประเทศ 

สมาคมผู้ประกอบการรถโดยสารฯ บุกปตท. ยื่นหนังสือตรึงราคา NGV 14 บาท

ทั้งนี้ได้สอบถามถึงการให้ส่วนลดราคาก๊าซธรรมชาติเอ็นจีวี ในรูปแบบบัตรสิทธิประโยชน์ กลุ่มรถโดยสารสาธารณะ ซึ่งมีราคาที่แตกต่างจากลุ่มรถแท็กซี่นั้น ได้ขอเข้าพบเพื่อสอบถามไปแล้ว จึงขอยื่นหนังสือขอให้ชี้แจงข้อสงสัยถึงสาเหตุของส่วนลดราคาก๊าซธรรมชาติที่ไม่เท่ากัน ของกลุ่มรถสาธารณะอย่างรถเมล์ รถสองแถว และรถตู้ ที่วิ่งประจำทาง ทั้งในกรุงเทพฯ ปริมณฑล และ ต่างจังหวัดดังนี้
 

1.เหตุใดราคาค่าก๊าซที่ได้ส่วนลดสำหรับรถประจำทางในหมวดขนส่งต้องจำแนกประเภททั้งที่มีต้นทุนมากกว่ารถยนต์ที่มีเครื่องยนต์ขนาดเล็กอย่างรถแท็กซี่ 2.ขอให้พิจารณาปรับส่วนลดค่าก๊าซธรรมชาติ สำหรับรถโดยสารประจำทางอยู่ที่ 14.62 บาทเท่ากับกลุ่มรถแท็กซี่ เนื่องจากมูลค่าต้นทุนรถโดยสารประจำทางมีสูงกว่า และไม่สามารถปรับลดราคาค่าโดยสารตามระยะของมิเตอร์เหมือนกับแท็กซี่ได้ และ 3.ขอให้ตรึงราคาก๊าซธรรมชาติเอ็นจีวีกับรถโดยสารประจำทางไว้ก่อน

สมาคมผู้ประกอบการรถโดยสารฯ บุกปตท. ยื่นหนังสือตรึงราคา NGV 14 บาท

นายบรรยงค์ อัมพรตระกูล ประธานสหพันธ์รถเมล์ กทม. และปริมณฑล กล่าวว่า วันนี้ได้ยื่นหนังสือถึงผู้บริหาร บริษัท ปตท. เรื่องขอให้มีมาตรการช่วยเหลือกลุ่มรถโดยสารสาธารณะทั้งหมดเท่ากับรถแท็กซี่ เนื่องจากตั้งแต่มีการใช้ก๊าซธรรมาชาติอัดสำหรับรถยนต์ หรือเอ็นจีวีในประเทศไทย เวลาที่มีมาตรการให้ส่วนลดราคาขายปลีกก๊าซเอ็นจีวีสำหรับรถโดยสารสาธารณะ ได้แก่ รถโดยสารประจำทาง รถแท็กซี่ รถตุ๊กตุ๊ก รถตู้ รถมินิบัส และรถสองแถว จะได้รับส่วนลดในอัตราเดียวกันมาโดยตลอด หลังจากที่เกิดโควิด-19 ช่วงต้นปี 63 คณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน ซึ่งมี รมว.พลังงานเป็นประธาน ทราบความเดือดร้อนกลุ่มผู้ประกอบการรถโดยสารสาธารณะในจำนวนผู้โดยสารที่ลดลง

ขณะเดียวกันจึงปรับราคาขายก๊าซเอ็นจีวีสำหรับรถโดยสารสาธารณะทั้งหมด ประกอบด้วย รถโดยสารประจำทาง รถแท็กซี่ รถตุ๊กตุ๊ก รถตู้ รถมินิบัส และรถสองแถว ลดลง 3 บาทต่อกิโลกรัม ระยะเวลา 4 เดือน ตั้งแต่ 1 เม.ย.-31 ก.ค.63 แล้วไม่ขยายเวลาช่วยเหลือต่อ จากนั้นรถแท็กซี่มาจอดปิดกระทรวงพลังงานช่วงเดือน ส.ค.-ก.ย.64 เริ่มช่วยเหลือด้วยโครงการเอ็นจีวี เพื่อลมหายใจเดียวกัน 

สมาคมผู้ประกอบการรถโดยสารฯ บุกปตท. ยื่นหนังสือตรึงราคา NGV 14 บาท

สำหรับรถแท็กซี่ในกรุงเทพฯ และปริมณฑล ลดค่าก๊าซเอ็นจีวีเหลือ 13.62 บาทต่อกิโลกรัม ตั้งแต่ 1 พ.ย.64 และต่อมาตรการช่วยเหลือมาโดยตลอดจนถึง 15 มิ.ย.66 ไม่มีการช่วยเหลือรถโดยสารสาธารณะอื่น ซึ่งได้รับความเดือดร้อนมากเช่นกัน การดำเนินการส่งผลให้รถโดยสารสาธารณะประเภทอื่นๆ เดือดร้อนมาก จนทำให้บางรายเลิกอาชีพและกิจการ ประชาชนไม่สามารถใช้บริการรถสาธารณะได้บางเส้นทาง

 

นายบรรยงค์ กล่าวต่อว่า ประกอบกับปัจจุบันผู้ประกอบการที่ได้รับผลกระทบโควิด-19 ยังไม่ฟื้นตัวและมีรายได้ต่ำกว่าช่วงปี 62 ที่ไม่มีโควิด-19 ผู้ประกอบการบางรายยังไม่เลิกกิจการและประคับประคองกิจการให้รอดแม้จะมีหนี้สินเพิ่ม ดังนั้นร้องขอให้ ปตท. ตรึงราคาค่าก๊าซเอ็นจีวีสำหรับรถสาธารณะทุกประเภทเท่ากับที่ราคาให้แก่รถแท็กซี่คือ 14.62 บาทต่อกิโลกรัม จนสิ้นสุดมาตรการช่วยเหลือบัตรสิทธิประโยชน์กลุ่มรถโดยสารสาธารณะ 

 

“ปัจจุบันราคาค่าก๊าซเอ็นจีวีอยู่ที่ 17.59 บาทต่อกิโลกรัม แนวโน้มอนาคตจะเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ซึ่งทำให้มีต้นทุนเดินรถเพิ่มขึ้นอีก เช่น รถสองแถวเดิมเคยจ่ายค่าก๊าซเอ็นจีวีอยู่ที่ 300 บาทต่อคันต่อวัน แต่ปัจจุบันจ่ายอยู่ที่ 600 บาทต่อคันต่อวัน ขณะที่อัตราค่าโดยสารไม่สามารถปรับขึ้นให้สอดคล้องกับต้นทุนเดินรถได้”