ความชัดเจน นโยบายเติมเงิน 10,000 บาท ผ่าน Digital Wallet หรือ เงินดิจิทัลวอลเล็ต รัฐบาลแพทองธาร ชินวัตร มีความคืบหน้าล่าสุดเกี่ยวกับการบรรจุเอาไว้ใน คำแถลงนโยบายของคณะรัฐมนตรีต่อรัฐสภา ภายหลัง ครม.แพทองธาร นัดพิเศษ ได้พิจารณาร่างคำแถลงเบื้องต้นที่สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี เสนอเข้ามาให้ทที่ประชุมพิจารณา เป็นที่เรียบร้อยแล้ว และได้ปรับแก้ไขเนื้อหาบางส่วน
แหล่งข่าวจากทำเนียบรัฐบาล เปิดเผยกับฐานเศรษฐกิจว่า นโยบายเติมเงินดิจิทัลวอลเล็ต 10,000 บาท ภายใต้รัฐบาลน.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ได้ถูกบรรจุลงในคำแถลงนโยบายต่อรัฐสภาเรียบร้อยแล้ว ซึ่งเป็นการยืนยันความชัดเจนว่า รัฐบาลใหม่ ยังเดินหน้าโครงการเรือธงนี้ต่อเนื่อง แม้ว่าในรายละเอียดอื่น ๆ ของโครงการจะยังไม่ชัดเจน ทั้งการจัดเตรียมแหล่งเงินรองรับ 4.5 แสนล้านบาท และการจัดทำระบบเกี่ยวกับการจ่ายเงินจะยังไม่แล้วเสร็จ
ทั้งนี้ในรายละเอียดของนโยบายเติมเงินดิจิทัลวอลเล็ต 10,000 บาท ที่จะเขียนลงในคำแถลงนโยบายต่อรัฐสภานั้น แหล่งข่าวยอมรับว่า ที่ผ่านมาสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี และสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ได้ร่วมกันพิจารณารายละเอียดของร่างคำแถลงนโยบายของรัฐบาลเสร็จสิ้น และได้นำเสนอครม.เป้นร่างแรกเพื่อรับฟังความคิดเห็นก่อนปรับปรุงรายละเอียดเพิ่มเติม
“เบื้องต้นในเนื้อหาของนโยบายเติมเงินดิจิทัลวอลเล็ต 10,000 บาท ที่จะเขียนลงไปในคำแถลงนโยบายต่อรัฐสภา จะเพิ่มข้อความในลักษณะที่ว่า รัฐบาลจะให้ความสำคัญกับ กลุ่มเปราะบาง เติมลงไปในการแจกเงินดิจิทัลวอลเล็ตด้วย ซึ่งก็สอดคล้องกับสถานการณ์ที่เปลี่ยนไปจากรัฐบาลเดิม”
จากการตรวจสอบเนื้อหาของคำแถลงนโยบายต่อรัฐสภาของรัฐบาลเศรษฐา ทวีสิน มีเนื้อหาตอนหนึ่งเกี่ยวกับการเดินหน้านโยบายเติมเงินดิจิทัลวอลเล็ต 10,000 บาท โดยระบุว่า
ด้วยสภาพเศรษฐกิจในปัจจุบัน ประเทศไทยเปรียบเสมือนคนป่วยที่ได้รับผลกระทบมากกว่าประเทศเพื่อนบ้านในช่วงโควิด-19 ส่งผลให้เครื่องยนต์ทางเศรษฐกิจของเราในหลากหลายส่วนภาคการท่องเที่ยว การใช้จ่ายก็ฟื้นฟูได้ช้าจนมีความเสี่ยงของภาวะเศรษฐกิจถดถอย เป็นที่มาของความจำเป็นที่จะต้องกระตุ้นเศรษฐกิจ กระตุ้นการใช้จ่าย เพิ่มความเชื่อมั่นเพื่อดึงดูดการลงทุนและฟื้นฟูเครื่องยนต์เศรษฐกิจของเราอีกครั้ง
นโยบายการเติมเงิน 10,000 บาท ผ่าน Digital Wallet จะทำหน้าที่เป็นตัวจุดชนวนที่จะกระตุกเศรษฐกิจประเทศให้ตื่นขึ้นมาอีกครั้ง เราจะใส่เงินเข้าไปในระบบเศรษฐกิจอย่างทั่วถึงและกระจายไปยังทุกพื้นที่ให้หมุนเวียนอยู่ในระบบเศรษฐกิจให้ถึงฐานราก เกิดการจับจ่ายใช้สอยยกระดับคุณภาพชีวิตและสร้างโอกาสในการประกอบอาชีพของประชาชน และภาคธุรกิจที่จะขยายการลงทุน ขยายกิจการ เกิดการผลิตสินค้าที่มากขึ้น
นำไปสู่การจ้างงาน สร้างอาชีพและเกิดการหมุนเวียนของกิจกรรมทางเศรษฐกิจอีกหลายรอบ รัฐบาลเองก็จะได้รับผลตอบแทนคืนมาในรูปแบบของภาษี
ที่สำคัญการดำเนินนโยบายนี้จะเป็นการวางรากฐานเศรษฐกิจดิจิทัลให้กับประเทศเป็นการเตรียมความพร้อมของประเทศให้เข้าสู่เศรษฐกิจสมัยใหม่ สร้างโอกาสใหม่ ๆ ให้กับประชาชน เปิดประตูให้ภาคธุรกิจได้เข้าถึงแหล่งทุนใหม่ เพิ่มประสิทธิภาพและสร้างความโปร่งใสให้กับกลไกการชำระเงินของระบบเศรษฐกิจและรัฐบาล
แหล่งข่าวกล่าวทิ้งท้ายว่า จากการปรับเปลี่ยนเนื้อหาในคำแถลงนโยบายรัฐบาลต่อรัฐสภาครั้งนี้ โดยเพิ่มกลุ่มเปราะบางเข้าไปด้วยนั้น ถือว่าสอดคล้องกับคำให้สัมภาษณ์ของรมช.คลังก่อนหน้านี้ว่า จะปรับเปลี่ยนเงื่อนไขบางส่วนของโครงการ โดยเฉพาะงบเพิ่มเติมปี 2567 วงเงิน 1.22 แสนล้านบาท ซึ่งจำเป็นต้องเร่งใช้จ่าย โดยจะโยกมาแจกให้กับกลุ่มผู้ถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐและกลุ่มเปราะบาง 14.5 ล้านคนเป็นลำดับแรก แต่ทั้งหมดก็ต้องรอให้รัฐบาลแถลงความชัดเจนอีกครั้ง