พลังแห่งครอบครัวสู่การทำงานที่ยอดเยี่ยม

07 ก.ย. 2567 | 22:35 น.

พลังแห่งครอบครัวสู่การทำงานที่ยอดเยี่ยม : Family Business Thailand รศ.ดร.เอกชัย อภิศักดิ์กุล คณบดีคณะวิทยพัฒน์และผู้อำนวยการศูนย์ธุรกิจครอบครัว มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย [email protected]

แต่เดิมนั้นครอบครัวมักถูกมองว่าเป็นคู่แข่งกับงานในเรื่องของการใช้ทรัพยากร เช่น เวลาและพลังงาน แต่งานวิจัยเกี่ยวกับแรงจูงใจจากครอบครัว (family motivation) กลับชี้ให้เห็นว่าพนักงานที่ทำงานได้ดีที่สุดคือคนที่ทำงานเพื่อครอบครัวไม่ใช่เพื่อตัวเอง โดยครอบครัวสามารถเป็นแหล่งพลังงานสำคัญในการทำงาน และเป็นแหล่งแรงจูงใจสำคัญในการทำงาน

พนักงานที่มีแรงจูงใจจากครอบครัวมักจะทำงานอย่างเต็มที่ ซึ่งไม่เพียงเพราะต้องการให้มีรายได้เพียงพอเพื่อดูแลครอบครัวเท่านั้น แต่ยังเพราะต้องการเป็นแบบอย่างที่ดีให้กับลูกๆและสมาชิกในครอบครัวอีกด้วย

นอกจากนี้การทำงานที่ดียังสามารถสร้างความภาคภูมิใจให้กับครอบครัวได้ พนักงานจะรู้สึกยินดีและมีพลังเมื่อได้เห็นความภาคภูมิใจในสายตาของครอบครัวเมื่อตนประสบความสำเร็จในการทำงาน และการมีครอบครัวยังช่วยเสริมสร้างความมุ่งมั่นและความตั้งใจในการทำงานให้กับพนักงาน

โดยการที่รู้ว่ามีภาระหน้าที่ในการดูแลครอบครัวหลังเลิกงาน กลับทำให้พนักงานเหล่านี้มุ่งมั่นที่จะทำงานอย่างมีประสิทธิภาพในระหว่างเวลาทำงาน นอกจากนี้พนักงานที่มีครอบครัวมักรายงานว่าตนมีความทุ่มเทในการทำงานมากกว่าพนักงานโสดที่ไม่มีลูก

พลังแห่งครอบครัวสู่การทำงานที่ยอดเยี่ยม

แม้ว่าการมีครอบครัวอาจเคยถูกมองว่าเป็นสิ่งที่ทำให้เสียสมาธิในการทำงาน แต่ในความเป็นจริงแล้ว ชีวิตครอบครัวที่ดีสามารถส่งผลดีต่อการทำงานได้หลายด้าน และแรงจูงใจจากครอบครัวยังสามารถเพิ่มความเชื่อมั่นในตัวเองของพนักงาน ทำให้รู้สึกว่าตนสามารถทำงานให้สำเร็จได้

อีกทั้งเหตุการณ์ที่ดีในครอบครัวยังช่วยเสริมสร้างแรงจูงใจในการทำงานเพื่อประโยชน์ของผู้อื่นด้วย (prosocial motivation) โดยเฉพาะในบทบาทของผู้นำ แรงจูงใจจากครอบครัวนี้จะส่งผลให้ผู้นำมีความเป็นมิตรและสามารถสร้างแรงบันดาลใจให้กับทีมงานได้ดีขึ้น

ซึ่งผลลัพธ์ทั้งหมดนี้แสดงให้เห็นว่าครอบครัวไม่ได้เป็นเพียงแค่ส่วนหนึ่งในชีวิตส่วนตัวของพนักงานเท่านั้น แต่ยังเป็นปัจจัยสำคัญที่สามารถส่งเสริมประสิทธิภาพและความสำเร็จในที่ทำงานได้อย่างมีนัยสำคัญ

วิธีที่องค์กรสามารถส่งเสริมให้พนักงานนำครอบครัวมาสู่ที่ทำงาน เนื่องจากครอบครัวเป็นแรงจูงใจในการทำงานของพนักงาน ดังนั้นองค์กรสามารถส่งเสริมให้พนักงานนำครอบครัวมามีส่วนร่วมในที่ทำงานได้โดยการจัดกิจกรรม เช่น วันพาลูกมาทำงาน หรือจัดให้มีสถานที่รับเลี้ยงเด็กในสำนักงาน เป็นต้น

นอกจากนี้การอนุญาตให้พนักงานนำสิ่งของที่เกี่ยวข้องกับครอบครัว เช่น รูปถ่ายหรือภาพวาดของลูกมาตกแต่งโต๊ะทำงานยังสามารถช่วยกระตุ้นแรงจูงใจและลดพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสมได้ ซึ่งการระลึกถึงครอบครัวในที่ทำงานสามารถส่งเสริมให้พนักงานทำงานได้ดีที่สุด

หลีกเลี่ยงด้านลบของแรงจูงใจจากครอบครัว แม้ครอบครัวจะเป็นแรงจูงใจที่ดีในการทำงาน แต่ก็มีความเสี่ยงและความท้าทายที่ต้องพิจารณา คือหากพนักงานรู้สึกว่าต้องทำงานหนักเกินไปเพื่อครอบครัว อาจนำไปสู่ความเครียดและภาวะหมดไฟได้

นอกจากนี้แรงจูงใจจากครอบครัวยังอาจทำให้พนักงานไม่กล้าเปลี่ยนงานหรือรับความเสี่ยง เพราะกลัวว่าจะส่งผลกระทบต่อครอบครัว เช่น ไม่ยอมเปลี่ยนงานที่ไม่ดึงดูดใจเพราะครอบครัวลำบาก เป็นต้น

ดังนั้นเพื่อหลีกเลี่ยงปัญหาเหล่านี้ องค์กรควรสนับสนุนพนักงานโดยการสร้างสภาพแวดล้อมการทำงานที่ดีและมั่นคง เช่น การให้สิทธิประโยชน์ที่เกี่ยวกับครอบครัว เช่น การลางานเพื่อดูแลบุตรหรือการทำงานที่ยืดหยุ่น และควรสร้างสภาพแวดล้อมที่ปลอดภัยทางจิตใจ ซึ่งพนักงานรู้สึกปลอดภัยที่จะเสี่ยงและทดลองสิ่งใหม่ ๆ

โดยไม่ต้องกลัวว่าจะสูญเสียงานหรือถูกมองในแง่ลบ ทั้งนี้การให้ความสำคัญกับแรงจูงใจจากครอบครัวและจัดสมดุลอย่างเหมาะสมสามารถช่วยให้องค์กรได้รับประโยชน์จากความทุ่มเทของพนักงาน ในขณะเดียวกันก็ป้องกันผลกระทบด้านลบที่อาจเกิดขึ้นจากแรงกดดันในเรื่องครอบครัวได้อีกด้วย

 

หน้า 17 ฉบับที่ 4,024 วันที่ 5 - 7 กันยายน พ.ศ. 2567