สินค้าจีนทะลักถล่ม 20 อุตสาหกรรมไทยอ่วม ส.อ.ท.หวังรัฐบาลใหม่ช่วย

16 ส.ค. 2566 | 05:30 น.
อัปเดตล่าสุด :16 ส.ค. 2566 | 05:30 น.

สินค้าจีนทะลักถล่ม 20 อุตสาหกรรมไทยอ่วม ส.อ.ท.หวังรัฐบาลใหม่ช่วย หลังตลาดโลกที่ซื้อสินค้าจีนมีออเดอร์ชะลอตัว รวมถึงเศรษฐกิจยังไม่ฟื้นตัวเท่าที่ควร ขณะที่การผลิตสินค้าเท่าเดิม

แหล่งข่าวจากสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) ระบุว่า ในการประชุมร่วมของ 45 กลุ่มอุตสาหกรรมพบว่ากว่า 20 กลุ่มอุตสาหกรรมกำลังเดือดร้อนอย่างหนักจากการที่สินค้าจีนเข้ามาตีตลาด จากปกติจะได้รับผลกระทบประมาณ5-6อุตสาหกรรม อาทิ อุตสาหกรรมเหล็ก 

แต่ปัจจุบันสินค้าจีนเข้ามากระทบสินค้าไทยกว่า 20กลุ่มอุตสาหกรรมแล้ว อาทิ อุตสาหกรรมยา อุตสาหกรรมอะลูมิเนียม อุตสาหกรรมปิโตรเคมี อุตสาหกรรมเม็ดพลาสติก อุตสาหกรรมเซรามิก

ทั้งนี้ สาเหตุหลักมาจากการที่ตลาดโลกที่ซื้อสินค้าจีนมีออเดอร์ชะลอตัว รวมถึงเศรษฐกิจยังไม่ฟื้นตัวเท่าที่ควร ขณะที่การผลิตสินค้าเท่าเดิม เมื่อสินค้าล้นจึงหาตลาดรองรับ โดยส่วนหนึ่งกระจายเข้ามาในประเทศไทย ซึ่งสินค้าจีนมีราคาถูก ปกติก็เข้ามาแย่งส่วนแบ่งตลาดอยู่แล้ว แต่เวลานี้ปริมาณสินค้าเข้ามามากและหลากหลายขึ้น ทำให้ผู้ผลิตไทยได้รับผลกระทบเต็มโดยเฉพาะกลุ่มผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดย่อม

"เรื่องดังกล่าวถือเป็นปัญหาหลายทอดสำหรับภาคการผลิตของไทย โดยที่ผ่านมาเผชิญกับตัวเลขส่งออกติดลบต่อเนื่องหลายเดือน จนส.อ.ท.กังวลเรื่องการผลิตที่ลดลง หลายรายผลิตเพื่อประคองการจ้างงาน และหวังออเดอร์จะกลับมา ต่อมาเจอกับปัญหาหนี้ครัวเรือนพุ่งสูงจนกำลังซื้อชะลอตัว หลายอุตสาหกรรมยอดขายลดลง อาทิ รถยนต์ เพราะไฟแนนซ์เข้ม จนล่าสุดผลจากเศรษฐกิจโลกที่ทำให้สินค้าจีนขายไม่ออกแต่ผลิตแล้วจึงทะลักเข้าไทยแทน ยิ่งซ้ำเติมภาคอุตสาหกรรมไทย กังวลว่าอาจกระทบการจ้างงานมากขึ้น เวลานี้ทุกอุตสาหกรรมกำลังปรับตัว และกำลังเตรียมแผนเพื่อเสนอรัฐบาลใหม่ช่วยเหลือ"

นายเกรียงไกร เธียรนุกุล ประธาน ส.อ.ท. กล่าวว่า ปลายสัปดาห์ที่ผ่านมา ประธานกลุ่มอุตสาหกรรม ส.อ.ท. ทั้ง 45 กลุ่ม ได้หารือร่วมกันถึงสถานการณ์การผลิตของภาคอุตสาหกรรมไทย และภาพรวมเศรษฐกิจไทยในช่วงครึ่งปีหลัง 2566 โดยประธานกลุ่มอุตสาหกรรมทั้ง 45 กลุ่มต่างคาดหวังให้ประเทศไทยมีการจัดตั้งรัฐบาลใหม่โดยเร็วภายในเดือนสิงหาคม-กันยายนนี้ เพื่อเร่งออกนโยบายบริหารเศรษฐกิจประเทศ

โดยกระตุ้นเศรษฐกิจในประเทศ และการออกนโยบายสนับสนุนการส่งออก เร่งรัดเขตการค้าเสรี(เอฟทีเอ)กับประเทศต่างๆ อาทิ เอฟทีเอไทย-ยุโรป เพราะขณะนี้ภาคการผลิตในแต่ละอุตสาหกรรมกำลังหดตัว จากกำลังซื้อในประเทศที่หดตัวจากปัญหาหนี้ครัวเรือน เฉพาะในระบบ 90.16% และนอกระบบอีก 19.6% รวม 110% ประชาชนระมัดระวังการใช้จ่าย
 

ขณะที่การส่งออกก็ติดลบต่อเนื่องจนกังวลว่ายอดส่งออกจะต่ำกว่าลบ2% นอกจากนี้ยังได้รับข้อมูลจากกลุ่มอุตสาหกรรมประมาณครึ่งหนึ่งหรือกว่า 20 อุตสาหกรรม กำลังได้รับความเดือดร้อนจากสินค้าจีนที่เข้ามาตีตลาดในไทยจำนวนมาก

"ปัญหาเหล่านี้เป็นภารกิจเร่งด่วนที่รัฐบาลใหม่ต้องเข้ามาแก้ปัญหา ส่วนทีมเศรษฐกิจอยากให้มีความรู้ วิสัยทัศน์ และมีประสบการณ์ โดยเฉพาะกระทรวงสำคัญๆ อย่างกระทรวงการคลัง"