26 สิงหาคม 2566 นายธนวรรธน์ พลวิชัย อธิการบดีมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เปิดเผยว่า จากนโยบายพรรคเพื่อไทย (พท.) ที่จะดำเนินนโยบายเงินดิจิทัล 10,000 บาทได้ตามที่หาเสียงไว้นั้น แม้จะต้องใช้งบสูงถึงกว่า 5 แสนล้านบาท เพราะในรัฐบาลประยุทธ์ที่ตั้งงบประมาณรายจ่าย 3 ล้านล้านบาท ยังทำงบประมาณขาดดุลไว้ 7 แสนล้านบาทโดยรัฐบาลใหม่จะต้องพูดคุยกับสำนักงบประมาณให้ขยับการใช้งบประมาณปี 67 บางส่วนออกไป
ทั้งนี้ เชื่อว่ารัฐบาลใหม่จะรักษาวินัยการการคลังได้ ไม่ให้ขาดดุลเกิน 60% แม้จะมีเพดานไว้ที่ 70% หรือไม่เกิน 4% ของ GDP หรือรัฐบาลอาจทยอยให้เงินเป็น 3 งวด ไตรมาสแรก 4,000 บาท ไตรมาส 2 ให้ 3,000 บาท และไตรมาส 3 อีก 3,000 บาทก็จะทำให้เงินหมุนจากงบประมาณปี 67 ถึงในปีงบประมาณปี 68 ได้
หากมีการใช้นโยบายนี้สิ่งที่จะได้กลับมา คือ ภาษีมูลค่าเพิ่ม 7% หรือประมาณ 3-3.5 หมื่นล้านบาทเข้าคลัง ปีถัดมาจะได้ภาษีนิติบุคคลจากร้านค้าที่มีรายได้กำไรมากขึ้น
ที่สำคัญจะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจในปีหน้าให้เติบโต 5-7% จากปีนี้ที่ 2-3% เพราะเงินจะหมุนไป 2-3 รอบ โดยคาดว่า จะเริ่มใช้เงินดิจิทัลได้ช่วงต้นปี 67 ถึงเดือน เม.ย.67 คาดระยะแรกประชาชนจะใช้เงินราว 1 แสนล้านบาท
นอกจากนี้เมื่อได้รัฐบาลใหม่ในเดือน ก.ย.หรือต้น ต.ค.66 สถานการณ์ทางการการเมืองนิ่ง รัฐบาลควรจะโรดโชว์ในต่างประเทศดึงเม็ดเงินลงทุน โปรโมตการท่องเที่ยวไทยเพราะคนกล้าใช้จ่าย เอกชนทั้งไทยและต่างประเทศกล้าลงทุน
ขณะที่คาดว่า ส่งออกไทยน่าจะฟื้นจากปีนี้ติดลบ 1-2% เนื่องจากตลาดต่างประเทศมีปัจจัยลบรุมเร้าจากเศรษฐกิจโลกทรุดตัวจากการปรับขึ้นดอกเบี้ย เศรษฐกิจจีนฟื้นตัวช้า แต่ไอเอ็มเอฟคาดเศรษฐกิจปีหน้าจะฟื้นตัวดีขึ้น คาดปีหน้าส่งออกขยายตัว 3-5% อย่างไรก็ดี ยังมีปัจจัยเสี่ยงเรื่องภาวะภัยแล้งในปีหน้า