นายพิเชฐ คุณาธรรมรักษ์ อธิบดีกรมการขนส่งทางราง(ขร.) เปิดเผยภายหลังเป็นประธานเปิดงานสัมมนาโครงการศึกษา ออกแบบ และพัฒนาระบบฐานข้อมูลผู้ประกอบการและการออกใบอนุญาตด้านการขนส่งทางรางผ่านระบบดิจิทัล (e-License R) ครั้งที่ 3 ว่า ปัจจุบัน ขร. จัดทำรายละเอียดต่างๆ ในการออกใบอนุญาตประกอบกิจการขนส่งทางราง ทั้งใบอนุญาตผู้ประกอบการ ผู้ประจำหน้าที่ และการจดทะเบียนรถขนส่งทางราง เสร็จเรียบร้อยแล้ว ซึ่ง ขร. พร้อมดำเนินการออกใบอนุญาตฯ ทันที เมื่อร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.)การขนส่งทางราง มีผลบังคับใช้
“เราต้องรอดูว่ารัฐบาลยืนยันการพิจารณาร่างกฎหมายดังกล่าวที่ค้างอยู่กลับไปสภาผู้แทนราษฎรว่าจะเดินหน้ากฎหมายต่อได้ทันภายในวันที่ 2 ก.ย.66 ซึ่งเป็นวันสุดท้ายของกรอบเวลาที่รัฐธรรมนูญเปิดช่องไว้ว่าจะต้องยืนยันกลับมาภายใน 60 วันนับตั้งแต่ประชุมสภาผู้แทนราษฎรครั้งแรกเมื่อวันที่ 4 ก.ค.ที่ผ่านมาหรือไม่ หากไม่ทัน ขร. จะต้องเริ่มกระบวนการนำเสนอใหม่ ตั้งแต่เสนอคณะรัฐมนตรี(ครม.) ซึ่งจะทำให้แผนการดำเนินการออกใบอนุญาตฯ ล่าช้าไปจากเดิมประมาณ 1 ปี จากเดิมที่คาดว่าจะมีผลคับใช้ประมาณปลายปี 66 เป็นประมาณปลายปี 67”
สำหรับใบอนุญาต แบ่งเป็น 3 ประเภท ได้แก่ 1.ใบอนุญาตผู้ประกอบกิจการขนส่งทางราง 8 ราย มีอายุ 30 ปี แบ่งเป็น 1.1 ใบอนุญาตประกอบกิจการรางเพื่อการขนส่ง อัตราค่าธรรมเนียม 3 แสนบาท 1.2 ใบอนุญาตประกอบกิจการเดินรถขนส่งทางราง อัตราค่าธรรมเนียม 1.5 แสนบาท และ และ 1.3 ใบอนุญาตประกอบกิจการรางเพื่อการขนส่ง และการเดินรถขนส่งทางราง อัตราค่าธรรมเนียม 4.5 แสนบาท
2. ใบอนุญาตผู้ประจำหน้าที่ อาทิ พนักงานขับรถไฟ/รถไฟฟ้า/รถไฟความเร็วสูง และพนักงานควบคุมการเดินรถ ซึ่งปัจจุบันมีอยู่รวมประมาณ 2,236 คน โดยใบอนุญาตมีอายุ 5 ปี ให้สำหรับผู้ที่มีอายุ 20 ปีขึ้นไป อัตราค่าธรรมเนียม 2 พันบาท
3.ใบอนุญาตจดทะเบียนรถขนส่งทางราง ซึ่งผู้ประกอบการต้องนำข้อมูล อาทิ รถไฟ/รถไฟฟ้า/รถไฟความเร็วสูง มีตู้กี่ตู้ มาจดทะเบียนทั้งหมด ปัจจุบันมีประมาณ 10,266 คัน โดยใบอนุญาตมีอายุ 8 ปี โดยในระหว่างนั้นต้องมีการตรวจสภาพตามที่กำหนด หากไม่ตรวจจะถูกพักใช้รถ และเพิกถอนใบอนุญาตฯ มีอัตราค่าธรรมเนียม ค่าหนังสือจดทะเบียนขนส่งทาง 1,000 บาท รวมถึงแผ่นป้ายทะเบียนรถขนส่งทางราง 1,000 บาท
ทั้งนี้ใบอนุญาตฯ ทุกประเภทจะออกให้ผู้ประกอบการ และผู้ปฏิบัติหน้าที่รายเดิมโดยไม่เสียค่าธรรมเนียม เมื่อใบอนุญาตหมดอายุต้องมีการทดสอบ และผ่านสมรรถนะก่อนจึงจะได้รับการต่อใบอนุญาตฯ ทั้งนี้หาก ขร. พบว่าผู้ประกอบการฯ พนักงานขับรถ และรถขนส่งทางราง ไม่มีใบอนุญาต หรือไม่ส่งข้อมูลให้ ขร. ตรวจสอบ และทำใบอนุญาตปลอม จะมีบทลงโทษทางปกครอง และทางอาญา หรือทั้งจำ และปรับ
นอกจากนี้ผู้ขอใบอนุญาตฯ จะต้องยื่นขอใบอนุญาตฯ ผ่านเว็บไซต์เพื่อลงทะเบียน โดย e-License R จะเชื่อมโยงกับระบบของ 2 หน่วยงานภาครัฐ ได้แก่ ระบบยืนยันตัวบุคคลกลาง (e-Authentication) ของสำนักงานพัฒนารัฐบาลดิจิทัล (DGA) และระบบรับชำระเงินกลางของบริการภาครัฐ ของกรมบัญชีกลาง เพื่อความปลอดภัยในการใช้งาน และสะดวกในการเข้าใช้บริการ โดบใบอนุญาตฯ ที่ออกให้นั้นจะเป็นใบอนุญาตฯ อิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งสามารถดูได้ผ่านแอพพลิเคชั่น DRT
อย่างไรก็ตาม e-License R จะทำให้ ขร. สามารถรวบรวมฐานข้อมูลผู้ที่มีศักยภาพ รถที่มีมาตรฐาน และอนาคตเมื่อมีผู้ประกอบการรายใหม่ๆ ก็สามารถมีบุคลากร หรือรถพร้อมทำงานในระบบราง และการออกใบอนุญาตขนส่งทางรางผ่านระบบดิจิทัล เป็นหนึ่งในแผนงาน ขร. ที่มุ่งมั่นส่งเสริมการพัฒนาระบบขนส่งทางรางให้มีความทันสมัย ปลอดภัย มีประสิทธิภาพ เพื่อให้ประชาชนมั่นใจในการเดินทางด้วยระบบขนส่งทางรางต่อไป