นายสุรเชษฐ์ เหล่าพูลสุข ผู้ว่าการการทางพิเศษแห่งประเทศไทย เปิดเผยภายหลังเป็นประธานในการเปิดการประชุมรับฟังความคิดเห็นของภาคเอกชน (Market Sounding) สำหรับการให้เอกชนร่วมลงทุนโครงการพัฒนาและบริหารจัดการที่พักริมทางในเขตทางพิเศษบริเวณบางโปรง และ โครงการพัฒนาและบริหารจัดการที่พักริมทางในเขตทางพิเศษ และ Park and Ride บริเวณข้างมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต ว่า
กทพ.ได้เชิญผู้ประกอบการ นักลงทุน สถาบันการเงิน ภาคเอกชนทั้งในประเทศ และต่างประเทศ เข้าร่วมการประชุม โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อนำเสนอรายละเอียดของโครงการและนำข้อคิดเห็นที่เป็นประโยชน์จากภาคเอกชนมาพิจารณาประกอบการศึกษาและวิเคราะห์โครงการ ตามขั้นตอนการเสนอโครงการตามพระราชบัญญัติการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน พ.ศ.2562 ต่อไป
"ทั้ง2โครงการนี้ เป็นโครงการที่พักริมทาง (Rest Area) ที่ให้เอกชนเข้าร่วมลงทุนกับภาครัฐในรูปแบบPPP ซึ่งไม่ใช่โครงการทางด่วน โดยกทพ.มีพื้นที่ของตัวเองประมาณ 50-60 แห่ง ปัจจุปันมีรายได้ราว 20,000 ล้านบาทต่อปี เรายอมรับว่าเรามีพื้นที่และงบประมาณ แต่เราไม่มีความรู้หรือวิธีการ (Khow-how) ทำให้เราให้แผนอยากให้เอกชนเข้ามาร่วมลงทุนในครั้งนี้ด้วย"
นอกจากนี้กทพ.มีแผนออกแบบก่อวร้างททงยกระดับ (Lamp) เข้า-ออกภายในพื้นที่โครงการที่พักริมทางบางโปรงฯ พื้นที่ 60 ไร่ ซึ่งอยู่บริเวณถนนกาญจนาภิเษกเชิ่อมทางด่วนบูรพาวิถี เพื่อแก้ปัญหารถติด ขณะที่โครงการที่พักริมทางในเขตทางพิเศษบริเวณมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิตฯ ซึ่งอยู่ใกล้บริเวณทางด่วนอุดรรัถยา พื้นที่ 80 ไร่ เชื่อว่าการพัฒนาพื้นที่เชิงพาณิชย์ในครั้งนี้ จะช่วยตอบโจทย์ผู้ใช้บริการของโรงพยาบาลธรรมศาสตร์ รังสิตให้มีความสะดวกมากขึ้น
สำหรับโครงการการพัฒนาและบริหารจัดการที่พักริมทางในเขตทางพิเศษบริเวณบางโปรง มีพื้นที่ 60 ไร่ ตั้งอยู่บริเวณ กม. 17+300 ของทางพิเศษกาญจนาภิเษก (บางพลี-สุขสวัสดิ์) ซึ่งเป็นทางพิเศษที่มีปริมาณการจราจรสูงและมีการควบคุมการเข้าออกอย่างสมบูรณ์ เป็นที่พักริมทางที่มีสิ่งอำนวยความสะดวกต่างๆ เช่น พื้นที่จอดรถ สถานีบริการน้ำมัน ร้านค้า ห้องน้ำ บริการข้อมูลการเดินทาง เป็นต้น
โครงการมีมูลค่าลงทุนรวมประมาณ 2,324 ล้านบาท แบ่งเป็น ค่าก่อสร้าง 627 ล้านบาท และค่าบริหารจัดการและบำรุงรักษาตลอดอายุโครงการ 1,697 ล้านบาท
ขณะที่โครงการพัฒนาและบริหารจัดการที่พักริมทางในเขตทางพิเศษ และ Park and Ride บริเวณข้างมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต มีพื้นที่ 80 ไร่ อยู่บริเวณข้างมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ศูนย์รังสิต ตั้งอยู่ในพื้นที่ศูนย์กลางของการเชื่อมโยงในระดับภูมิภาค ใกล้เคียงชุมชนการศึกษาขนาดใหญ่และหน่วยงานต่าง ๆ ในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต เป็นที่พักริมทางและพื้นที่จอดแล้วจร (Park+&Ride) อยู่ในพื้นที่เดียวกัน
โครงการมีมูลค่าลงทุนรวมประมาณ 2,780 ล้านบาท แบ่งเป็น ค่าก่อสร้าง 706 ล้านบาท และค่าบริหารจัดการและบำรุงรักษาตลอดอายุโครงการ 2,074 ล้านบาท
นายสุรเชษฐ์ กล่าวว่า หลังจากการเปิดรับฟังความคิดเห็นแล้วเสร็จ เบื้องต้น กทพ. จะดำเนินการในขั้นตอนการจัดทำรายงานการศึกษาและวิเคราะห์โครงการฯ คาดว่าจะแล้วเสร็จภายในปลายปี 2566 หลังจากนั้นจะเสนอโครงการฯ เพื่อขออนุมัติต่อ ครม.ภายในกลางปี 2567
หากครม.อนุมัติโครงการฯแล้วจะเริ่มกระบวนการคัดเลือกเอกชนเพื่อร่วมลงทุนภายในรูปแบบ PPP Net cost สัญญาสัมปทาน 33 ปี ทั้งนี้ 2 โครงการ ไม่จำเป็นต้องเสนอคณะกรรมการนโยบายการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน (คณะกรรมการPPP) เนื่องจากงบประมาณไม่ถึงเกณฑ์ที่กำหนดที่ต้องเสนอ
ตามแผนโครงการฯ จะเริ่มก่อสร้างได้ภายในช่วงต้นปี 2568 และเปิดให้บริการเต็มรูปแบบในปี 2571 คาดว่าทั้ง 2 โครงการ จะสร้างผลตอบแทนทางเศรษฐกิจ (EIRR) ประมาณ 10%