ทนง แนะ “แจกเงินดิจิทัล” ต้องมีกลไกหมุนเงินเพิ่ม แก้ชาวบ้านยากจน

31 ส.ค. 2566 | 11:53 น.
อัปเดตล่าสุด :31 ส.ค. 2566 | 15:01 น.

“ทนง” อดีตรมว.คลัง ชี้โควิดทำหนี้ครัวเรือนพุ่ง 16 ล้านล้านบาท แนะ “แจกเงินดิจิทัล” รัฐบาลใหม่ต้องมีกลไกหมุนเงินเพิ่ม ชูนโยบายให้ทุนกองทุนหมู่บ้าน เม็ดเงินหมุนเวียนเศรษฐกิจชุมชน แก้ความยากจนชาวบ้าน

นายทนง พิทยะ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวเปิดงานอบรมหลักสูตร Wealth of Wisdom : WOW รุ่นที่ 3 “ขุมทรัพย์แห่งปัญญา วิถีแห่งการลงทุน” ว่า เศรษฐกิจไทยขยายตัวได้ดีมาโดยตลอด 8-9% แต่มาติดลบช่วงปี 2540 ที่เผชิญวิกฤตต้มยำกุ้ง อย่างไรก็ตาม ขณะที่เติบโตขนาดนั้นกลับกลายเป็นว่าไทยเป็นหนี้อยู่แสนล้านเหรียญสหรัฐ และไม่มีเงินชำระหนี้ ระบบเศรษฐกิจจึงพัง แต่ใช้ระยะฟื้นตัวกลับมาเพียง 3-4 ปี กระทั่งปัจจุบันมีเงินทุนสำรองกว่า 2 แสนล้านเหรียญสหรัฐ 

นายทนง พิทยะ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง

“ความเสียหายที่เกิดขึ้นจากความประมาทว่าเราจะต้องเติบโตขึ้นเรื่อยๆ เพื่อแข่งกับคนอื่น ทำให้เราสร้างหนี้สินล้นพ้น และเราไม่เคยคิดว่าจะเกิดวิกฤต จึงทำให้เป็นหนี้แสนล้านเหรียญสหรัฐในปีนั้น ขณะที่ปัจจุบันเผชิญกับวิกฤตโควิด จีดีพี -6% หากถามว่าช่วงปี 2540 กับโควิดอันไหนรุนแรงกว่ากัน มองว่าคือโควิด อย่างไรก็ดี ตอนนี้เศรษฐกิจเริ่มกลับมาใหม่ ดังนั้น เศรษฐกิจไทยเติบโตได้ เพียงแต่ไม่เติบโตเท่าที่ใจเราอยากเห็น”

ขณะที่ความฝัน กับสิ่งที่แท้จริงของเศรษฐกิจนั้น หนี้สินครัวเรือนปัจจุบันรุนแรงกว่าปี 2540 ตอนนั้นคนรวยเสียหาย สามารถพริกฟื้นกลับมาได้ภายในเวลาไม่เกิน 10 ปี แต่คนจนที่เผชิญวิกฤตโควิดหนี้ครัวเรือนภายใน 3 ปี เพิ่มขึ้นมาเป็น 90%ต่อจีดีพี ก่อนหน้านั้นอยู่ที่ 60-70%ต่อจีดีพี โดยมูลค่าของจีดีพีประมาณ 18 ล้านล้านบาท ส่วนหนี้ครัวเรือนมูลค่าประมาณกว่า 16 ล้านล้านบาท เป็นเรื่องที่น่ากังวลว่าจะแก้ปัญหาอย่างไร

“โควิดทำให้หนี้สินขึ้นมาเป็น 16 ล้านล้านบาท คิดเป็น 90%ต่อจีดีพี ซึ่งเศรษฐกิจที่ขยายตัวได้ 3% ไปอยู่ในมือคนรวยแล้ว 80% คนจนมีแค่ 20%”

ทั้งนี้ หากถามว่าจะแก้ปัญหาอย่างไร ขอยกตัวอย่าง เป็นเรื่องที่เคยทำมาสมัยไทยรักไทย สมัยนั้นความยากจนหายไป เพราะเราสร้างรายได้เพิ่มขึ้นให้กับคนจน ทั้งกองทุนหมู่บ้าน OTOP การเข้าไปช่วยจัดการแบ่งภูมิภาค ดูความต้องการเกษตรกรทั้ง 8 ภาค เพื่อให้สินค้าที่เกษตรกรผลิตเข้าสู่ตลาด เป็นต้น

นายทนง กล่าวว่า เมื่อรัฐบาลนี้อยากจะทำนโยบายแจกเงินดิจิทัล ได้มีการนั่งคำนวณว่า ช่วงที่ทำกองทุนหมู่บ้าน มีหมู่บ้านอยู่ 70,000 หมู่บ้าน ให้ทุนหมู่บ้านละ 1 ล้านบาท ใช้งบประมาณ 70,000 ล้านบาท แต่ขณะนี้รัฐบาลจะใช้เงินถึง 5 แสนล้านบาท หากแจกให้กองทุนหมู่บ้านละ 6.5 ล้านบาท คำถามคือเราจะสามารถสร้างการหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจได้หรือไม่

“หากใช้เป็นก็เพิ่มวงเงินหมุนเวียนลงระบบเศรษฐกิจ หากใช้ไม่เป็นก็จะหายไป เพราะแค่ไปซื้อสินค้าสร้างบริษัทขนาดใหญ่ เงินก็หายไปกับพ่อค้า ไม่มีการหมุนเวียนลงสู่ชนบท แต่หากให้ในรูปแบบกองทุนหมู่บ้าน เราให้ยืม ก็มีความหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจ ซึ่งต้องรอดูว่าวงเงิน 10,000 บาท จะให้ด้วยอะไร หากให้เลยเม็ดเงินจะหมุนออกไปข้างนอกทันที แต่ถ้าให้โดยที่มีเงื่อนไขว่าต้องหมุนเวียนอยู่ในนั้น 4-5 ปี กองทุนหมู่บ้านก็จะสร้างสินค้าผ่าน OTOP ขึ้นมาสู่ผู้บริโภคอีกครั้ง”

ทั้งนี้ จากจำนวนหนี้ครัวเรือน 16 ล้านล้านบาท คิดเป็น 90%ต่อจีดีพี เราจะลดกลับมา 70% ก่อนโควิดได้อย่างไร ลดลงไป 20% ต้องมีเงิน 3.2 ล้านล้านบาท มองว่าการอุดหนุนเงิน 5 แสนล้านล้านบาท ยังไม่เพียงพอ แค่จ่ายดอกเบี้ยก็เหนื่อยแล้ว

"สิ่งเหล่านี้เป็นความท้าทายรัฐบาล หากคิดจะทำดิจิทัล ต้องคิดว่าเม็ดเงิน 5 แสนล้านบาท จะไปเพิ่มมูลค่าได้อย่างไร ซึ่งการจ่ายเงินดิจิทัลวอลเล็ตเป็นระบบบล็อกเชน ส่วนจะควบคุมวิธีการซื้อขายอย่างไร และแต่ละตำบลจะเพิ่มผลผลิตอย่างไร จึงจะทำให้เศรษฐกิจเติบโตเป็นเรื่องที่ต้องทำให้รอบครอบ"

นอกจากนี้ ประเทศไทยยังมีความท้าทาย เรื่องภาคเกษตร ปัจจุบันเติบโตได้ไม่เกิน 3% ทั้งที่ไทยเป็นประเทศเกษตรกรแต่ขยายตัว 8-10% ไม่ได้ มองว่าสาเหตุเป็นเพราะสินค้ายังปราศจากเทคโนโลยีในการเก็บรักษา ส่วนภาคอุตสาหกรรม โตได้ 3-8% เพราะส่วนใหญ่ไทยพึ่งพาเทคโนโลยีจากต่างประเทศมาตลอด ไทยเป็นได้แค่กรรมกร ฉะนั้น เมื่อเกิดโควิดคนจนจึงขาดรายได้มหาศาล ส่วนคนรวยรายได้ลดลงแต่ไม่ได้จนลงเท่าใด

ขณะที่สังคมสูงวัยก็เป็นเรื่องน่าห่วง 20% ของประชากร อายุมากกว่า 60 ปี และคาดว่าอีก 10 ปีข้างหน้า จะเพิ่มขึ้นเป็น 30% ของประชากร ส่งผลให้วัยแรงงานน้อยลง จากวัยแรงงานที่ปัจจุบันมีอยู่ 38 ล้านคน จะลดลงมาเหลือ 28-30 ล้านคน ถือว่าเป็นปัญหาใหญ่ที่จะต้องเข้ามาบริหารจัดการ