นายเจริญ เหล่าธรรมทัศน์ นายกสมาคมผู้ส่งออกข้าวไทย เปิดเผยว่า ข้อมูลของกรมศุลกากร การส่งออกข้าวในช่วง 7 เดือนแรกของปี 2566 (มกราคม-กรกฎาคม 2566) มีปริมาณ 4,643,793 ตัน มูลค่า 87,416.6 ล้านบาท (2,568.3 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ) โดยปริมาณเพิ่มขึ้น 13.5% และมูลค่าเพิ่มขึ้น 22.8% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2565 ที่ส่งออกปริมาณ 4,091,950 ตัน มูลค่า 71,193.6 ล้านบาท (2,129.7ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ)
การส่งออกข้าวในเดือนกรกฎาคม 2566 มีปริมาณ 604,310 ตัน มูลค่า 11,890 ล้านบาท โดยปริมาณเพิ่มขึ้น 5.6% และมูลค่าเพิ่มขึ้น 6.1% เมื่อเทียบกับเดือนมิถุนายน 2566 ที่มีการส่งออกมีปริมาณ 572,115 ตัน มูลค่า 11,204 ล้านบาท
เนื่องจากในเดือนกรกฎาคม 2566 การส่งออกข้าวนึ่งและกลุ่มข้าวหอมมีปริมาณเพิ่มขึ้นจากเดือนก่อน เพราะผู้นำเข้ามีการนำเข้าเพื่อชดเชยสต็อคที่ลดลง ประกอบกับผู้ซื้อมีความกังวลเกี่ยวกับนโยบายจำกัดการส่งออกข้าวของอินเดียจึงหันมาหาข้าวไทยมากขึ้น
ส่งผลมีการส่งออกข้าวนึ่งปริมาณ 147,951 ตัน เพิ่มขึ้นถึง 193.2% เมื่อเทียบกับเดือนก่อน โดยส่วนใหญ่ส่งไปยังตลาดหลักในภูมิภาคแอฟริกา เช่น แอฟริกาใต้ เบนิน เยเมน แคเมอรูน เป็นต้น ในขณะที่การส่งออกข้าวขาวมีปริมาณ 308,422 ตัน ลดลง 15.8% เมื่อเทียบกับเดือนก่อน โดยส่งไปยังประเทศอินโดนีเซีย มาเลเซีย ญี่ปุ่น แคเมอรูน ฟิลิปปินส์ อิรัก แอลจีเรีย เป็นต้น ส่วนการส่งออกข้าวหอมมะลิ (ต้นข้าว) มีปริมาณ 85,545 ตัน เพิ่มขึ้น 1.3% เมื่อเทียบกับเดือนก่อน โดยส่งไปยังตลาดหลัก เช่น สหรัฐอเมริกา ฮ่องกง แคนาดา สิงคโปร์ จีน ฝรั่งเศส ออสเตรเลีย เป็นต้น
ทั้งนี้คาดว่าในเดือนสิงหาคม 2566 ปริมาณส่งออกข้าวจะอยู่ที่ระดับประมาณ 600,000-700,000 ตัน เนื่องจาก ผู้นำเข้าที่สำคัญในกลุ่มอาเซียน ตะวันออกกลาง และแอฟริกา ยังคงนำเข้าข้าวอย่างต่อเนื่องทั้งข้าวขาวและข้าวนึ่ง เพราะกังวลเกี่ยวกับอุปทานข้าวในตลาดที่คาดว่าจะลดลงจากผลกระทบของปรากฏการณ์เอลนิโญ่ ในขณะที่ภาวะราคาข้าวในตลาดโลกพุ่งสูงขึ้นแตะระดับสูงสุดในรอบ 10 ปี หลังจากที่ประเทศอินเดียระงับการส่งออกข้าวขาว และเรียกเก็บภาษีส่งออกข้าวนึ่งในอัตรา 20% ประกอบกับประเทศเมียนมาจะมีการห้ามการส่งออกข้าวชั่วคราวเป็นเวลา 45 วันนับจากสิ้นเดือนสิงหาคม 2566 นี้
จึงทำให้ผู้ซื้อเร่งหาซื้อข้าวจากประเทศอื่นๆโดยหันมาที่ไทยมากขึ้น ทางด้านราคาข้าวไทยในช่วงนี้มีแนวโน้มปรับตัวสูงขึ้นตามภาวะอุปทานที่ตึงตัวและความต้องการข้าวในตลาดโลกที่เพิ่มขึ้น โดยข้าวขาว 5% ของไทย ณ วันที่ 30 สิงหาคม 2566 อยู่ที่ 646 ดอลลาร์สหรัฐฯต่อตัน ขณะที่ราคาข้าวขาว 5% ของเวียดนามอยู่ที่ 643-647 ดอลลาร์สหรัฐต่อตัน และปากีสถานอยู่ที่ 608-612 ดอลลาร์สหรัฐฯต่อตัน ตามลำดับ ส่วนราคาข้าวนึ่งไทยอยู่ที่ 649 ดอลลาร์สหรัฐฯต่อตัน ขณะที่ข้าวนึ่งของปากีสถานอยู่ที่ 603-607ดอลลาร์สหรัฐต่อตัน