นายพูนพงษ์ นัยนาภากรณ์ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) เปิดเผยว่า สนค.ได้ติดตามผลกระทบจากการฟื้นฟูเศรษฐกิจหลังการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 พบว่า แม้จะมีการผ่อนคลายของสถานการณ์โควิด-19 ลงแล้ว แต่การฟื้นตัวทางเศรษฐกิจกลับไม่ได้เกิดขึ้นอย่างเท่าเทียมกันในแต่ละภาคส่วน โดยเฉพาะกลุ่มรายได้น้อย
กลุ่มเศรษฐกิจนอกระบบ และกลุ่มเปราะบาง ซึ่งมีความสามารถในการปรับตัวต่อบริบททางเศรษฐกิจที่เปลี่ยนไปได้ต่ำกว่ากลุ่มที่มีรายได้ปานกลางขึ้นไป เนื่องจากลักษณะงานรวมถึงลักษณะของระบบความคุ้มครองที่ไม่เอื้อต่อการปรับตัวหรือเปลี่ยนวิถีการทำงาน
ผลจากการศึกษา พบว่า ความท้าทายที่เกิดขึ้นมาจากความแตกต่างของอัตราการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจในประชากรแต่ละกลุ่ม โดยผลระยะยาวจากสถานการณ์โควิด-19 ส่งผลให้อัตราการฟื้นตัวหรือความสามารถในการกลับมาทำงานและการฟื้นตัวของรายได้ให้กลับมาเท่าเดิม มีความแตกต่างกันออกไปในประชากรแต่ละกลุ่ม
โดยสาเหตุที่ทำให้บางกลุ่มสามารถฟื้นฟูกลับมาทำงานได้รวดเร็วรวมถึงรายได้กลับมาเท่าเดิมได้ เป็นผลมาจากความสามารถที่จะปรับตัวต่อการเปลี่ยนวิถีการทำงานที่แตกต่างกัน อาทิ ความสามารถในการเปลี่ยนสถานที่ทำงานเพื่อรองรับการปิดเมือง การเข้าถึงเทคโนโลยี และความสามารถในการเปลี่ยนสายงาน เป็นต้น ซึ่งกลุ่มผู้มีรายได้ต่ำมีแนวโน้มที่จะมีความสามารถในการปรับตัวต่อการเปลี่ยนวิถีการทำงานที่ต่ำกว่าผู้มีรายได้สูง
ขณะเดียวกัน UNICEF ได้ทำการสำรวจการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจของไทย ในปี 2565 โดยแบ่งกลุ่มประชากรตามรายได้ออกเป็น 5 กลุ่มเท่า ๆ กัน เรียงลำดับตามฐานะทางเศรษกิจตั้งแต่กลุ่มที่ยากจนที่สุดจนถึงกลุ่มที่มีรายได้สูงที่สุด พบว่ากลุ่มที่ยากจนที่สุดและยากจน มีอัตราการกลับมาทำงานเพียง 62% และ 73% ตามลำดับ ซึ่งน้อยกว่ากลุ่มรายได้สูงและรายได้สูงที่สุดที่มีอัตราการกลับมาทำงานมากกว่า90% สะท้อนให้เห็นว่าผู้มีรายได้ต่ำกว่ายังขาดความสามารถในการหางานทดแทนหรือประกอบอาชีพใหม่ ซึ่งทำให้เกิดความเหลื่อมล้ำเพิ่มมากขึ้น และการฟื้นตัวของรายได้ ที่เป็นอีกตัวชี้วัดหนึ่งที่สามารถสะท้อนความสามารถในการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจของแต่ละกลุ่ม เมื่อพิจารณาสัดส่วนของผู้ที่มีระดับรายได้เท่าเดิมหรือเพิ่มขึ้นหลังจากการแพร่ระบาด
พบว่าผู้ที่มีรายได้สูงมีแนวโน้มที่จะสามารถรักษาระดับรายได้ให้คงที่หรือมีรายได้ที่เพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับก่อนการแพร่ระบาด โดย 50 %ของกลุ่มที่มีรายได้ที่สูงที่สุด มีรายได้เท่าเดิมหรือมากกว่าก่อนการแพร่ระบาด ในขณะที่มีเพียง28% ของกลุ่มที่ยากจนที่สุดเท่านั้น ที่จะสามารถกลับมามีรายได้เท่าเดิมหรือมีรายได้เพิ่มขึ้นหลังจากการระบาดของไวรัสโควิด-19 สิ่งนี้สะท้อนว่ากลุ่มคนที่มีรายได้น้อยกว่ามีแนวโน้มที่จะมีการฟื้นตัวจากสถานการณ์โควิด-19 ที่ต่ำกว่าอย่างมาก
แนวทางการแก้ปัญหาเพื่อลดความเหลื่อมล้ำหลังการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 หน่วยงานทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน รวมถึงภาคประชาชน จำเป็นต้องทำงานร่วมกันอย่างบูรณาการเพื่อขจัดปัญหาความเหลื่อมล้ำในสังคมไทย และสร้างความเข้มแข็งทางเศรษฐกิจให้มีความมั่นคงและยั่งยืน โดยนโยบายช่วยเหลือค่าครองชีพ ต้องทำต่อเนื่อง เพราะการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจของไทยยังอยู่ในอัตราที่ค่อนข้างช้า ปัญหาอัตราเงินเฟ้อที่สูงขึ้น ส่งผลให้ประชาชนหลายกลุ่มยังมีรายได้ไม่เพียงพอต่อรายจ่าย นโยบายช่วยเหลือค่าครองชีพ จึงยังคงมีความสำคัญ และควรพิจารณาการใช้จ่ายงบประมาณในการพัฒนาและสนับสนุนเฉพาะกลุ่มเป้าหมายมากขึ้น อาทิ กลุ่มเศรษฐกิจฐานราก กลุ่มที่ประกอบอาชีพที่อยู่ในเศรษฐกิจนอกระบบ และกลุ่มเปราะบาง เป็นต้น
นอกจากนี้ จะต้องฟื้นฟูทุนและสินทรัพย์ในการประกอบอาชีพ โดยหน่วยงานภาครัฐและภาคเอกชนที่เกี่ยวข้อง อาทิ กระทรวงแรงงาน กระทรวงการคลัง และธนาคารแห่งประเทศไทย สมาคมเครือข่ายแรงงานนอกระบบ และบริษัทเอกชน ควรเข้ามามีส่วนร่วมในการกำหนดมาตรการและนโยบายสำหรับผู้ประกอบการที่ได้รับผลกระทบรุนแรงและยาวนานจากการระบาดของไวรัสโควิด-19 ที่ต้องเผชิญการสูญเสียทุนและสินทรัพย์ในการประกอบอาชีพ เช่น การช่วยกู้คืนทุนหรือสินทรัพย์ที่มีบทบาทกับการประกอบอาชีพผ่านการพักชำระหนี้ และการสนับสนุนเงินทุนหรือเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำเพื่อการกลับมาประกอบชีพ เป็นต้น รวมถึงการพัฒนาทักษะแรงงานและผู้ประกอบการ
โดยเฉพาะส่วนของกลุ่มที่อยู่ในเศรษฐกิจนอกระบบ อาทิ แรงงานอาชีพอิสระ รวมถึงผู้ค้ารายเล็กและรายย่อย ซึ่งภาครัฐควรมีบทบาทในการช่วยเสริมทักษะและการพัฒนาความรู้ให้เหมาะสมกับความต้องการ และสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงไป เพื่อให้แรงงานกลับเข้าสู่ระบบเกิดการจ้างงาน และธุรกิจกลับมาดำเนินกิจการใหม่อีกครั้ง เช่น การสนับสนุนผู้ประกอบการในการพัฒนาธุรกิจ การเพิ่มช่องทางในการทำการค้า และการส่งเสริมทักษะด้านดิจิทัลให้แก่ผู้ประกอบการ เป็นต้น
ที่ผ่านมา ในช่วงการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 เศรษฐกิจไทยชะลอตัวลงอย่างมาก โดยในปี 2563 อัตราการเติบโตของ GDP ติดลบถึง 6.2% และมีอัตราการว่างงานเพิ่มขึ้นจาก 1.0% ในปี 2562 เป็น1.7% ในปี 2563 และ 1.9% ในปี 2564 รวมทั้งหากพิจารณาชั่วโมงการทำงานของผู้มีงานทำ พบว่าในปี 2563 สัดส่วนการทำงานแบบไม่เต็มเวลาหรือน้อยกว่า 35 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ เพิ่มขึ้นถึง 21.8% สูงสุดในรอบ 10 ปี เนื่องจากผู้ใช้แรงงานในประเทศมีการเปลี่ยนงานและมีการทำงานต่ำกว่าระดับการศึกษาของตนมากขึ้น ซึ่งปัจจัยดังกล่าวข้างต้นส่งผลให้รายได้ ฐานะทางเศรษฐกิจต่ำลง ซ้ำเติมปัญหาความเหลื่อมล้ำของประเทศ และหลังจากสถานการณ์การระบาดของโควิด-19 คลี่คลายลง เศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มปรับตัวดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง
โดยมีอัตราเติบโต GDP อยู่ที่ 1.53% ในปี 2564 และ2.6 % ในปี 2565 ตามการฟื้นตัวของภาคการท่องเที่ยว และการปรับตัวดีขึ้นอย่างต่อเนื่องของอุปสงค์ภายในประเทศ ทั้งการบริโภคและการลงทุน ภาคเอกชน แต่ผลกระทบที่เกิดขึ้นจากการตกงานและการลดลงของรายได้ของประชาชนยังไม่สิ้นสุดลง รวมทั้งส่งผลอย่างยิ่งต่อสถานการณ์ความยากจนในไทย โดยเฉพาะในกลุ่มอาชีพที่มีระดับการศึกษาต่ำ และกลุ่มอาชีพความเสี่ยงสูง เนื่องจากกลุ่มนี้มีทรัพยากรในการรองรับการเปลี่ยนแปลงของสถานการณ์และมีความสามารถในการฟื้นตัวที่ต่ำ ทำให้ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์โควิด-19 ในระยะยาว และมีความเปราะบางทางเศรษฐกิจอย่างมาก