หลังจากผ่านพ้นการเลือกตั้งมากว่า 3 เดือน ในที่สุดก็ได้นายกรัฐมนตรีเรียบร้อยแล้ว เมื่อจัดตั้งคณะรัฐมนตรี ก็สามารถเริ่มทำงานเพื่อประเทศชาติและประชาชนได้ทันที ซึ่งหนึ่งในนโยบายหาเสียงที่คล้ายกันของทุกพรรค ก็คือ การลดภาระค่าใช้จ่ายด้านพลังงานให้กับพี่น้องประชาชน อาทิ ค่าไฟฟ้า ค่าน้ำมัน ค่าก๊าซ ซึ่งถือเป็นเรื่องเร่งด่วน เพราะมีผลต่อปัญหาปากท้อง
อย่างไรก็ตาม การแก้ปัญหาด้านพลังงานอย่างยั่งยืนนั้น มิอาจแก้ไขได้ที่ปลายทางด้วยการปรับเปลี่ยนมาตรการ หรือ ข้อกำหนดเรื่องราคาเพียงอย่างเดียว แต่จะต้องมีการกำหนดนโยบายและการวางแผน ตั้งแต่ต้นทางของพลังงาน เพื่อให้ทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องด้านพลังงาน สามารถดำเนินงานตามแผนระยะกลางและระยะยาวไปในทิศทางเดียวกัน เพื่อสร้างความมั่นคงทางพลังงานของประเทศให้ครอบคลุมหลายมิติ
หนึ่งในการสร้างความมั่นคงทางพลังงานในอนาคต ก็คือ การปรับปรุงแก้ไขกฎหมายว่าด้วยปิโตรเลียม ซึ่งกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ กระทรวงพลังงานได้ร่วมกับศูนย์บริการวิชาการแห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ทำการศึกษาและประเมินผลสัมฤทธิ์ของกฎหมายดังกล่าว พบว่า ในบางหมวด บางมาตราของพระราชบัญญัติปิโตรเลียม พ.ศ. 2514 และที่แก้ไขเพิ่มเติม อาจไม่สอดคล้องกับสภาพสังคม และสภาพการดำเนินงานในปัจจุบัน
รวมถึงแนวโน้มความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีที่เกิดขึ้น และยังมีอุปสรรคในการดำเนินงานเนื่องจากข้อกำหนดต่าง ๆ ในกฎหมายที่เกี่ยวข้อง จึงนำมาสู่การแก้ไขพระราชบัญญัติปิโตรเลียม (ฉบับที่..) พ.ศ. ....
สาระสำคัญของการแก้ไขและพัฒนากฎหมายประกอบด้วย 5 ประเด็นหลัก ได้แก่ 1. การสร้างความต่อเนื่องในการประกอบกิจการปิโตรเลียม 2. หน้าที่เกี่ยวกับการรื้อถอนสิ่งติดตั้งที่ใช้ในการประกอบกิจการปิโตรเลียม 3. การสร้างแรงจูงใจในการลงทุนเพื่อประกอบกิจการปิโตรเลียม 4. การพัฒนาองค์กร หน้าที่ และอำนาจในการบังคับใช้กฎหมายและบทกำหนดโทษ และ 5. การกำกับดูแลธุรกิจที่กำลังจะเกิดขึ้นใหม่
ในส่วนของการสร้างความต่อเนื่องในการประกอบกิจการปิโตรเลียมนั้น สาระสำคัญคือ ทำให้การผลิตที่ดำเนินอยู่แล้วสามารถดำเนินการต่อไปอย่างต่อเนื่อง เพื่อประโยชน์ด้านความมั่นคงทางพลังงานอย่างยั่งยืน เช่น กรณีผู้รับสัมปทานรายเดิมไม่ได้รับการต่อระยะเวลาการผลิต หรือถูกเพิกถอนสัมปทานก่อนสิ้นระยะเวลาผลิต และมีผู้รับสัมปทานรายใหม่ต้องเข้าไปในพื้นที่ผลิต
ผู้รับสัมปทานรายเดิมมีหน้าที่ต้องให้ผู้ประกอบกิจการปิโตรเลียมรายใหม่สามารถเข้าถึงพื้นที่ผลิต และใช้ประโยชน์จากสิ่งติดตั้งเพื่อดำเนินการผลิตปิโตรเลียมได้อย่างต่อเนื่อง เพื่อมิให้ส่งผลกระทบต่อปริมาณการผลิตปิโตรเลียม เป็นต้น
สำหรับหน้าที่เกี่ยวกับการรื้อถอนสิ่งติดตั้ง สิ่งปลูกสร้าง ทั้งในกรณีที่สิ้นสุดอายุสัมปทาน หรือ การรื้อถอนในกรณีอื่น ผู้รับสัมปทานต้องทำการรื้อถอนให้แล้วเสร็จตามแผนงานที่ได้รับความเห็นชอบ หากผู้รับสัมปทานไม่ดำเนินการรื้อถอน หรือ ดำเนินการล่าช้าอันอาจทำให้เกิดความเสียหาย เช่น กระทบต่อการเจาะหลุมผลิตใหม่ กระทบกับความต่อเนื่องในการผลิตปิโตรเลียม หรือ ส่งผลต่อปริมาณปิโตรเลียมที่อาจลดลง
อธิบดีกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติมีอำนาจมอบหมายให้บุคคลอื่นดำเนินการรื้อถอนแทน หรือร่วมกับผู้รับสัมปทาน โดยใช้จ่ายเงินจากบัญชีเพื่อการรื้อถอนที่ผู้รับสัมปทานต้องจัดให้มีขึ้น รวมทั้งให้มีการพัฒนาระบบบัญชีเพื่อการรื้อถอน ซึ่งสามารถรักษาผลประโยชน์ของผู้ประกอบการด้านปิโตรเลียม และรัฐอย่างสมดุล เป็นต้น
ทั้งนี้ กรมเชื้อเพลิงธรรมชาติเปิดโอกาสให้ประชาชนทั่วไป หรือ ผู้ที่สนใจสามารถแสดงความคิดเห็นเพิ่มเติมได้ ผ่านระบบกลางทางกฎหมาย www.law.go.th และเว็บไซต์กรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ www.dmf.go.th จนถึงวันที่ 14 กันยายน 2566
หลังจากรับฟังความคิดเห็นจากช่องทางต่าง ๆ แล้ว กรมเชื้อเพลิงธรรมชาติจะนำความคิดเห็น และข้อเสนอแนะทั้งหมดมาปรับปรุงแก้ไขร่างพระราชบัญญัติปิโตรเลียม ก่อนนำเสนอคณะรัฐมนตรีชุดใหม่ต่อไป
จึงนับได้ว่า ร่างพระราชบัญญัติปิโตรเลียมในครั้งนี้ ถือเป็นจุดเริ่มต้นแห่งการเปลี่ยนแปลงของความมั่นคงทางพลังงาน ให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น สามารถกำกับดูแลการสำรวจและผลิตปิโตรเลียมภายใต้การพัฒนาทางเทคโนโลยีการผลิตปิโตรเลียมที่สอดคล้องกับบริบทในปัจจุบัน