ธนาคารกรุงศรีอยุธยา ได้เผยแพร่บทความเกี่ยวกับ แนวโน้มอุตสาหกรรมเครื่องมือแพทย์ปี 2566 -2568 โดยระบุว่า ตลาดเครื่องมือแพทย์ของไทยมีแนวโน้มเติบโตต่อเนื่อง โดยคาดว่ามูลค่าจำหน่ายเครื่องมือแพทย์ในประเทศจะเติบโตเฉลี่ย 5.5-7.0% ต่อปี ขณะที่มูลค่าส่งออกจะเพิ่มขึ้นเฉลี่ย 6.5-7.5% ต่อปี
การเติบโตดังกล่าว มีปัจจัยหนุนหลายด้าน อาทิ อัตราการเจ็บป่วยที่มีแนวโน้มสูงขึ้นจากการเข้าสู่สังคมสูงวัย และการเกิดโรคอุบัติใหม่ การเติบโตของตลาดท่องเที่ยวเชิงการแพทย์ ซึ่งไทยมีจุดแข็งด้านค่ารักษาพยาบาลและคุณภาพการรักษาเป็นที่ยอมรับในตลาดโลก และกระแสการดูแลสุขภาพเชิงป้องกันที่กำลังแพร่หลายโดยเฉพาะหลังวิกฤต COVID-19 รวมถึงความต้องการเครื่องมือ/อุปกรณ์การแพทย์ที่เพิ่มขึ้นในตลาดส่งออกสำคัญของไทย และที่สำคัญ คือ นโยบายภาครัฐส่งเสริมให้ไทยเป็นศูนย์กลางสุขภาพนานาชาติและศูนย์กลางการผลิตเครื่องมือแพทย์ในอาเซียน ปัจจัยข้างต้น สะท้อนโอกาสการเติบโตของอุตสาหกรรมเครื่องมือแพทย์ในประเทศไทย
ขณะที่ปัจจัยท้าทายของธุรกิจที่อาจจำกัดการเติบโตของอุตสาหกรรม อาทิ ผู้ประกอบการของไทยส่วนใหญ่เป็น SMEs ซึ่งผลิตวัสดุสิ้นเปลืองทางการแพทย์นับเป็นข้อจำกัดในการพัฒนาเทคโนโลยีขั้นสูง นอกจากนี้ ผู้ประกอบการส่วนใหญ่ต้องนำเข้าอุปกรณ์การผลิตซึ่งรวมถึงเทคโนโลยีจากต่างประเทศ จึงอาจเผชิญความเสี่ยงจากความผันผวนของค่าเงินและต้นทุนสินค้านำเข้ามีแนวโน้มเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง
รวมถึงอาจมีข้อจำกัดด้านเงินทุน และท้ายสุด คือ ภาระต้นทุนที่อาจเพิ่มขึ้นจากการปรับตัวสู่การผลิตเครื่องมือแพทย์ที่เน้นใช้วัสดุที่สามารถย่อยสลายได้ตามธรรมชาติ เพื่อลดมลภาวะทางสิ่งแวดล้อมและสอดคล้องกับทิศทางการขับเคลื่อนสู่ Zero waste society ของโลก
ทั้งนี้มุมมองวิจัยกรุงศรี ได้ประเมินผลประกอบการของธุรกิจ/อุตสาหกรรมเครื่องมือแพทย์โดยรวมจะขยายตัวในเกณฑ์ดี ซึ่งแต่ละกลุ่มธุรกิจจะเติบโตมากน้อยแค่ไหน มีปัจจัยบวก ปัจจัยเสี่ยงอะไรที่ต้องจับตาดู สามารถตรวจสอบได้ดังต่อไปนี้
ผู้ผลิตเครื่องมือแพทย์
ผลประกอบการมีแนวโน้มเติบโตดีต่อเนื่อง โดยเฉพาะผู้ผลิตที่จำหน่ายเครื่องมือแพทย์ผ่านสถานพยาบาลทั้งเอกชนและภาครัฐ แต่การแข่งขันของธุรกิจจะรุนแรงขึ้น เนื่องจากมีผู้ประกอบการจำนวนมาก โดยรายได้ของผู้ผลิตที่จำหน่ายเครื่องมือแพทย์ผ่านสถานพยาบาลโดยเฉพาะโรงพยาบาลเอกชนจะเติบโตต่อเนื่อง จากการสร้างโรงพยาบาลใหม่/ขยายพื้นที่ให้บริการ ทำให้มีการลงทุนด้านเครื่องมือทางการแพทย์เพิ่มเติม ประกอบกับผู้บริโภคมีแนวโน้มให้ความสำคัญกับการดูแลสุขภาพ จึงเป็นโอกาสของผู้ผลิตที่มีศักยภาพในการพัฒนาผลิตภัณฑ์และอุปกรณ์ที่เกี่ยวเนื่องเข้ามารองรับความต้องการดังกล่าว
นอกจากนี้ ผู้ผลิตยังมีโอกาสขยายตลาดส่งออกไปยังประเทศเพื่อนบ้าน โดยได้อานิสงส์จากแผนสนับสนุนการลงทุนภาครัฐโดยเฉพาะในพื้นที่เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) เพื่อรองรับเป้าหมายการเป็นศูนย์การแพทย์และการส่งออกเครื่องมือแพทย์ในภูมิภาค
อย่างไรก็ตาม การแข่งขันของธุรกิจมีแนวโน้มรุนแรงขึ้นจากบริษัทข้ามชาติที่เข้ามาลงทุนในไทยและใช้ไทยเป็นฐานการผลิต (อาทิ ญี่ปุ่น สหรัฐฯ ฝรั่งเศส และเกาหลีใต้) ด้านความเสี่ยงจะมาจากการป้องกันความเสี่ยงค่าเงิน และต้นทุนที่สูงขึ้นจากการผลิตอุปกรณ์การแพทย์ที่ใช้เทคโนโลยีขั้นสูง (AI, Robotics และ 3D printing) จึงอาจเป็นข้อจำกัดในการทำกำไร
ผู้จำหน่ายเครื่องมือแพทย์ (ผู้ค้าส่ง/ค้าปลีก)
คาดว่ารายได้จะเติบโตอย่างค่อยเป็นค่อยไป เนื่องจากผลิตภัณฑ์ส่วนใหญ่เป็นวัสดุสิ้นเปลืองใช้แล้วทิ้ง ทำให้มีความต้องการใช้ในสถานพยาบาลและผู้ป่วยทั่วไปอย่างสม่ำเสมอ รวมถึงกระแสการใส่ใจสุขภาพและความต้องการดูแลสุขภาพแบบครบวงจร หนุนความต้องการอุปกรณ์ป้องกันการติดเชื้อและผลิตภัณฑ์เครื่องมือแพทย์ชนิดพกพามากขึ้น แต่การแข่งขันที่รุนแรงจากผู้จำหน่ายรายกลางและเล็กซึ่งมีจำนวนมาก รวมถึงบริษัทตัวแทน/ร้านค้าที่เป็นบริษัทในเครือของผู้ผลิต ซึ่งมีช่องทางการจำหน่ายกว้างขวางกว่า ทำให้การเติบโตโดยรวมไม่สูงนัก
ผู้นำเข้าเครื่องมือแพทย์
ส่วนใหญ่เป็นรายใหญ่ที่ต้นทุนและการตลาด หรือมีความเชื่อมโยงกับผู้ผลิตและผู้จำหน่าย มีแนวโน้มนำเข้าเครื่องมือแพทย์ที่มีนวัตกรรมและเทคโนโลยีขั้นสูงจำหน่ายแก่โรงพยาบาลเอกชนและศูนย์การแพทย์เฉพาะมากขึ้น อาทิ หุ่นยนต์สนับสนุนการผ่าตัดขนาดเล็ก ระบบผลิตยาและบริหารจัดการยาอัตโนมัติ เครื่อง MRI เครื่องเอกซเรย์ เครื่องตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจ อุปกรณ์เกี่ยวกับศัลยกรรมกระดูก และอุปกรณ์การแพทย์ทางทันฑกรรม (ฟันปลอม รากฟันเทียม) ซึ่งมีความต้องการเพิ่มขึ้นอย่างมาก จะช่วยหนุนผลประกอบการให้เติบโตต่อเนื่อง
ที่มาข้อมูล