"ส.อ.ท."คาดรัฐบาลขึ้น"ค่าแรง"แค่ 3-4% ก่อนปีใหม่

16 ก.ย. 2566 | 00:09 น.
อัปเดตล่าสุด :16 ก.ย. 2566 | 00:36 น.

"ส.อ.ท."คาดรัฐบาลขึ้น"ค่าแรง"แค่ 3-4% ก่อนปีใหม่ กระทรวงแรงงานชี้จะสรุปเนวทางชัดเจนให้ทุกฝ่ายยอมรับได้ภายในเดือนพฤศจิกายน 2566 เอกชนห่วง20อุตฯใช้แรงงานเข้มข้น-เอสเอ็มอี 3 ล้านกระอัก

ปรับค่าจ้างขั้นต่ำเป็นอีกหนึ่งนโยบายของรัฐบาลใหม่ ภายใต้ครม.เศรษฐา1 ที่ถูกจับตามองอย่างมาก เพราะเกี่ยวข้องกับคนจำนวนมาก  ล่าสุดนายพิพัฒน์ รัชกิจประการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ได้ดำเนินการหารือกับสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เพื่อในประเด็นเกี่ยวกับค่าแรงดังกล่าว

รายงานข่าวระบุว่า ภายหลังจากการหารือ กระทรวงแรงงานย้ำว่าการปรับค่าแรงขั้นต่ำจะต้องเกิดขึ้นแน่นอนภายในปี 2567 โดยจะหารือในรายละเอียดทั้งในส่วนของแรงงานไทยและแรงงานเพื่อนบ้าน เพื่อเสนอเข้าคณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณาในวันที่ 25 กันยายนนี้ ขณะที่ส.อ.ท.ประเมินว่าเมื่อพิจารณาปัจจัยต่างๆตลอดจนเงินเฟ้อแล้วการปรับค่าจ้างขึ้นต่ำน่าจะอยู่ระดับ 3-4% เท่านั้น

นายพิพัฒน์ รัชกิจประการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน กล่าวภายหลังหารือร่วมกับ ส.อ.ท. ว่า จะสรุปเนวทางที่ชัดเจนเกี่ยวกับการปรับอัตราค่าจ้างขั้นต่ำให้ทุกฝ่ายยอมรับได้ภายในเดือนพฤศจิกายน 2566 โดยจะดูอัตราเงินเฟ้อประกอบด้วย เพื่อประกาศเป็นของขวัญปีใหม่ปี 2567 ให้กลุ่มผู้ใช้แรงงานช่วงใกล้สิ้นปีนี้ 
 

"กระทรวงแรงงานได้หารือกับส.อ.ท.ในฐานะตัวแทนภาคเอกชนที่เข้าใจในปัญหาแรงงาน เพื่อรับทราบความคิดเห็นเรื่องค่าแรงขั้นต่ำซึ่งทุกภาคส่วนมีความกังวล และหลังจากนี้กระทรวงจะเร่งหารือหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง 3 ฝ่าย ทั้งลูกจ้าง นายจ้าง และภาครัฐ"

นายเกรียงไกร เธียรนุกุล ประธาน ส.อ.ท. กล่าวว่า การปรับค่าแรงขั้นต่ำของรัฐบาลในเดือนพฤศจิกายนนี้ ต้องการให้ยึดมติคณะกรรมการไตรภาคี โดยค่าจ้างขั้นต่ำ 400 บาทต่อวันนั้นต้องพิจารณาอย่างรอบคอบ เพราะปัจจุบันค่าจ้างขั้นต่ำอยู่ที่ 328- 354 บาทต่อวัน การขึ้นราคาเดียว 400 บาทต่อวัน หรือขึ้น 19-20% อาจทำให้หลายอุตสาหกรรมกระทบหนักจากต้นทุนที่กระชากแรง เพราะปัจจุบันจาก 45 กลุ่มอุตสาหกรรมมีประมาณ 20 อุตสาหกรรมจ่ายไม่สูงเพราะใช้แรงงานเข้มข้น 

และยังมีผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดย่อม หรือเอสเอ็มอี (SMEs) ทั่วประเทศกว่า 3 ล้านคน ที่เหลือจ่ายเกิน 400 บาทต่อวัน บางอุตสาหกรรมถึง 800 บาทต่อวันแต่ก็หาแรงงานยาก ดังนั้นการปรับค่าจ้างต้องสอดรับศักยภาพแรงงาน และความสามารถของผู้ประกอบการ

"วิธีปรับขึ้นค่าจ้างที่เหมาะสมคือ การขึ้นตามอัตราเงินเฟ้อแต่ละปี หรือจะขึ้นตามต้นทุนเงินเฟ้อบวกเอ็กซ์ และปัจจุบันประสิทธิภาพแรงงานไทยในกลุ่มอาเซียน ยังไม่เทียบเท่าเวียดนามและอินโดนีเซียได้ เนื่องจากยังไม่ฟื้นตัวจากผลกระทบของโควิด-19 ได้เต็มที่นัก ดังนั้นไทยควรรีบเร่งเพิ่มประสิทธิภาพแรงงานไทย ให้แข่งขันกับประเทศต่างๆได้ เพราะต้องทำงานเป็นปาท่องโก๋ อุตสาหกรรมจะเติบโตได้ ต้องมีกระทรวงแรงงานคอยสนับสนุน” 

นายสุชาติ จันทรานาคราช รองประธาน ส.อ.ท. และประธานสายงานแรงงาน กล่าวว่า การปรับอัตราค่าจ้างขั้นต่ำ ควรเป็นไปตามอำนาจของคณะกรรมการค่าจ้างไตรภาคีที่แต่ละจังหวัดร่วมพิจารณาสอดคล้องกับปัจจัยเศรษฐกิจ เงินเฟ้อ จีดีพี ความเดือดร้อนของลูกจ้าง ความสามารถการจ่ายของนายจ้าง

และผลิตภาพแรงงาน ควรปราศจากการแทรกแซงจากหน่วยงานภายนอก และปัจจุบันนายจ้างไม่ได้จ่ายแบบเหมารวม แต่จ่ายตามทักษะ เพื่อความเป็นธรรมกับแรงงานที่มีประสบการณ์