ราชกิจจานุเบกษา ประกาศลดภาษีมูลค่าเพิ่ม เหลือ 7% อีก 1 ปี

16 ก.ย. 2566 | 12:50 น.
อัปเดตล่าสุด :16 ก.ย. 2566 | 12:56 น.

ราชกิจจานุเบกษา ประกาศกฎหมาย ต่ออายุการลดภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) ออกไปอีก 1 ปี โดยให้คงจัดเก็บในอัตรา 6.3% (ไม่รวมภาษีท้องถิ่น) หรือ 7% (รวมภาษีท้องถิ่น) เริ่มตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2566 ถึง 30 กันยายน 2567

เว็บไซต์ ราชกิจจานุเบกษา เผยแพร่พระราชกฤษฎีกา ออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการลดอัตราภาษีมูลค่าเพิ่ม (ฉบับที่ 780) พ.ศ.2566 โดยมีสาระสำคัญเป็นการต่ออายุการลดภาษีมูลค่าเพิ่ม หรือภาษีแวต (VAT) ออกไปอีก 1 ปี

โดยให้คงจัดเก็บในอัตรา 6.3% (ไม่รวมภาษีท้องถิ่น) หรือ 7% (รวมภาษีท้องถิ่น) สำหรับการขายสินค้า การให้บริการ หรือการนำเข้าทุกกรณี ซึ่งความรับผิดในการเสียภาษีมูลค่าเพิ่มเกิดขึ้นตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2566 ถึง 30 กันยายน 2567

เหตุผลความจำเป็นลดภาษีมูลค่าเพิ่ม

สำหรับเหตุผลในการประกาศใช้พระราชกฤษฎีกาฉบับนี้ คือ โดยที่พระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการลดอัตราภาษีมูลค่าเพิ่ม (ฉบับที่ 646) พ.ศ.2560 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการลดอัตราภาษีมูลค่าเพิ่ม (ฉบับที่ 724) พ.ศ. 2564 

ได้กำหนดให้ลดอัตราภาษีมูลค่าเพิ่มตามมาตรา 80 แห่งประมวลรัษฎากร เหลืออัตรา 6.3% เป็นการชั่วคราว สำหรับการขายสินค้า การให้บริการ หรือการนำเข้าทุกกรณี ซึ่งความรับผิดในการเสียภาษีมูลค่าเพิ่มเกิดขึ้นตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2560 ถึงวันที่ 30 กันยายน 2566

เพื่อเป็นการสนับสนุนการฟื้นตัวของการใช้จ่ายเพื่อการอุปโภคบริโภคภายในประเทศและบรรเทาภาระค่าครองชีพให้แก่ประชาชน รวมทั้งสร้างความเชื่อมั่นทางธุรกิจให้แก่ภาคเอกชน สมควรขยายเวลาการลดอัตราภาษีมูลค่าเพิ่มเหลือ 6.3% ออกไปจนถึงวันที่ 30 กันยายน 2567 จึงจำเป็นต้องตราพระราชกฤษฎีกานี้

 

ราชกิจจานุเบกษา ประกาศลดภาษีมูลค่าเพิ่ม เหลือ 7% อีก 1 ปี ราชกิจจานุเบกษา ประกาศลดภาษีมูลค่าเพิ่ม เหลือ 7% อีก 1 ปี

ครม.ไฟเขียวลดภาษีมูลค่าเพิ่ม

ก่อนหน้านี้ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 13 กันยายน 2566 ได้มีมติอนุมัติหลักการร่างพระราชกฎษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการลดอัตราภาษีมูลค่าเพิ่ม ตามที่กระทรวงการคลังเสนอ 

กระทรวงการคลัง พิจารณาแล้วเห็นว่า การขยายตัวของเศรษฐกิจไทยในปี 2566 และปีต่อไปมีปัจจัยเสี่ยงจากความผันผวนและการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลก ประกอบกับเศรษฐกิจไทยยังอยู่ในช่วงการฟื้นตัวอย่างต่อเนื่องจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโควิด-19 

ทั้งนี้ จากข้อมูลการวิเคราะห์เศรษฐกิจไทยไตรมาสที่ 2 ของปี 2566 และแนวโน้มปี 2566 ณ วันที่ 21 สิงหาคม 2566 โดยสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) พบว่า เศรษฐกิจไทยในช่วงไตรมาสที่ 2 มีการขยายตัว 1.8% ซึ่งชะลอลงจากการขยายตัว 2.6% ในไตรมาสแรกของปี 2566 

โดยมีปัจจัยหลักมาจากการส่งออกสินค้าและการใช้จ่ายภาครัฐที่ปรับตัวลดลง อีกทั้งภาคธุรกิจและภาคครัวเรือนมีภาระค่าใช้จ่ายที่เพิ่มสูงขึ้นจากการปรับขึ้นของอัตราดอกเบี้ยและราคาสินค้าและบริการ รวมถึงการจัดทำงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 ล่าช้ากว่าปกติ 

ดังนั้น เพื่อความมั่นคงในทางเศรษฐกิจของประเทศ สนับสนุนการฟื้นตัวของการใช้จ่ายเพื่อการอุปโภคบริโภคภายในประเทศอันจะส่งผลให้เศรษฐกิจไทยสามารถขยายตัวได้ตามเป้าหมายที่คาดการณ์ไว้ บรรเทาภาระค่าครองชีพให้แก่ประชาชน และสร้างความเชื่อมั่นให้แก่ภาคธุรกิจ เห็นควรขยายระยะเวลาการลดอัตราภาษีมูลค่าเพิ่มออกไปอีก 1 ปี 

โดยให้คงจัดเก็บในอัตรา 6.3% (ไม่รวมภาษีท้องถิ่น) หรือ 7% (รวมภาษีท้องถิ่น) สำหรับการขายสินค้า การให้บริการ หรือการนำเข้าทุกกรณี ซึ่งความรับผิดในการเสียภาษีมูลค่าเพิ่มเกิดขึ้นตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2566 ถึงวันที่ 30 กันยายน 2567

 

ราชกิจจานุเบกษา ประกาศลดภาษีมูลค่าเพิ่ม เหลือ 7% อีก 1 ปี

ประมาณการการสูญเสียรายได้

  1. การขยายระยะเวลาการลดอัตราภาษีมูลค่าเพิ่มจะไม่ก่อให้เกิดการสูญเสียรายได้ของรัฐเพิ่มเติม อย่างไรก็ดี หากไม่มีการขยายระยะเวลาการลดอัตราภาษีมูลค่าเพิ่ม โดยจัดเก็บในอัตราตามประมวลรัษฎากร 11.11% (รวมภาษีท้องถิ่น) จะทำให้รัฐมีรายได้เพิ่มขึ้นไม่เกิน 380,000 ล้านบาทต่อปี
  2. การขยายระยะเวลาการลดอัตราภาษีมูลค่าเพิ่มจะไม่มีผลกระทบต่อการประมาณการรายได้รัฐบาลในปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 เพื่อจัดทำวงเงินงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 เนื่องจากได้ประมาณการรายได้โดยใช้อัตราภาษีที่จัดเก็บในปัจจุบัน

ประโยชน์ที่คาดว่าจะได้รับ

  • การใช้จ่ายเพื่อการอุปโภคบริโภคภาคเอกชนภายในประเทศและเศรษฐกิจไทยขยายตัวได้ตามเป้าหมาย
  • ภาคธุรกิจมีความเชื่อมั่นต่อเศรษฐกิจไทยและการลงทุนภาคเอกชนภายในประเทศขยายตัวได้ตามเป้าหมาย
  • อัตราภาษีไม่ทำให้ภาคธุรกิจและภาคครัวเรือนมีภาระค่าใช้จ่ายเพิ่มสูงขึ้น