นางอรมน ทรัพย์ทวีธรรม อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ เปิดเผยว่า กรมได้เป็นเจ้าภาพจัดการประชุมเจรจาจัดทำความตกลงการค้าเสรี (FTA) ระหว่างไทยกับสมาคมการค้าเสรีแห่งยุโรป หรือ เอฟตา (European Free Trade Association: EFTA) รอบที่ 6 ระหว่างวันที่ 12-15 กันยายน ที่ผ่านมา ณ กรุงเทพฯ โดยการเจรจารอบนี้ มีความคืบหน้าด้วยดี ซึ่งทั้งสองฝ่ายตั้งเป้าปิดรอบการเจรจาภายในกลางปี 2567
ทั้งนี้การเจรจารอบนี้ ประกอบด้วย การประชุมระดับหัวหน้าคณะผู้แทน ซึ่งตนเป็นประธานร่วมกับนายมาร์คัส สลาเกนฮอฟ เอกอัครราชทูตผู้แทนสมาพันธรัฐสวิสด้านความตกลงการค้า และหัวหน้าฝ่ายการค้าโลก
ภายใต้คณะกรรมการกิจการเศรษฐกิจต่างประเทศ หัวหน้าทีมฝ่ายเอฟตา เพื่อติดตามและกำกับความคืบหน้าการเจรจาในภาพรวม และการประชุมกลุ่มย่อยผู้เชี่ยวชาญ 11 คณะ ได้แก่ 1) การค้าสินค้า 2) มาตรการเยียวยาทางการค้า 3) มาตรการสุขอนามัยและสุขอนามัยพืช 4) การค้าบริการ 5) การลงทุน 6) การจัดซื้อจัดจ้างโดยรัฐ
7) ทรัพย์สินทางปัญญา 8) การค้าและการพัฒนาที่ยั่งยืน 9) ข้อบททั่วไป ข้อบทสุดท้าย ข้อบทเชิงสถาบัน และการระงับข้อพิพาท 10) ความร่วมมือด้านเทคนิคและการเสริมสร้างศักยภาพ และ 11) วิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) ทั้งนี้ ทั้งสองฝ่ายวางแผนจะจัดการประชุมอีก 3 ครั้ง ในเดือนพฤศจิกายน 2566 เดือนมกราคมและมีนาคม 2567 เพื่อมุ่งสู่การสรุปผลเจรจาภายในกลางปี 2567
สำหรับผลการศึกษาประโยชน์และผลกระทบจากการจัดทำ FTA ไทย-เอฟตา คาดจะส่งผลให้ GDP ไทยขยายตัวเพิ่มขึ้น 0.20% และการส่งออกเพิ่มขึ้น 3.8% (ประมาณ 142.45 ล้านดอลลาร์สหรัฐ) สินค้าที่ไทยมีโอกาสขยายตลาดได้มากขึ้น อาทิ ข้าว ข้าวโพดหวาน อาหารสำเร็จรูป อาหารสุนัขและแมว ผลไม้เมืองร้อน ส่วนสาขาบริการที่ได้ประโยชน์ อาทิ การท่องเที่ยว การเงิน โทรคมนาคม การแพทย์/สุขภาพ พลังงานสะอาด และด้านวิชาชีพ
ทั้งนี้ สมาคมการค้าเสรีแห่งยุโรป (เอฟตา) เป็นคู่ค้าอันดับที่ 14 ของไทย โดยในช่วง 7 เดือน (ม.ค.-ก.ค. 2566) การค้าระหว่างไทยและเอฟตา มีมูลค่า 5,337.13 ล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยไทยส่งออกไปเอฟตา มูลค่า 2,504.37 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และไทยนำเข้าจากเอฟตา มูลค่า 2,832.76 ล้านดอลลาร์สหรัฐ สินค้าส่งออกสำคัญ ได้แก่ อัญมณีและเครื่องประดับ นาฬิกาและส่วนประกอบ เหล็ก เหล็กกล้าและผลิตภัณฑ์ และเครื่องใช้สำหรับเดินทาง และสินค้านำเข้าสำคัญ ได้แก่ เครื่องเพชรพลอย อัญมณี เงินแท่งและทองคำ นาฬิกาและส่วนประกอบ และเนื้อสัตว์สำหรับการบริโภค