สรรพากร แจงเก็บภาษีลงทุนต่างประเทศ เน้นสร้างความเป็นธรรม

18 ก.ย. 2566 | 09:36 น.
อัพเดตล่าสุด :18 ก.ย. 2566 | 13:33 น.

สรรพากร แจงเก็บภาษีลงทุนต่างประเทศ ตามข้อตกลงภาษีเครือข่าย เน้นสร้างความเป็นธรรม เล็งถก "ธปท.-ก.ล.ต." หารือรายละเอียดเพิ่ม

นายลวรณ แสงสนิท อธิบดีกรมสรรพากร เปิดเผยว่า  กรมสรรพากรได้ออกประกาศคำให้บุคคลซึ่งเป็นผู้อยู่ในประเทศไทยตามมาตรา 41 วรรคสาม แห่งประมวลรัษฎากรที่มีเงินได้พึงประเมินเนื่องจากหน้าที่งานหรือกิจการที่ทำในต่างประเทศ หรือเนื่องจากทรัพย์สินที่อยู่ในต่างประเทศ ตามมาตรา 41 วรรคสอง แห่งประมวลรัษฎากรในปีภาษีดังกล่าว และได้นำเงินได้พึงประเมินนั้นเข้าประเทศไทยในปีภาษีใดก็ตาม ให้บุคคลนั้นมีหน้าที่ต้องนำเงินได้พึงประเมินเหล่านี้มารวมคำนวณเพื่อเสียภาษี ที่ได้นำเงินได้พึงประเมินนั้นเข้ามาในประเทศ เพื่อให้เกิดความเป็นธรรม และลดความซ้ำซ้อนในการเสียภาษี

ทั้งนี้ ปัจจุบันบริบทการทำธุรกิจนั้นเปลี่ยนแปลงไป และกรมได้เข้าร่วมความตกลงแลกเปลี่ยนข้อมูลทางภาษีระหว่างประเทศ จึงต้องปฏิบัติตามข้อตกลงของภาคีเครือข่าย โดยประกาศดังกล่าวจะเริ่มบังคับใช้ในปี 2567 เพื่อยื่นจ่ายภาษีเงินได้ในปี 2568 ยืนยันว่า ประกาศดังกล่าว ไม่ได้เป็นการเก็บภาษีที่ทับซ้อน หากใครมีการเสียภาษีที่ประเทศต้นทางที่มีอนุสัญญาร่วมกันอยู่แล้ว ก็จะไม่มีการเรียกเก็บภาษีที่ไทยอีก 

"ประกาศตัวนี้มีความเกี่ยวข้องกับผู้มีส่วนได้เสียจำนวนมาก ฉะนั้น กรมจะมีการเรียกหน่วยงานเข้ามาหารือรายละเอียด ทั้งธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.), สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) และภาคเอกชนที่เกี่ยวข้อง เพื่อออกรายละเอียดกฎหมายย่อยเพิ่มเติม และในระยะยาวจะมีการออกเป็นประมวลราษฎากร ซึ่งไม่ได้มีเป้าหมายเพื่อการเพิ่มรายได้ของกรม แต่เน้นการสร้างความเป็นธรรมในการเสียภาษี และกรมคาดว่าปีนี้จะจัดเก็บภาษีเกินเป้า 1.8 แสนล้านบาท"

นายลวรณ กล่าวว่า ความท้าทายในปี 2567 เศรษฐกิจภาพใหญ่ตัวเลขประมาณการปรับตัวลดลง ซึ่งอาจจะมีผลต่อการจัดเก็บรายได้ อย่างไรก็ตาม จะพยายามเพิ่มประสิทธิภาพการจัดเก็บรายได้ โดยการใช้เทคโนโลยี และการใช้ไอเอเข้ามาตรวจสอบการภาษีที่ยังไม่ถูกต้อง ให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น