ลุยพักหนี้เกษตรกร “รมช.คลัง” ลั่น 4 ปี สร้างมูลค่าการเกษตรเพิ่ม

12 ก.ย. 2566 | 07:38 น.
อัปเดตล่าสุด :12 ก.ย. 2566 | 07:38 น.

“จุลพันธ์ อมรวิวัฒน์” รมช.คลัง ลุยพักหนี้ 3 ปี ตามนโยบายรัฐ วางเป้า 4 ปี เปิดประตูการค้า สร้างมูลค่าเกษตรเพิ่ม ดันไทยกลับมาเป็นครัวโลก พร้อมแก้หนี้สหกรณ์-ครู-ตำรวจ

นายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวชี้แจงข้อซักถามต่อสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ในการแถลงนโยบายของนายกรัฐมนตรีต่อรัฐสภาฯ ว่า นายกรัฐมนตรีได้เน้นย้ำให้เดินหน้าทำงานพักหนี้ แก้ปัญหาหนี้สิน ซึ่งเป็นเพียงจุดเริ่มต้นของการทำงาน โดยการพักหนี้เกษตรกร 3 ปี ขณะนี้ได้เตรียมการล่วงหน้าไปมากแล้ว คาดภายในไตรมาสนี้จะสามารถเดินหน้าแก้ไขปัญหาในเรื่องการพักหนี้ให้กับเกษตรกรได้

นายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง

สำหรับการแก้ไขปัญหาหนี้สินเกษตรกร โดยรัฐบาลหลายๆ ชุดได้มีการดำเนินการในเรื่องดังกล่าวมาแล้วกว่า 13 ครั้ง แต่ไม่ได้ช่วยให้เกษตรกรพบทางออกของการแก้ไขปัญหาหนี้สินอย่างเป็นรูปธรรม ซึ่งด้วยภาวการณ์เศรษฐกิจที่กระทบประชาชน โดยเฉพาะภาคเกษตรที่อยู่ในภาวะที่ตรึงมือมาก หนี้สินอยู่ระดับสูง การพักหนี้จึงเป็นจุดเริ่มต้นที่สำคัญในการต่อชีวิตให้กับประชาชนภาคการเกษตร

นอกจากนี้ หลังจากดำเนินนโยบายพักหนี้ให้กับเกษตรกรแล้ว เราจะมีโครงการที่ดำเนินการตามนโยบายรัฐอีกมากมาย เราจะมีการคัดกรองเกษตรกรตามเงื่อนไขและคุณสมบัติที่เหมาะสม โดยจะมีการเติมโครงการที่จูงใจให้เกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการพักหนี้ ให้สามารถลดภาระหนี้ และมีการบริหารการเงินที่ชัดเจน ส่งเสริมการสร้างรายได้ เช่น การปลูกพืชที่มีมูลค่าเพิ่มมากขึ้น เพิ่มผลผลิตต่อไร่ ตามนโยบายของรัฐที่จะใช้ตลาดนำ นำนวัตกรรมเสริม และเพิ่มรายได้

“เราวางเป้าจีดีพีในภาคการเกษตร มีประชาชน 1 ใน 3 ของประเทศ จำนวน 10 ล้านคนอยู่ในภาคเกษตร แต่สามารถสร้างมูลค่าจีดีพีได้เพียง 7% ซึ่งเป็นเป้าหมายว่าเราจะเพิ่มมูลค่าการเกษตรภายในระยะเวลา 4 ปี เพื่อที่จะให้พี่น้องการเกษตรกรลืมตาอ้างปากได้อย่างแท้จริง โดยมีแนวทางเจรจาการค้ากับหลายประเทศ เพื่อเปิดประตูการค้า เรามองเห็นปัญหาเอลนีโญที่กำลังจะมาถึง ซึ่งเป็นปัญหาโลกร้อน”

โดยสถานการณ์เอลนีโญที่จะเกิดขึ้นในช่วง 3 ปีข้างหน้า จะเกิดภาวะขาดแคลนเรื่องอุปทาน และอาหารจำนวนมากในโลก เราเชื่อว่าหากไทยสร้างความแข็งแกร่งในภาคการเกษตรได้ เราจะสามารถกลับมาเป็นครัวโลกได้อย่างภาคภูมิ เกษตรกรจะสามารถลืมตาอ้าปากได้ กลไกอื่นๆที่จะเข้ามาสนับสนุน จะใช้เทคโนโลยีการเกษตรกรแม่นยำ จะใช้กลไกความเหมาะสมแต่ละพื้นที่ เพื่อพลิกฟื้นชีวิตให้กับเกษตรกร

ส่วนหนี้ภาคอื่นๆ มีแผนงานที่รองรับไว้ รวมทั้งแหล่งทุนที่จะนำไปพัฒนา โดยจะครอบคลุมไปถึงการดูแลหนี้สหกรณ์ ราชการครู ตำรวจ และราชการอีกมามาย ซึ่งอยู่ในภาวะที่เราต้องช่วยเหลือ เพื่อปรับแก้โครงสร้าง ลดภาระ เพื่อให้กลับมายืนได้อย่างแข็งแกร่ง ที่สำคัญจะดูแลเรื่องหนี้นอกระบบด้วย ซึ่งมีจำนวนมหาศาล จะเดินหน้าแก้ไข และดึงให้ประชาชนกลับมาอยู่ในภาคที่ถูกต้อง

ทั้งนี้ ในเรื่องสวัสดิการของรัฐ ยืนยันว่า สวัสดิการโดยรัฐ เราคำนึงถึงภาระงบประมาณ เช่น 30 บาทรักษาทุกโรค วัคซีนฟรี และสวัสดิการอื่นๆ จะลงไปยังประชาชนทุกภาคส่วน นอกจากนี้มีโครงการที่เพิ่มรายได้ เพิ่มโอกาสสนับสนุนคุณภาพชีวิตของประชาชน

อย่างไรก็ตาม เราต้องอยู่กับความเป็นจริง โดยสถานการณ์ประเทศไทยขณะนี้ โครงสร้างงบประมาณ จีดีพีของไทยต่ำกว่าหลายประเทศ หากยกตัวอย่าง เช่น ประเทศสวีเดน ฟินแลนด์ และนอร์เวย์ โครงสร้างทางเศรษฐกิจแตกต่างจากเรามหาศาล ฐานภาษีที่เขาเก็บได้กับการช่วยเหลือสวัสดิการถ้วนหน้า แตกต่างจากไทย ด้วยภาวะการจัดเก็บรายได้ผู้ที่อยู่ในฐานภาษียังไม่สามารถจัดทำสวัสดิการถ้วนหน้าได้จริง  

“ทุกท่านทราบดีว่า ไทยยังไม่มีงบประมาณเพียงพอที่จะรองรับการจัดทำสวัสดิการถ้วนหน้า สิ่งที่สำคัญที่สุดของไทยคือการสร้างเค้กให้ใหญ่ขึ้น เพื่อให้รัฐจัดเก็บภาษีได้มากขึ้น และนำภาษีเหล่านั้นกลับไปทำสวัสดิการ โดยรัฐบาลมีความตั้งใจทำสวัสดิการโดยรัฐให้กับประชาชนในระดับที่เหมาะสม และเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ยืนยันว่า รัฐบาลนี้ตระหนักเรื่องวินัยการเงินการคลัง จะไม่สามารถทำสิ่งที่กระทบไม่ได้ แต่จะสร้างการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจจนสามารถสร้างสวัสดิการให้คนไทยทุกคนได้”