คนไทยอ่วมหนี้ท่วมหัว รับนโยบายประชานิยม “รัฐบาลเศรษฐา”

20 ก.ย. 2566 | 05:26 น.
อัปเดตล่าสุด :20 ก.ย. 2566 | 06:00 น.

ยิ้มไม่ออก! นโยบายประชานิยม “รัฐบาลเศรษฐา” ลดแลกแจกสะบัด ส่งผลคนไทยเตรียมรับหนี้ก้อนโต เตรียมกู้เงินกระฉูด 4 ปี รวม 3.61 ล้านล้าน หนี้สาธารณะแตะ 64.81% ทำคนไทยมีหนี้เฉลี่ยรายหัวพุ่งคนละ 2 แสนบาท

ความท้าทายการบริหารราชการแผ่นดินของรัฐบาล เศรษฐา ทวีสิน” นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง โจทย์ใหญ่คือการบริหารการเงินการคลังให้อยู่ภายใต้กรอบ พ.ร.บ.วินัยการเงินการคลังของรัฐ พ.ศ.2561

นั่นเพราะนโยบายหลายอย่างของรัฐบาลที่จะถูกผลักดันออกมาในช่วง 4 ปี ต่างมีต้นทุนนั่นคือ “ภาระหนี้” โดยเฉพาะนโยบายเร่งด่วนทั้ง เติมเงินดิจิทัล 10,000 บาท พักหนี้เกษตรกร-เอสเอ็มอี และขึ้นเงินเดือนข้าราชการจบใหม่ปริญญาตรี

การเตรียมความพร้อมด้านการเงินการคลัง ล่าสุดที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติเห็นชอบแผนการคลังระยะปานกลาง ฉบับทบทวน ครอบคลุมตั้งแต่ปีงบประมาณ 2567- 2570 โดยมีวงเงินงบประมาณรายจ่ายรวม 14,602,000 ล้านบาท รายได้นำส่งคลังรวม 11,745,000 ล้านบาท

ทั้งนี้รัฐบาลยังคงจัดทำงบประมาณแบบขาดดุลต่อเนื่อง โดยมีแผนกู้เงินเพื่อชดเชยขาดดุลรวม 2,857,000 ล้านบาท

 

แผนการคลังระยะปานกลาง ฉบับทบทวน ครอบคลุมตั้งแต่ปีงบประมาณ 2567- 2570 รับรัฐบาลเศรษฐา

4 ปี กู้กระฉูด 3.61ล้านล้าน

ภายใต้แผนการคลังระยะปานกลางฉบับใหม่ รัฐบาลต้องการเงินกู้ช่วง 4 ปี (ปีงบประมาณ 2567-2570) วงเงินรวม 3.61 ล้านล้านบาทแบ่งเป็น การกู้เงินของรัฐบาลและรัฐวิสาหกิจ 7.54 แสนล้านบาท และกู้เพื่อชดเชยการขาดดุลงบประมาณ 2.85 ล้านล้านบาท

หากนับเฉพาะแผนความต้องการเงินกู้ระยะปานกลาง โดยไม่นับรวมวงเงินกู้เพื่อชดเชยการขาดดุล พบว่าช่วง 4 ปี ตั้งแต่ปีงบประมาณ 2567-2570 มีวงเงินรวม 754,004 ล้านบาท แบ่งเป็นปี 2567 กู้เงิน 261,757 ล้านบาท, ปี 2568 กู้เงิน 245,168 ล้านบาท, ปี 2569 กู้เงิน 160,892 ล้านบาท และ ปี 2570 กู้เงิน 86,187 ล้านบาท

คนไทยหนี้พุ่ง คนละ 2 แสน

ขณะที่หนี้สาธารณะคงค้างเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยประเมินว่าปี 2566 จะมีหนี้สาธารณะคงค้าง 11,254,544 ล้านบาท คิดเป็น 62.97% ต่อจีดีพี โดยมีหนี้สาธารณะเฉลี่ยต่อคนที่ 170,377 บาท และเมื่อถึงปี 2570 จะมีหนี้สาธารณะคงค้าง 14,363,204 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 3,108,660 ล้านบาทจากปี 2566 โดยสัดส่วนหนี้เพิ่มขึ้นไปอยู่ที่ 64.81% ต่อจีดีพี และมีหนี้สาธารณะเฉลี่ยต่อคนอยู่ที่ 217,437 บาท เพิ่มขึ้น 47,060 บาทจากปี 2566 

 

โจทย์ท้าทายรัฐบาลเศรษฐา 4 ปี บริหารการเงินการคลัง และ ภาระหนี้สาธารณะ

จ่อขยายกรอบ มาตรา 28 แตะ 45%

ขณะเดียวกันเมื่อพิจารณาภาระผูกพันจากการดำเนินโครงการนโยบายของรัฐบาลตามม. 28 แห่ง พ.ร.บ.วินัยการเงินการคลัง พบข้อมูลว่า ณ สิ้นปีงบประมาณ 2565 มียอดคงค้าง 1,039,920 ล้านบาท (เป็นยอดคงค้างที่ถูกนับรวมในหนี้สาธารณะด้วย 206,048 ล้านบาท) คิดเป็น 33.55% ของงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2565 อยู่ภายใต้สัดส่วนที่คณะกรรมการนโยบายการเงินการคลังของรัฐกำหนดไว้ที่ไม่เกิน 35% ของงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2565

ทั้งนี้ ในปีงบประมาณ 2566 รัฐบาลได้จัดสรรงบประมาณ เพื่อชำระคืนม.28 จำนวน 104,472 ล้านบาท คิดเป็น 3.28% ของงบประมาณรายจ่ายประจำปี ดังนั้นในปีงบ 2566 จะเหลือภาระผูกพันตามม.28 จำนวน 935,448 ล้านบาท

ดังนั้นถ้ากำหนดสัดส่วนภาระผูกพันตามม. 28 ไว้ที่ 35% จะมีเงินเหลือในปีงบ 2567 จำนวน 282,552 ล้านบาท หากจะนำมาใช้แจกเงินดิจิทัล 5.6 แสนล้านบาท ต้องขยายเพดานเป็น 45%

คลังยันใช้เงินม.28ไม่กระทบหนี้สาธารณะ

นางแพตริเซีย มงคลวนิช ผู้อำนวยการสำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ (สบน.) กล่าวว่า การประมาณการหนี้สาธารณะตามแผนการคลัง ระยะปานกลางนั้น สบน.พิจารณาจากตัวเลขประมาณการรายได้และรายจ่ายตามที่หน่วยงานให้มา ฉะนั้นคาดว่า หน่วยงานที่คำนวณเรื่องรายรับและรายจ่ายอาจจะคำนวณเรื่องนโยบายต่างๆ ของรัฐบาลที่จะออกมาไว้ด้วยแล้ว 

“สบน.ประมาณการหนี้สาธารณะตามตัวเลขภาพรวมรายรับและรายจ่าย ซึ่งกรณีที่รัฐบาลกู้ชดเชยขาดดุล ก็มีการรวมสัดส่วนหนี้สาธารณะไว้แล้ว ยกเว้นแต่กรณีที่รัฐบาลออกพระราชกำหนด (พ.ร.ก.) กู้เงินเพิ่มเติม จึงจะทำให้สัดส่วนหนี้สาธารณะเพิ่มขึ้นจากประมาณการที่คาดไว้”

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในการประมาณการสัดส่วนหนี้สาธารณะนั้น ในหลักการสบน.พิจารณาจากรายได้และรายจ่ายของรัฐบาล การขาดดุลงบประมาณ รวมทั้งการขยายตัวทางเศรษฐกิจ โดยหลักการหากรัฐบาลออกมาตรการต่างๆโดยใช้นโยบายกึ่งการคลัง ม.28 ในส่วนนี้จะไม่ถูกบรรจุในหนี้สาธารณะ ซึ่งรัฐบาลรับภาระจะชดเชยค่าใช้จ่ายหรือการสูญเสียรายได้ในการดำเนินการของหน่วยงานของรัฐนั้นให้ในอนาคต

 

หน้า 1 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับที่ 3924 วันที่ 21 – 23 กันยายน พ.ศ. 2566