เอกชนไม่ห่วง"หนี้สาธารณะพุ่ง" ชี้จำเป็นต้องกระชากเศรษฐกิจ

14 ก.ย. 2566 | 08:03 น.
อัปเดตล่าสุด :14 ก.ย. 2566 | 08:03 น.

เอกชนไม่ห่วง"หนี้สาธารณะพุ่ง" ชี้จำเป็นต้องกระชากเศรษฐกิจ แนะรัฐบาลรวบรวมความเห็นทุกฝ่ายปรับปรุงแก้ไขแพลตฟอร์ม หรือบล็อกเชนเงินดิจิทัล 1 หมื่นบาทให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด

นายเกรียงไกร เธียรนุกุล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยถึงประเด็นเรื่องหนี้สาธารณะที่จะปรับตัวเพิ่มขึ้นจากการดำเนินนโยบายของรัฐบาล ว่า ถือเป็นเรื่องปกติเมื่อรัฐบาลต้องการกระตุ้นเศรษฐกิจด้วยวิธีการใดก็ตามที่จะต้องใช้เงิน  ก็จะผลให้เป็นภาระทางการคลัง และย่อมมีผลต่อหนี้สาธารณะของประเทศ แต่หากไม่กระตุ้นเศรษฐกิจก็คงไม่ได้แล้วในเวลานี้ เพราะช่วงนี้จำเป็นต้องกระตุ้น  ซึ่งก็มีหลายวิธี

ทั้งนี้ ปัจจุบันรัฐบาลมีนโนยบายหลักในการกระตุ้นเศรษฐกิจด้วยเม็ดเงินในดิจิทัลวอลเลต หรือเงินดิจิทัล 1 หมื่นบาทต่อรายให้กับประชาชนที่มีอายุเกิน 16 ปีขึ้นไป ซึ่งคาดว่าจะใช้เงินประมาณ 5.6 แสนล้านบาท ตามเกณฑ์ที่วางไว้

สำหรับวัตถุประสงค์ หรือกรอบการใช้เงินดิจิทัลตามที่พรรคเพื่อไทยหาเสียงไว้ก่อนการเลือกตั้งจะเป็นกระชากโดยการอัดเม็ดเงินเข้าสู่ระบบเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจในระยะสั้นให้เครื่องติด

โดยที่ผ่านมาก็มีความคิดเห็นมากมายจากหลายภาคส่วนเกี่ยวกับเรื่องเงินดิจิทัล โดยรัฐบาลจะต้องนำความคิดเห็นดังกล่าวเหล่านี้มาใช้ในการพัฒนาแพลตฟอร์ม หรือบล็อกเชนให้มีความสมบูรณ์ และให้มีประสิทธิภาพสูงสุด

"การใช้เงินจำนวนมากย่อมเป็นภาระต่อหนี้สาธารณะ  แต่ต้องดูว่าการจัดสรรที่มาของแหล่งเงินมาจากไหน เพราะเวลานี้ยังไม่มีความชัดเจนในเรื่องดังกล่าว หากกู้ก็มีหนี้ตามมา ซึ่งจะเพิ่มขึ้นตามจำนวนที่กู้ โดยปัจจุบันสัดส่วนหนี้สาธารณะอยู่ที่ประมาณ 60% กว่า ซึ่งรัฐบาลได้มีการขยายกรอบไปถึง 70% เพราะฉะนั้นสามารถทำได้"

อย่างไรก็ดี ทุกอย่างต้องมีการคำนวณ หากทำแล้วเกิดประสิทธิผลตามที่คาดหวังก็คุ้มกับการทำ แต่ต้องทำด้วยประสิทธิภาพ แม่นยำและโปร่งใสเพื่อให้เกิดผลตามที่ต้องการจริง และนำความคิดเห็นทุกคนนำไปปรับปรุงวางแผน ให้ตอบโจทย์เหล่านี้ให้ได้