นายทศพล ทังสุบุตร อธิบดีกรมพัฒนาธุรกิจการค้า เปิดเผยถึงผลการจัดทำโครงการ DBD SMART Local BCG ปี 2566 ว่า กรมได้เข้าไปให้ความช่วยเหลือผู้ประกอบการชุมชน ที่มีความหลากหลายทั้งทางชีวภาพ ภูมิปัญญา และวัฒนธรรม เพื่อให้มีการผลิตสินค้าและบริการที่ผสมผสานแนวคิด BCG Economy Model และให้นำไปพัฒนาต่อยอด สร้างสรรค์ และสร้างมูลค่าเพิ่มให้ผลิตภัณฑ์ชุมชน
ให้มีความโดดเด่น และเป็นที่ต้องการของตลาด โดยได้เข้าไปช่วยสร้างความรู้เรื่องผ่านบทเรียนออนไลน์ในหลักสูตร BCG ธุรกิจสร้างรายได้ รักชุมชน รักษ์โลกเพื่อให้ผู้ประกอบธุรกิจชุมชนสามารถเข้าถึงความรู้ได้อย่างไม่มีข้อจำกัด จำนวน 139 ราย และได้มีการพัฒนาต่อให้เป็นธุรกิจชุมชนต้นแบบ ก่อนที่จะช่วยเหลือเพิ่มโอกาสในการตลาดต่อไป
โดยผลการดำเนินงาน ได้เข้าไปช่วยพัฒนาศักยภาพการประกอบธุรกิจตามโมเดลเศรษฐกิจ BCG จากผู้เชี่ยวชาญในการให้คำปรึกษาเชิงลึกทั้งในรูปแบบ Onsite และ Online สามารถสร้างชุมชนต้นแบบ DBD SMART Local BCG ครอบคลุม 77 จังหวัด จำนวน 88 ราย ประกอบด้วย 4 กลุ่มผลิตภัณฑ์
ได้แก่ 1.อาหารและเครื่องดื่ม 2.ผ้าและเครื่องแต่งกาย 3.ของใช้ของตกแต่งของที่ระลึก และ 4.สมุนไพรที่ไม่ใช่อาหาร แบ่งเป็นธุรกิจ Bio Economy จำนวน 22 ราย ธุรกิจ Circular Economy จำนวน 29 ราย และธุรกิจ Green Economy จำนวน 37 ราย
ส่วนการนำผู้ประกอบการชุมชนต้นแบบ DBD SMART Local BCG ไปเจรจาจับคู่ธุรกิจ (Business Matching) ระหว่างผู้ประกอบการชุมชน จำนวน 56 ราย กับกลุ่มผู้จัดจำหน่าย และผู้ซื้อชั้นนำ 16 หน่วยงาน จำนวน 198 คู่ เกิดมูลค่าการค้า 30,629,500 บาท
นอกจากนี้ ได้นำผู้ประกอบการตัวแทน 18 กลุ่มจังหวัด และกรุงเทพฯ จำนวน 28 ราย เข้าร่วมออกบูธในงานแสดงและจำหน่ายผลิตภัณฑ์ชุมชนต้นแบบ DBD SMART Local BCG ช่วงเดือนก.ค. เกิดการซื้อขายภายในงาน 1,484,152 บาท โดยผลิตภัณฑ์ที่มีการจำหน่ายมากที่สุด 5 อันดับ ได้แก่ พระพิฆเนศจากนิล ภาชนะจากเศษไม้สัก บ้านแมวจากผักตบชวา ชุดเดรส และผ้าทอมือย้อมสีธรรมชาติ
สำหรับการดำเนินงานในปี 2567 กรมจะมุ่งเน้นสร้างโอกาสทางการค้าและขยายช่องทางการจำหน่ายให้แก่ผู้ประกอบการชุมชน DBD SMART Local BCG อย่างยั่งยืนในกลุ่มตลาดใหม่ เช่น โรงแรม บริษัท องค์กร สถาบัน เพื่อเข้าสู่กลุ่มลูกค้าธุรกิจแบบ B2B มากขึ้น
ทั้งนี้ โครงการ DBD SMART Local BCG เป็นโครงการที่กรมได้เข้าไปคัดเลือกผู้ประกอบการชุมชนที่มีคุณสมบัติตามเกณฑ์โมเดลเศรษฐกิจ BCG โดยต้องเป็นของเด่นพื้นที่ ของดีพื้นถิ่น และตรงตามหลัก S-M-A-R-T คือ ต้องเป็นสุดยอดผลิตภัณฑ์ชุมชนในแต่ละพื้นที่ (Superlative) , มีการผลิตสินค้าที่ทันสมัยรองรับตลาดยุคใหม่ (Modern) , คงเสน่ห์เอกลักษณ์ไทย ต่อยอดภูมิปัญญาท้องถิ่น (Attractive) , สินค้ามีความโดดเด่น มีอัตลักษณ์ สร้างสรรค์ เพิ่มมูลค่าให้ตัวเอง (Remarkable) และต้องมั่นใจได้ในคุณภาพมาตรฐาน (Trust)