"รมว.อุตสาหกรรม"รุกสร้างต้นแบบ "Smart Farmer" พื้นที่ภาคใต้

22 ก.ย. 2566 | 00:19 น.
อัปเดตล่าสุด :22 ก.ย. 2566 | 01:33 น.

"รมว.อุตสาหกรรม"รุกสร้างต้นแบบ "Smart Farmer" พื้นที่ภาคใต้ มุ่งสร้างรายได้ ลดค่าใช้จ่ายด้วยเทคโนโลยี และนวัตกรรมพลังงาน ร่วมหนุนการขับเคลื่อนการดำเนินกิจการ ตามนโยบาย MIND 4 มิติ

นางสาวพิมพ์ภัทรา วิชัยกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า กระทรวงฯ มุ่งสร้างต้นแบบ Smart Farmer สร้างรายได้ ลดค่าใช้จ่ายด้วยเทคโนโลยี และนวัตกรรมพลังงาน

ทั้งนี้ ในพื้นที่ภาคใต้มีผู้ประกอบการเกษตรอุตสาหกรรม 2 แห่ง ในจังหวัดชุมพร ประกอบด้วย บริษัท ห้างหุ้นส่วน จำกัด ฟาร์มอินทร์แปลง และ บริษัท สวนทวีทรัพย์ ฟู้ด จำกัด ที่ได้รับการสนับสนุนจากกระทรวงอุตสาหกรรม

สำหรับห้างหุ้นส่วน จำกัด ฟาร์มอินทร์แปลง ผู้ประกอบการฟาร์มโคนม และผลิตภัณฑ์แปรรูปจากน้ำนม ได้นำเทคโนโลยีและนวัตกรรม เพื่อพัฒนากิจการให้เป็นเกษตรอัจฉริยะหรือ Smart Farmer ต้นแบบ โดยการนำระบบ IoT (Internet of Things) มาใช้ติดตาม วิเคราะห์พฤติกรรมโคนมที่เลี้ยงไว้ในฟาร์ม และบริหารจัดการนำผลิตภัณฑ์นมมาต่อยอดเพิ่มมูลค่า 

รวมถึงนำของเสียจากฟาร์ม อาทิ มูลวัว มาผลิตเป็นก๊าซชีวภาพ และปุ๋ยอินทรีย์ ตามแนวทาง BCG Model หรือ เศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียน และเศรษฐกิจสีเขียว (Bio-Circular-Green Economy) โดยบริษัทฯ ได้รับการสนับสนุนเงินทุนจากกองทุนพัฒนาเอสเอ็มอีตามแนวประชารัฐ วงเงิน 11.2 ล้านบาท เพื่อใช้จัดซื้อโคนม เครื่องผลิตอาหาร ปรับปรุงโรงเรือน โรงแปรรูป และเป็นเงินทุนหมุนเวียน จนสามารถลดค่าใช้จ่ายในการบริหารจัดการได้ถึง 40 % ทำให้มีรายได้เพิ่มขึ้นถึง 7 ล้านบาทต่อปี

รมว.อุตสาหกรรมรุกสร้างต้นแบบ Smart Farmer พื้นที่ภาคใต้

ส่วนบริษัท สวนทวีทรัพย์ ฟู้ด จำกัดผู้ประกอบการสวนผลไม้ผสมผสาน และโรงงานแปรรูปผลิตผลทางการเกษตรด้วยวิธีการแช่แข็ง และการทำแห้งแบบแช่เยือกแข็งหรือ Freeze Dry ได้รับการสนับสนุนเงินทุนจากกองทุนพัฒนาเอสเอ็มอีตามแนวประชารัฐ วงเงิน 10 ล้านบาท สำหรับจัดซื้อโดรนเพื่อใช้ในการพ่นยาฆ่าแมลงภายในสวนทุเรียน รวมทั้งติดตั้งแผงโซลาร์เซลล์เพื่อผลิตไฟฟ้าใช้ในโรงงาน โดยสามารถลดต้นทุนพลังงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ 

และยกระดับการบริหารจัดการสวนผลไม้ให้เข้าสู่มาตรฐาน GAP โดยการพัฒนาโรงงานแปรรูปผลผลิตทางการเกษตรด้วยเทคโนโลยีแช่แข็งและฟรีซดราย และได้รับมาตรฐาน GMP พร้อมทั้งส่งเสริมการนำวัสดุเหลือใช้ เช่น เปลือกทุเรียนมาทำปุ๋ยและอาหารสัตว์ สร้างมูลค่าเพิ่มในระบบผลิต 

นางสาวพิมพ์ภัทรา กล่าวอีกว่า ทั้ง 2 ราย มีการขับเคลื่อนการดำเนินกิจการ ตามนโยบาย MIND 4 มิติ ได้แก่ 

  • ความสำเร็จทางธุรกิจเปลี่ยนผ่านสู่อุตสาหกรรมเศรษฐกิจ ที่มุ่งให้ผู้ประกอบการมีกำไรในการดำเนินธุรกิจ 
  • ความอยู่ดีกับสังคมโดยรวมส่งเสริมการทำงานร่วมกันระหว่างสถานประกอบการ ชุมชน และสังคมอยู่ร่วมกันอย่างเป็นมิตรและมีความสุข 
  • ความลงตัวกับกติกาสากล ดูแลรักษาสิ่งแวดล้อมสู่อุตสาหกรรมสีเขียว เพื่อโอกาสทางธุรกิจมุ่งสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอนตอบโจทย์ไทยและประชาคมโลก 
  • การกระจายรายได้สู่ชุมชนที่ตั้ง ด้วยการกระจายรายได้ และสร้างความเข้มแข็งให้กับชุมชนได้มีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น เพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันและเพิ่มประสิทธิกระบวนการผลิต โดยใช้นวัตกรรมและเทคโนโลยีสมัยใหม่ ลดการสูญเสีย ลดค่าใช้จ่าย เพิ่มรายได้ และเป็นแหล่งสร้างงานให้กับชุมชน