“สมศักดิ์” ถกคมนาคม จ่อชงครม.ขอปรับงบปี 67 แตะ 2.8 แสนล้าน

27 ก.ย. 2566 | 09:45 น.
อัปเดตล่าสุด :27 ก.ย. 2566 | 09:56 น.

“สมศักดิ์” สั่งคมนาคม-ทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เร่งชงครม.ไฟเขียวขอปรับงบปี 67 เพิ่ม 2.8 แสนล้านบาท ภายใน 3 ต.ค.นี้ เตรียมเดินหน้าเมกะโปรเจ็กต์

นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รองนายกรัฐมนตรีเปิดเผยภายหลังเป็นประธานการประชุมคณะกรรมการจัดทำงบประมาณรายจ่ายบูรณาการประจำปีงบประมาณ ปี 2567 (แผนงานบูรณาการพัฒนาด้านคมนาคมและระบบโลจิสติกส์) ว่า ที่ประชุมได้ร่วมกันพิจารณาทบทวนคำของบประมาณเพื่อนำไปสู่จัดทำข้อเสนอการจัดทำงบประมาณรายจ่ายบูรณาการประจำปีงบประมาณ ปี 2567 ซึ่งตามปฏิทินงบประมาณที่คณะรัฐมนตรี (ครม.) ได้เห็นชอบไว้ซึ่งกำหนดให้จะต้องจัดส่งให้สำนักงบประมาณภายในวันที่ 6 ตุลาคมนี้ โดยการจัดทำข้อเสนอการจัดทำงบประมาณดังกล่าว เป็นการบูรณาการร่วมกันของ 7 กระทรวง 24 หน่วยงาน 

 

"ที่ประชุมได้มอบหมายให้ฝ่ายเลขานุการฯ จัดทำสรุปข้อเสนอการจัดทำงบประมาณรายจ่ายบูรณาการประจำปีงบประมาณ ปี 2567 แผนงานบูรณาการพัฒนาด้านคมนาคมและระบบโลจิสติกส์ให้เป็นไปด้วยความรอบคอบ เพื่อให้การใช้จ่ายงบประมาณเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพสูงที่สุดต่อไป" นายสมศักดิ์ กล่าว
 

นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม กล่าวว่า สำหรับการประชุมจัดทำงบประมาณรายจ่ายบูรณาการประจำปีงบประมาณ 2567 นั้น เบื้องต้นกระทรวงฯ ได้มีการปรับกรอบงบประมาณฯ เพิ่มขึ้นเป็น 282,446 ล้านบาท จากเดิมกรอบวงเงินอยู่ที่ 2.44 แสนล้านบาท ซึ่งการปรับกรอบวงเงินในครั้งนี้ เป็นการบูรณาการเพื่อตอบโจทย์โครงการโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่ อาทิ โครงการก่อสร้างสร้างถนนของกรมทางหลวง (ทล.) และกรมทางหลวงชนบท (ทช.) เป็นต้น

 

นายชยธรรม์ พรหมศร ปลัดกระทรวงคมนาคม กล่าวว่า ในส่วนของกระทรวงคมนาคม เตรียมเสนอรายละเอียดการขอใช้งบประมาณประจำปี 2567 ต่อที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ในวันที่ 3 ตุลาคมนี้ โดยในวันดังกล่าวจะเป็นการเสนอโครงการที่ใช้งบประมาณเกิน 1,000 ล้านบาท เพื่อให้ที่ประชุม ครม. อนุมัติ ก่อนที่จะเสนอรายละเอียดการขอใช้งบประมาณประจำปี 2567 ทั้งหมด ให้รองนายกรัฐมนตรี พิจารณาเห็นชอบ ในวันที่ 5 ตุลาคมนี้ ก่อนเสนอไปยังสำนักงบประมาณในวันที่ 6 ตุลาคมนี้ ต่อไป 
 

นายปัญญา ชูพานิช ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) กล่าวว่า การจัดคำของบประมาณปี 2567 จำนวน 11 หน่วยงาน ประกอบด้วย สำนักงานปลัดกระทรวงคมนาคม ทล. ทช. กรมเจ้าท่า (จท.) กรมท่าอากาศยาน (ทย.) กรมการขนส่งทางบก (ขบ.) กรมการขนส่งทางราง (ขร.) สนข. การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) และการทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.) รวมวงเงิน 281,773 ล้านบาท คิดเป็น 99.76% จากวงเงินทั้งหมด 282,446 ล้านบาท

 

สำหรับโครงการที่สำคัญ อาทิ 1.โครงการก่อสร้างทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง (มอเตอร์เวย์ ) สายบางปะอิน-สระบุรี-นครราชสีมา 2.โครงการก่อสร้างทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง (มอเตอร์เวย์ ) สายบางใหญ่-กาญจนบุรี 3.โครงการศูนย์เปลี่ยนถ่ายรูปแบบการขนส่งสินค้าเชียงของ จังหวัดเชียงราย 4.โครงการศูนย์ขนส่งชายแดน จ.นครพนม 5.โครงการปรับปรุงท่าอากาศยาน 27 แห่ง 6.โครงการทางพิเศษสายกระทู้-ป่าตอง จ.ภูเก็ต 7.โครงการทางหลวงพิเศษฉลองรัชส่วนต่อขยาย ช่วงจตุโชติ-ลำลูกกา 8.โครงการก่อสร้างทางรถไฟสายบ้านไผ่-นครพนม 9.โครงการก่อสร้างทางรถไฟสายเด่นชัย-เชียงราย-เชียงของ 

 

นอกจากนี้ ยังมีอีก 14 หน่วยงานที่ต้องทำงานบูรณาการร่วมกัน ประกอบด้วย กรมเจ้าท่า สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ หรือ สศช. สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วว.) สถาบันมาตรวิทยา (มว.) กรมวิชาการเกษตร,กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ กรมพัฒนาฝีมือแรงงาน,สถาบันวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีระบบราง (องค์การมหาชน) มหาวิทยาลัยพะเยา มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ มหาวิทยาลัยบูรพา มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา รวมวงเงิน 673  ล้านบาท คิดเป็น 0.24% จากงบประมาณฯ ทั้งหมด