ท่องเที่ยวหนุนเศรษฐกิจภูมิภาค ดันภาค “กลาง-เหนือ” บริโภคพุ่ง

01 ต.ค. 2566 | 10:26 น.
อัพเดตล่าสุด :01 ต.ค. 2566 | 10:26 น.

คลังรายงานเศรษฐกิจภูมิภาคเดือนส.ค.66 รับปัจจัยสนับสนุนจากการท่องเที่ยวที่ขยายตัวได้ดีในทุกภูมิภาค ฝั่งการบริโภคภาคเอกชน เติบโตได้ใน “ภาคกลาง-ภาคเหนือ”

นายพรชัย ฐีระเวช ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง เปิดเผยว่า ภาวะเศรษฐกิจภูมิภาคประจำเดือนสิงหาคม 2566 ได้รับปัจจัยสนับสนุนจากการท่องเที่ยวที่ขยายตัวได้ดีในทุกภูมิภาค และการบริโภคภาคเอกชนที่ขยายตัวได้ในภาคกลาง และภาคเหนือ” โดยมีรายละเอียดดังนี้

นายพรชัย ฐีระเวช ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง

เศรษฐกิจภาคกลาง ได้รับปัจจัยสนับสนุนจากการบริโภคภาคเอกชน  และภาคการท่องเที่ยวขยายตัวได้ อีกทั้งความเชื่อมั่นผู้บริโภคที่ปรับตัวดีขึ้น โดยเครื่องชี้เศรษฐกิจด้านการบริโภคภาคเอกชน สะท้อนจากการจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่ม ณ ราคาคงที่ จำนวนรถจักรยานยนต์จดทะเบียนใหม่ และรายได้เกษตรกรขยายตัวร้อยละ 6.3 1.5 และ 0.1 ต่อปี ตามลำดับ

ขณะที่จำนวนรถยนต์นั่งจดทะเบียนใหม่ชะลอตัวร้อยละ -9.9 ต่อปี แต่ขยายตัวร้อยละ 11.7 เมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้าหลังขจัดผลทางฤดูกาล ทั้งนี้ ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคอยู่ที่ระดับ 55.4 เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนหน้าซึ่งอยู่ที่ระดับ 54.2 เครื่องชี้ด้านการลงทุนภาคเอกชน สะท้อนจากจำนวนรถบรรทุกจดทะเบียนใหม่ชะลอตัวร้อยละ -26.1 ต่อปี แต่ขยายตัวร้อยละ 5.1 เมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้า

หลังขจัดผลทางฤดูกาล ขณะที่จำนวนรถยนต์บรรทุกส่วนบุคคลจดทะเบียนใหม่ และเงินทุนของโรงงานที่เริ่มประกอบกิจการชะลอตัว สำหรับด้านอุปทาน เครื่องชี้ภาคอุตสาหกรรม สะท้อนจากดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรม อยู่ที่ระดับ 95.5 เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนหน้าซึ่งอยู่ที่ระดับ 93.9 ขณะที่เครื่องชี้ด้านการบริการ สะท้อนจากจำนวนผู้เยี่ยมเยือนและรายได้จากผู้เยี่ยมเยือนขยายตัวร้อยละ 15.5 และ 34.0 ต่อปี ตามลำดับ

เศรษฐกิจภาคเหนือ ได้รับปัจจัยสนับสนุนจากการบริโภคภาคเอกชน  และภาคการท่องเที่ยวที่ขยายตัวได้อีกทั้งความเชื่อมั่นผู้บริโภคที่ปรับตัวดีขึ้น โดยเครื่องชี้เศรษฐกิจด้านการบริโภคภาคเอกชน สะท้อนจากการจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่ม ณ ราคาคงที่ จำนวนรถยนต์นั่งจดทะเบียนใหม่ และรายได้เกษตรกรขยายตัวร้อยละ 13.5 11.8 และ 10.1 ต่อปี ตามลำดับ

ขณะที่จำนวนรถจักรยานยนต์จดทะเบียนใหม่ชะลอตัวร้อยละ -14.8 ต่อปี แต่ขยายตัวร้อยละ 0.8 เมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้าหลังขจัดผลทางฤดูกาล ทั้งนี้ ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคอยู่ที่ระดับ 58.2 เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนหน้าซึ่งอยู่ที่ระดับ 57.1 เครื่องชี้ด้านการลงทุนภาคเอกชน สะท้อนจากเงินทุนของโรงงานที่เริ่มประกอบกิจการมีมูลค่า 337.9 ล้านบาท ขยายตัวร้อยละ 24.6 ต่อปี โดยเป็นการลงทุนในโรงงานผลิตสารสกัดสมุนไพรและผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร ในจังหวัดเพชรบูรณ์ เป็นสำคัญ 

ขณะที่จำนวนรถยนต์บรรทุกส่วนบุคคลจดทะเบียนใหม่ และจำนวนรถบรรทุกจดทะเบียนใหม่ชะลอตัว สำหรับด้านอุปทาน เครื่องชี้ภาคอุตสาหกรรม สะท้อนจากดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมอยู่ที่ระดับ 95.3 ลดลงจากเดือนก่อนหน้าซึ่งอยู่ที่ระดับ 98.7 เครื่องชี้ด้านการบริการ สะท้อนจากจำนวนผู้เยี่ยมเยือน และรายได้จากผู้เยี่ยมเยือนขยายตัวร้อยละ 10.2 และ 33.7 ต่อปี ตามลำดับ

เศรษฐกิจภาคใต้ ได้รับปัจจัยสนับสนุนจากการท่องเที่ยวที่ขยายตัวได้ อีกทั้งความเชื่อมั่นผู้บริโภคที่ปรับตัวดีขึ้น โดยเครื่องชี้เศรษฐกิจด้านการบริโภคภาคเอกชน สะท้อนจากการจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่ม ณ ราคาคงที่ขยายตัวร้อยละ 4.3 ต่อปี จำนวนรถยนต์นั่งจดทะเบียนใหม่ชะลอตัวร้อยละ -3.9 ต่อปี แต่ขยายตัวร้อยละ 5.1 เมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้าหลังขจัดผลทางฤดูกาล

อย่างไรก็ตาม จำนวนรถจักรยานยนต์จดทะเบียนใหม่ และรายได้เกษตรกรชะลอตัว ทั้งนี้ ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคอยู่ที่ระดับ 53.8 เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนหน้าซึ่งอยู่ที่ระดับ 52.4 เครื่องชี้ด้านการลงทุนภาคเอกชน สะท้อนจากเงินทุนของโรงงานที่เริ่มประกอบกิจการมีมูลค่า 400.3 ล้านบาท ขยายตัวร้อยละ 67.1 ต่อปี โดยเป็นการลงทุนในโรงงานแปรรูปไม้ยางพาราและไม้ที่ปลูกขึ้นโดยเฉพาะ 13 ชนิด ในจังหวัดตรัง เป็นสำคัญ

ขณะที่จำนวนรถยนต์บรรทุกส่วนบุคคลจดทะเบียนใหม่ และจำนวนรถบรรทุกจดทะเบียนใหม่ชะลอตัว สำหรับด้านอุปทาน เครื่องชี้ภาคอุตสาหกรรม สะท้อนจากดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมอยู่ที่ระดับ 88.0 ลดลงจากเดือนก่อนหน้าซึ่งอยู่ที่ระดับ 90.1 ส่วนเครื่องชี้ด้านการบริการ สะท้อนจากจำนวนผู้เยี่ยมเยือน และรายได้จากผู้เยี่ยมเยือนขยายตัวร้อยละ 71.1 และ 53.9 ต่อปี ตามลำดับ

เศรษฐกิจภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ได้รับปัจจัยสนับสนุนจากรายได้เกษตรกร และภาคการท่องเที่ยวที่ขยายตัวได้ อีกทั้งความเชื่อมั่นผู้บริโภคที่ปรับตัวดีขึ้น โดยเครื่องชี้เศรษฐกิจด้านการบริโภคภาคเอกชน สะท้อนจากการจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่ม ณ ราคาคงที่ และรายได้เกษตรกรขยายตัวร้อยละ 0.6 และ 9.4 ต่อปี ตามลำดับ

ขณะที่จำนวนรถยนต์นั่งจดทะเบียนใหม่ และจำนวนรถจักรยานยนต์จดทะเบียนใหม่ชะลอตัว แต่ขยายตัวร้อยละ 5.7 และ 0.9 เมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้าหลังขจัดผลทางฤดูกาล ตามลำดับ

ทั้งนี้ ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคอยู่ที่ระดับ 60.1 เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนหน้าซึ่งอยู่ที่ระดับ 59.1 เครื่องชี้ด้านการลงทุนภาคเอกชน สะท้อนจากจำนวนรถยนต์บรรทุกส่วนบุคคลจดทะเบียนใหม่ และจำนวนรถบรรทุกจดทะเบียนใหม่ชะลอตัว แต่ขยายตัวร้อยละ 4.4 และ 3.9 เมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้าหลังขจัดผลทางฤดูกาล ตามลำดับ

ส่วนเงินทุนของโรงงานที่เริ่มประกอบกิจการชะลอตัว สำหรับด้านอุปทาน เครื่องชี้ภาคอุตสาหกรรม สะท้อนจากดัชนี ความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมอยู่ที่ระดับ 92.4 ลดลงจากเดือนก่อนหน้าซึ่งอยู่ที่ระดับ 94.8 เครื่องชี้ด้านการบริการ สะท้อนจากจำนวนผู้เยี่ยมเยือนและรายได้จากผู้เยี่ยมเยือนขยายตัวร้อยละ 22.9 และ 30.0 ต่อปี ตามลำดับ

เศรษฐกิจ กทม. และปริมณฑล ได้รับปัจจัยสนับสนุนจากการบริโภคภาคเอกชนในหมวดสินค้าคงทน และภาคการท่องเที่ยวที่ขยายตัวได้อีกทั้งความเชื่อมั่นผู้บริโภคที่ปรับตัวดีขึ้น โดยเครื่องชี้เศรษฐกิจด้านการบริโภคภาคเอกชน สะท้อนจากจำนวนรถยนต์นั่งจดทะเบียนใหม่ และจำนวนรถจักรยานยนต์ จดทะเบียนใหม่ขยายตัวร้อยละ 24.6 และ 3.6 ต่อปี ตามลำดับ

ขณะที่ การจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่ม ณ ราคาคงที่และรายได้เกษตรกรชะลอตัว ทั้งนี้ ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคอยู่ที่ระดับ 56.5 เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนหน้าซึ่งอยู่ที่ระดับ 55.1 เครื่องชี้ด้านการลงทุนภาคเอกชน สะท้อนจากจำนวนรถยนต์บรรทุกส่วนบุคคลจดทะเบียนใหม่ชะลอตัวร้อยละ -28.9 ต่อปี แต่ขยายตัวร้อยละ 9.1 เมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้าหลังขจัดผลทางฤดูกาล

ส่วนจำนวนรถบรรทุกจดทะเบียนใหม่ และเงินทุนของโรงงานที่เริ่มประกอบกิจการชะลอตัว ด้านอุปทาน เครื่องชี้ภาคอุตสาหกรรม สะท้อนจากดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมอยู่ที่ระดับ 95.5 เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนหน้าซึ่งอยู่ที่ระดับ 93.9 เครื่องชี้ด้านการบริการ สะท้อนจากจำนวนผู้เยี่ยมเยือน และรายได้จากผู้เยี่ยมเยือนขยายตัวร้อยละ 36.8 และ 80.6 ต่อปี ตามลำดับ

เศรษฐกิจภาคตะวันตก ได้รับปัจจัยสนับสนุนจากภาคการท่องเที่ยวที่ขยายตัวได้ อีกทั้งความเชื่อมั่นผู้บริโภคที่ปรับตัวดีขึ้น โดยเครื่องชี้เศรษฐกิจด้านการบริโภคภาคเอกชน สะท้อนจากจำนวนรถจักรยานยนต์จดทะเบียนใหม่ขยายตัวร้อยละ 0.3 ต่อปี ขณะที่ การจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่ม ณ ราคาคงที่ จำนวนรถยนต์นั่งจดทะเบียนใหม่ และรายได้เกษตรกรชะลอตัว

ทั้งนี้ ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคอยู่ที่ระดับ 55.4 เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนหน้าซึ่งอยู่ที่ระดับ 54.2 เครื่องชี้ด้านการลงทุนภาคเอกชน สะท้อนจากจำนวนรถยนต์บรรทุกส่วนบุคคลจดทะเบียนใหม่ชะลอตัวร้อยละ -38.2 ต่อปี แต่ขยายตัวร้อยละ 9.4 เมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้าหลังขจัดผลทางฤดูกาล

ขณะที่ จำนวนรถบรรทุกจดทะเบียนใหม่ และเงินทุนของโรงงานที่เริ่มประกอบกิจการชะลอตัว สำหรับด้านอุปทาน เครื่องชี้ภาคอุตสาหกรรม สะท้อนจากดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมอยู่ที่ระดับ 95.5 เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนหน้าซึ่งอยู่ที่ระดับ 93.9 เครื่องชี้ด้านการบริการ สะท้อนจากจำนวนผู้เยี่ยมเยือน และรายได้จาก ผู้เยี่ยมเยือนขยายตัวร้อยละ 32.7 และ 41.4 ต่อปี ตามลำดับ  

เศรษฐกิจภาคตะวันออก ได้รับปัจจัยสนับสนุนจากภาคการท่องเที่ยวที่ขยายตัวได้อีกทั้งความเชื่อมั่นผู้บริโภคที่ปรับตัวดีขึ้น โดยเครื่องชี้เศรษฐกิจด้านการบริโภคภาคเอกชน สะท้อนจากรายได้เกษตรกรขยายตัวร้อยละ 18.2 ต่อปี ขณะที่ การจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่ม ณ ราคาคงที่ จำนวนรถยนต์นั่งจดทะเบียนใหม่ และจำนวนรถจักรยานยนต์จดทะเบียนใหม่ชะลอตัว

ทั้งนี้ ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคอยู่ที่ระดับ 59.6 เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนหน้าซึ่งอยู่ที่ระดับ 58.6 เครื่องชี้ด้านการลงทุนภาคเอกชน สะท้อนจากจำนวนรถยนต์บรรทุกส่วนบุคคลจดทะเบียนใหม่ จำนวนรถบรรทุกจดทะเบียนใหม่ และเงินทุนของโรงงานที่เริ่มประกอบกิจการชะลอตัว

สำหรับด้านอุปทาน เครื่องชี้ภาคอุตสาหกรรม สะท้อนจากดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมอยู่ที่ระดับ 82.5 ลดลง จากเดือนก่อนหน้าซึ่งอยู่ที่ระดับ 84.8 เครื่องชี้ด้านการบริการ สะท้อนจากจำนวนผู้เยี่ยมเยือน และรายได้จากผู้เยี่ยมเยือนขยายตัวร้อยละ 63.0 และ 114.4 ต่อปี ตามลำดับ

ท่องเที่ยวหนุนเศรษฐกิจภูมิภาค ดันภาค “กลาง-เหนือ” บริโภคพุ่ง