นายเผ่าภูมิ โรจนสกุล เลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า นโยบายที่รัฐบาลอยากเห็นตลาดหุ้นไทย คือ อยากให้มีสภาพคล่องที่สูง ต้องการเห็นตลาดหลักทรัพย์ที่มีเสถียรภาพ และต้องการเห็นตลาดหลักทรัพย์มีการซื้อขายทั้งปริมาณ และคุณภาพ รวมทั้งต้องการเห็นตลาดหลักทรัพย์ไทยมีความน่าดึงดูดต่อนักลงทุนที่จะมาลงทุนในตลาดหลักทรัพย์ไทย และดึงดูดต่อนักลงทุนที่จะมาจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ด้วย
ทั้งนี้ การที่จะให้นักลงทุนเข้ามาลงทุนในตลาดหลักทรัพย์ไทย ในส่วนนี้ตลท.ต้องมีความน่าสนใจ มีความสามารถในการแข่งขัน มีกฎระเบียบที่ผ่อนปรน เอื้อต่อการลงทุน ขณะเดียวกัน ต้องการเห็นตลาดหลักทรัพย์ดึงดูดต่อการมาจดทะเบียนของบริษัทต่างๆ ในระดับโลก ตลาดหลักทรัพย์ไทยมีความสามารถในการแข่งขันได้ และเป็นระดับสากล อยากเห็นตลาดหลักทรัพย์ไทย มีต้นทุนในการระดมทุนที่ต่ำ อยู่ในระดับที่แข่งขันได้ เพราะทำให้บริษัทมีต้นทุนทางการเงินที่ต่ำ ซึ่งหมายถึงการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ และเป็นการจ้างงาน และเป็นขนาดเศรษฐกิจที่ใหญ่ขึ้น
สำหรับการที่มุ่งสิ่งเหล่านี้ กระทรวงการคลังจำเป็นต้องดำเนินโนยบายเกี่ยวกับตลาดหลักทรัพย์ที่เหมาะสม และเอื้อไปสู่เป้าหมายเหล่านั้น และนโยบายที่มีผลต่อตลาดหลักทรัพย์ไทยให้มีการเจริญเติบโต เป็นตลาดหลักทรัพย์ชั้นนำในภูมิภาค คือ นโยบายด้านภาษี
ทั้งนี้ กระทรวงการคลัง ยืนยัน เพื่อสร้างความมั่นใจของบริษัทจดทะเบียน ตลาดทุน และนักลงทุน กระทรวงการคลังยังไม่มีนโยบายพิจารณาเก็บภาษีเกี่ยวกับธุรกรรมในการขายหุ้น และยังไม่มีนโยบายพิจารณาภาษีกำไรที่เกิดการการขายหุ้น
“จากการประกาศนโยบายดังกล่าว เชื่อว่าจะทำให้ตลาดหุ้นไทยมีความสบายใจ มีเสถียรภาพ และมีความสามารถในการวางแผนการลงทุนในระยะยาว เรามีนโยบายเหล่านี้ เพราะต้องการให้ตลาดหลักทรัพย์เติบโต เป็นตัวแทนภูมิภาค และอยากเห็นตลาดหลักทรัพย์เป็นอิฐก้อนแรกของระบบเศรษฐกิจประเทศไทย ที่ระบบเศรษฐกิจที่ขับเคลื่อนโดยภาคเอกชน ให้สามารถเติบโตขึ้นไปได้”
ทั้งนี้ ส่วนกรณีที่มีประเด็นคำถามว่าหากไม่มีภาษีธุรกรรมที่เกิดจากากรขายหุ้น จะทำให้รายได้ภาครัฐหรือไม่ หรือจะมีการขาดดุลงบประมาณมาชดเชยสิ่งเหล่านี้หรือไม่ ขอเรียนว่า แผนการคลังระยะปานกลาง ยังไม่มีการพิจารณา รวมถึงผลกระทบที่มีนัยสำคัญของนโยบายการกระตุ้นเศรษฐกิจ ผ่านดิจิทัล วอลเล็ท และหากมีนโยบายเข้าสู่ระบบ หมายความว่า มีเม็ดเงิน 5.6 แสนล้านบาท ลงสู่ระบบเศรษฐกิจ และด้วยกลไกที่ออกแบบ หมายความว่า เงินทุกอย่างจะเป็นรายได้ของรัฐบาลกลับมาในรูปแบบภาษี ทั้งภาษีนิติบุคคล หรือภาษีมูลค่าเพิ่ม ซึ่งจะตอบประเด็นรายได้ภาษีที่จะหายไปจากการไม่มีภาษีหุ้น
นายพรชัย ฐีระเวช ผู้อำนวยการเศรษฐกิจการคลัง กล่าวว่า ยืนยันว่า ประมาณการรายได้รัฐบาลสุทธิ งบประมาณรายจ่าย ภายใต้แผนการคลังระยะปานกลาง ยังเป็นตัวเลขเดิม โดยประมาณการรายได้รัฐบาลสุทธิ งบประมาณรายจ่าย และขาดดุลการคลังของปีงบประมาณ 2567 ภายใต้ MTFF 2567 - 2570 ฉบับทบทวน เท่ากับ 2,787,000 ล้านบาท 3,480,000 ล้านบาท และ 693,000 ล้านบาท ตามที่คณะรัฐมนตรีได้ให้ความเห็นชอบเมื่อวันที่ 13 กันยายน 2566
ขณะเดียวกัน สำนักงบประมาณนำตัวเลขงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2567 ตาม MTFF 2567 - 2570 ฉบับทบทวน มาดำเนินการตามขั้นตอนของการจัดทำงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2567 ซึ่งคณะรัฐมนตรีได้ให้ความเห็นชอบเมื่อวันที่ 18 กันยายน 2566 และกระทรวงการคลังได้วางแผนการบริหารจัดเก็บรายได้ของรัฐบาลเพื่อให้การจัดเก็บรายได้เป็นไปตามที่ประมาณการไว้โดยให้ความสำคัญกับการเพิ่มประสิทธิภาพการจัดเก็บรายได้เป็นหลัก
เนื่องจากที่ผ่านมาหน่วยงานจัดเก็บรายได้ในสังกัดกระทรวงการคลังได้มีการพัฒนาระบบต่าง ๆ ขึ้นมาเพื่อเพิ่มศักยภาพในการจัดเก็บรายได้อย่างต่อเนื่อง มีการใช้เทคโนโลยีในการติดตามและตรวจสอบการจัดเก็บภาษีเพื่อขยายฐานภาษี ทำให้การวางแผนการจัดเก็บเป้ารายได้ของปีงบประมาณ 2567 จะสามารถเป็นไปตามประมาณการที่ตั้งไว้
อีกทั้งมาตรการต่าง ๆ ของรัฐบาลในปีงบประมาณ 2567 ก็จะช่วยสนับสนุนให้เกิดการหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจและส่งเสริมให้เศรษฐกิจมีการเติบโต ซึ่งจะส่งผลให้ภาครัฐสามารถจัดเก็บรายได้ได้ตามการขยายตัวของเศรษฐกิจที่มากขึ้นด้วย โดยยังไม่มีการนำนโยบายภาษีเข้ามาเกี่ยวข้องในทางปฏิบัติ