ปลัดมหาดไทยสั่งช่วยผู้ประสบภัยน้ำท่วม เร่งให้ความรู้ ป้องกันจุดเสี่ยง

01 ต.ค. 2566 | 13:41 น.
อัพเดตล่าสุด :01 ต.ค. 2566 | 13:42 น.

ปลัดมหาไทย ขานรับนโยบายนายกฯ สั่งช่วยผู้ประสบภัยน้ำท่วม ให้อำนาจผู้ว่าราชการ-นายอำเภออกคำสั่งเด็ดขาด ป้องกันความเสี่ยง เร่งให้ความรู้ ประชาสัมพันธ์จุดเสี่ยงให้ประชาชนทราบ

นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย เปิดเผยว่า จากสถานการณ์อุทกภัยที่พี่น้องประชาชนในหลายจังหวัดกำลังประสบอยู่ในขณะนี้ นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง และนายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ได้สั่งการเน้นย้ำและกำชับแนวทางการบริหารจัดการสถานการณ์เพิ่มเติมจากแนวทางที่ทุกจังหวัด อำเภอถือปฏิบัติกันอยู่แล้ว คือ เรื่องของความรวดเร็ว ในการที่จะลงไปช่วยเหลือพี่น้องประชาชน ทั้งก่อนเกิดภัย ระหว่างเกิดภัย และหลังเกิดภัย

โดยที่สำคัญที่สุดก็คือ ทางผู้นำหน่วยในพื้นที่ อันประกอบไปด้วย ผู้ว่าราชการจังหวัด รองผู้ว่าราชการจังหวัด ปลัดจังหวัด และนายอำเภอ จะต้องมีการดูแล บูรณาการเข้าไปบำบัดทุกข์ บำรุงสุข ให้กับพี่น้องประชาชน ตามมาตรการที่ได้ซักซ้อมกันอย่างต่อเนื่อง

ทั้งนี้ เรื่องใหญ่คือ ต้องประชาสัมพันธ์ข้อมูลข่าวสารให้พี่น้องประชาชนได้รับรู้รับทราบถึงสถานการณ์ของน้ำ ทั้งน้ำจากฟากฟ้า คือ ฝนตก และน้ำจากต้นทางของแม่น้ำลำคลอง ลำห้วย คือ จากเทือกเขา รวมถึงอ่างเก็บน้ำขนาดเล็กที่มีปริมาณความจุน้ำน้อยที่ต้องเฝ้าระวังเป็นพิเศษ

ซึ่งจะใช้กลไกมิสเตอร์เตือนภัย จิตอาสา กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน อาสาสมัครป้องกันภัยฝ่ายพลเรือน (อปพร.) ช่วยกันสอดส่อง สังเกต ดูแล และคอยเตือนภัย แจ้งเตือน (warning) เพื่อที่จะรับทราบสถานการณ์การเปลี่ยนแปลงไปของสถานการณ์น้ำ

โดยเฉพาะอย่างยิ่งพี่น้องประชาชนที่พักอาศัยอยู่ในจุดเสี่ยงภัย เช่น บริเวณตีนเขาที่มีโอกาสเสี่ยงที่จะเกิดดินสไลด์ หรือเป็นเส้นทางที่อยู่น้ำไหลหลาก เพราะตอนนี้สถานการณ์ของทางภาคเหนือส่วนใหญ่จะเป็นน้ำไหลหลาก เนื่องจากสภาพภูมิประเทศเป็นที่สูง และมีสิ่งกีดขวางทางน้ำ

ทั้งนี้ หากประเมินแล้วว่าจะเกิดเหตุ แต่ยังไม่ได้รับความร่วมมือจากประชาชน ผู้ว่าราชการจังหวัด นายอำเภอ ก็จำเป็นต้องใช้อำนาจตามกฎหมายในฐานะผู้อำนวยการกองอำนวยการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัด/อำเภอ อย่างจริงจัง ต้องออกคำสั่งให้เด็ดขาด เพื่อป้องกันความเสี่ยงไม่ให้เกิดขึ้น

“ป้องกันไม่ให้เกิดการสูญเสียชีวิตและทรัพย์สินของประชาชน รวมทั้งการสร้างเครือข่ายขยายผลฐานความรู้ หรือฐานข้อมูลเกี่ยวกับแหล่งน้ำ เกี่ยวกับจุดเสี่ยงภัย เกี่ยวกับช่องทางการสื่อสารที่จะเฝ้าระวังติดตามน้ำ นำข้อมูลข่าวสารจากการเฝ้าระวังติดตามน้ำไปสู่พี่น้องประชาชนอย่างเต็มกำลัง”