"World bank"หั่นจีดีพีไทยปี66เหลือ 3.4%ห่วงหนี้ครัวเรือนสูงสุดภูมิภาค

02 ต.ค. 2566 | 03:48 น.
อัปเดตล่าสุด :02 ต.ค. 2566 | 03:49 น.

"World bank"หั่นจีดีพีไทยปี66เหลือ 3.4%ห่วงหนี้ครัวเรือนสูงสุดภูมิภาค ชี้การฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยยังคงตามหลังประเทศในกลุ่มอาเซียน และการส่งออกที่ลดลงเป็นความท้าทายที่เพิ่มขึ้น

ธนาคารโลก หรือเวิลด์แบงก์ (World bank) ออกรายงานอัพเดตสภาวะเศรษฐกิจในเอเชียตะวันออกและแปซิฟิกฉบับล่าสุดวันที่ 2 ต.ค. โดยได้มีการปรับลดคาดการณ์การเติบโตทางเศรษฐกิจ หรือจีดีพี (GDP) ของไทยในปี 2566 ลดลงเหลือ 3.4% จากคาดการณ์เดิมในเดือน เม.ย.ที่ 3.6% 

อีกทั้งยังลดคาดการณ์จีดีพีของปี 67 เหลือ 3.5% จากเดิมที่ 3.7% โดยระบุว่าการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยยังคงตามหลังประเทศในกลุ่มอาเซียน และการส่งออกที่ลดลงเป็นความท้าทายที่เพิ่มขึ้น

ทั้งนี้ อัตราการเติบโตดังกล่าวถือเป็นตัวเลขที่เกือบต่ำที่สุดในภูมิภาคเอเชียตะวันออก (ไม่รวมแปซิฟิก) เป็นรองเพียงแค่เมียนมาร์ที่เติบโตได้ 3% เท่านั้น แม้คาดว่าจีดีพีของไทยในปี 67 จะโตขึ้นได้เพียงเล็กน้อย แต่ก็ยังเติบโตได้เมื่อเทียบกับหลายประเทศที่คาดว่าจะเติบโตลดลง โดยเฉพาะจีนที่คาดว่าจะเติบโต 5.1% ในปีนี้ ก่อนจะชะลอตัวลง 4.4% ในปีหน้า

ตัวเลขดังกล่าวเป็นไปตามทิศทางภูมิภาค ซึ่งเวิลด์แบงก์ได้ปรับลดคาดการณ์จีดีพีของเอเชียตะวันออกและแปซิฟิกปีนี้ลงมาอยู่ที่ 5% จากคาดการณ์เดิมที่ 5.1% ส่วนในปีหน้าจะเติบโตได้ 4.5% จากคาดการณ์เดิม 4.8%

อย่างไรก็ดี เวิลด์แบงก์ได้สรุปถึงประเทศไทยว่า การฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยยังคงตามหลังประเทศในกลุ่มอาเซียน และการส่งออกที่ลดลงเป็นความท้าทายที่เพิ่มขึ้น โดยในปี 66 การบริโภคภาคเอกชนและการฟื้นตัวอย่างค่อยเป็นค่อยไปของการท่องเที่ยว จะช่วยให้การเติบโตทางเศรษฐกิจขยายตัวขึ้นและลดความยากจนลง 

ขณะที่อัตราเงินเฟ้อที่ลดลงและการอุดหนุนด้านพลังงานจะช่วยลดแรงกดดันต่อค่าครองชีพและการบริโภคภาคเอกชน

อย่างไรก็ตาม การบริโภคภาคเอกชนก็จะทำให้การรัดเข็มขัดทางการคลังล่าช้าออกไปด้วย ขณะที่หนี้ครัวเรือนที่สูงขึ้น ผลกระทบจากสภาพอากาศ และความตึงเครียดทางภูมิรัฐศาสตร์ ก่อให้เกิดความเสี่ยงด้านลบต่อแนวโน้มเศรษฐกิจไทยเช่นกัน
 

นายอาดิตยา แมตทู หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ประจำภูมิภาคเอเชียตะวันออกและแปซิฟิกของธนาคารโลก กล่าวถึงตัวเลขหนี้สาธารณะที่มีแนวโน้มจะเพิ่มสูงขึ้นว่า หนี้สาธารณะของไทยที่ปัจจุบันเพิ่มมาอยู่ในระดับประมาณ 60% ของจีดีพี ยังไม่ถือว่าเป็นระดับที่สุ่มเสี่ยงหรือเป็นปัญหา แต่ที่น่ากังวลกว่าก็คือ หนี้ภาคครัวเรือนที่สูงประมาณ 80% ของจีดีพี ซึ่งสูงที่สุดในภูมิภาค และน่าเป็นห่วงมากกว่าหนี้ของภาครัฐ

ในระยะกลาง ประเทศไทยจะเผชิญกับความท้าทายเชิงโครงสร้างที่จำกัดศักยภาพในการเติบโต อุปสรรคเหล่านี้ ได้แก่ สังคมผู้สูงอายุ การเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศ การสะสมเงินลงทุนไม่เพียงพอ การแข่งขันด้านการส่งออกที่มีศักยภาพลดลง และหนี้ครัวเรือนจำนวนมาก ขณะที่ความตึงเครียดทางการเงินจากภาวะหนี้ล้นมือและผลกระทบจากสภาพภูมิอากาศที่ส่งผลต่อครัวเรือนรายได้น้อยและครัวเรือนที่เปราะบาง ยังคงเป็นอุปสรรคสำคัญในการบรรลุการลดความยากจน